Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ETDA–สภาองค์กรของผู้บริโภค ผนึกกำลัง เร่งเครื่องแคมเปญ “DPS Trust Every Click” อุดช่องโหว่สินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย-ไร้มาตรฐาน

78



สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 พฤษภาคม 2568)---------สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือ สภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) พร้อมด้วย ธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ประเดิมแคมเปญ “DPS Trust Every Click ใต้แนวคิด ‘รวมพลังต้านภัยสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย-ไร้มาตรฐาน’ เปิดพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ข้อเสนอแนะ สร้างกลไกความร่วมมือ สกัดสินค้าผิดกฎหมาย ไร้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเผยสถานการณ์ปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ที่เพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ยา และเวชภัณฑ์ พร้อมเสนอทางออกเชิงรุก ‘ยกระดับมาตรฐานแพลตฟอร์ม-บังคับใช้กฎหมายจริงจัง-เสริมความรู้ผู้บริโภค-ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกลาง เพื่อจัดการปัญหาอย่างมีระบบ’

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ETDA พร้อมด้วย สภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) ประเดิมแคมเปญ ‘DPS Trust Every Click’ ไปกับกิจกรรมภายใต้แนวคิด ‘รวมพลังต้านภัยสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย–ไร้มาตรฐาน’ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ปัญหาเชิงระบบ และเสนอแนวทางป้องกัน–แก้ไขปัญหาการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นบทบาทสำคัญของ 3 กลไกหลัก ได้แก่ ภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล ภาคประชาสังคมในฐานะผู้เฝ้าระวัง และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในฐานะผู้ควบคุมช่องทางซื้อขาย นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนนโยบาย แนวปฏิบัติ และการจัดทำมาตรฐานกลาง เพื่อผลักดันให้เกิด “ระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย” ลดช่องโหว่จากสินค้าหลอกลวง และสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจบนโลกออนไลน์ พร้อมร่วมสร้างกลไกการกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulation) ผ่านเครื่องมือสำคัญอย่าง 4 คู่มือภายใต้กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่วันนี้พร้อมให้ทุกภาคส่วนได้นำไปประยุกต์ใช้งานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ คู่มือการดูแลโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มดิจิทัล คู่มือการดูแลการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานบนแพลตฟอร์ม และ ขมธอ. 32-2565 ว่าด้วยการรวบรวม กลั่นกรอง และเผยแพร่รีวิวของผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์ เป็นต้น

ในงานนี้ นอกจากกิจกรรมระดมความคิดเห็นสุดเข้มข้นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้มาร่วมสะท้อนปัญหา แนวทางการป้องกันและการแก้ไขปัญหาสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย ไร้มาตรฐานแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากนั่นก็คือ การเสวนาในหัวข้อ “พื้นที่ออนไลน์ปลอดภัย ภูมิคุ้มกันใหญ่ที่ต้องร่วมสร้าง” จากเหล่าผู้แทนของหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งในวงเสวนาได้ร่วมแสดงมุมมองถึงประเด็นสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย ไร้มาตรฐานว่า ปัญหาหลัก คือ “ช่องว่าง” ของระบบคัดกรองสินค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ทำให้สินค้าผิดกฎหมายสามารถกลับเข้ามาจำหน่ายซ้ำได้ แม้จะเคยถูกแจ้งเตือนหรือระงับบัญชีไปแล้ว ขณะเดียวกันยังพบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือขาดมาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ซึ่งแพร่กระจายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในลักษณะที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและรวดเร็ว จึงมีข้อเสนอให้แพลตฟอร์มทำงานเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ร่วมกับการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนสินค้ากับหน่วยงานรัฐแบบอัตโนมัติ (API/Database Integration) เพื่อลดภาระการตรวจสอบซ้ำ และป้องกันการนำสินค้าหรือบัญชีที่มีประวัติปัญหากลับมาใช้งานซ้ำ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคในยุค Quick Commerce ที่นิยมสั่งซื้อผ่านบริการจัดส่งด่วน ได้สร้างความท้าทายในการกำกับดูแล ทั้งเรื่องความเร็วของธุรกรรมและความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทาน จึงจำเป็นต้องมีแนวทางดูแลที่อิงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมี “แนวทางกลาง” ที่ใช้ได้จริงในทุกภาคส่วน ทั้งกฎหมาย แนวปฏิบัติ คู่มือ และเครื่องมือเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสร้างระบบแจ้งเตือน การจัดการผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และกลไกร้องเรียนที่เข้าถึงง่าย โปร่งใส และนำไปสู่การดำเนินการจริง

อย่างไรก็ตาม ภายในวงเสวนายังได้ร่วมเสนอ 4 กลไกสำคัญ ได้แก่ มาตรฐานแพลตฟอร์ม ซึ่งเสนอให้มีการลงทะเบียนแพลตฟอร์มและผู้ขาย พร้อมสร้างระบบตรวจสอบแหล่งที่มาและความถูกต้องของข้อมูลบนแพลตฟอร์มอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการควบคุมการแสดงข้อมูลเท็จ การละเมิดลิขสิทธิ์ และการแสดงสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค การบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเชิงรุกกับแพลตฟอร์มต่างชาติที่ไม่มีสำนักงานในไทย การลงทะเบียนระบบขนส่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้าต้องห้าม การเข้มงวดกับการโฆษณาเกินจริง และการจัดให้มีระบบยืนยันตัวตนของผู้ค้าอย่างโปร่งใส การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความรู้เท่าทัน “Consumer Literacy” ให้สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขาย รายละเอียดและราคาสินค้าอย่างมีวิจารณญาณ ลดโอกาสในการถูกหลอกลวงและสื่อสารเชิงรุกให้ผู้บริโภคทราบช่องทางร้องเรียนที่ชัดเจน เช่น สายด่วน อย.โทร 1556, ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 ETDA และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเสริมให้การร้องเรียนของผู้บริโภคถูกนำไปใช้ในการกำหนดมาตรการป้องกันเชิงระบบ และ เพิ่มกลไกความมั่นใจหลังการขาย ที่แพลตฟอร์มดิจิทัลให้ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 7–14 วัน พร้อมเสริมด้วยระบบรีวิว และระบบรายงานปัญหา ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตในประเทศ และ SME ที่ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้แคมเปญ “DPS Trust Every Click” ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2568 นี้ โดย ETDA หวังว่าเวทีนี้จะเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนมาร่วมสร้างมาตรฐานการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้ Ecosystem ที่ทุกคนมั่นใจและปลอดภัย ที่สำคัญวางใจได้ในทุก ‘คลิก’ ของการทำธุรกรรมออนไลน์ - ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวแคมเปญนี้ได้ที่ เพจ ETDA Thailland

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

เฟด คงดอกเบี้ย By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย พัก แบบปรับฐาน ในเช้าวันนี้ หลังจากวานนี้ ดัชนฯพุ่งแรง ประกอบกับ เฟด ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้