Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย Moody’s ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตไทยเป็น Negative ผลกระทบกับค่าเงิน และผลตอบแทนตราสารหนี้

125


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(30 เมษายน 2568)--------• 29 เมษายน 2568 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Ratings ปรับลดมุมมองแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับรัฐบาลไทยจาก “Stable” มาที่ “Negative” แม้ว่าจะยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับเดิม โดยอันดับเครดิตสำหรับ Issuer และ Local Currency Senior Unsecured Ratings ของรัฐบาลไทยยังคงอยู่ที่ระดับ Baa1 เช่นเดียวกับ Foreign Currency Commercial Paper Rating ที่ยังคงอยู่ที่ระดับ P-2


• Moody’s Ratings กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับเครดิตลงเป็น Negative รอบนี้ มาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีผลทำให้สถานะทางการคลังอ่อนแอลง โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก และมีผลกระทบตามมายังเศรษฐกิจไทยอันเป็นเศรษฐกิจเปิด และมีการฟื้นตัวที่เปราะบางตั้งแต่หลังช่วงโควิด-19

 

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตในรอบนี้ ต่างจากการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative ในรอบก่อน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ในช่วงของวิกฤต Subprime อยู่ 2 จุด คือ


o เศรษฐกิจไทยในปี 2551-2552 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก ซึ่งหลังจากวิกฤต Subprime คลี่คลายลง (หรือประมาณ 22 เดือนหลังจากนั้น) Moody’s ก็ปรับแนวโน้มกลับมาที่ Stable ในเดือนตุลาคม 2553


o ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแม้ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังซึ่งทำให้ยอดขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับหนี้สาธารณะของไทยก็ยังคงอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้นประมาณ 4.3% จาก 35.0% ของจีดีพี ณ กันยายน 2551 มาที่ 39.3% ของจีดีพี ณ ตุลาคม 2553


แต่ในรอบนี้ คงต้องมองย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2563 ที่แนวโน้มอันดับเครดิตของไทยเริ่มปรับลดลงจาก Positive มาที่ Stable ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 ก่อนที่จะตามมาด้วยรอบล่าสุด (28 เมษายน 2568) ที่มีการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตลงต่อมาที่ Negative โดยเพิ่มเติมปัจจัยลบทางเศรษฐกิจจากการเปิดเกมปรับขึ้นภาษีนำเข้าของ ปธน.ทรัมป์ และความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ภาพจังหวะที่ไทยถูกจับตาเป็นพิเศษจนมีการทบทวนแนวโน้มของอันดับเครดิตลงต่อเนื่อง จาก Positive (ก.ค. 2562) เป็น Stable (เม.ย. 2563) จนมาเป็น Negative (เม.ย. 2568) ใช้ระยะเวลาเกือบ 6 ปี อันย้ำถึงปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลากยาวขึ้นกว่าเดิม และมีเงื่อนไขซ้ำเติม คือ ตัวช่วยทางการคลังมีสัญญาณที่จำกัดมากขึ้นกว่ารอบก่อน จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ขยับขึ้นแตะระดับ 64.2% ต่อจีดีพี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568

 

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ อาจทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยตามมาด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในระหว่างนี้ไทยอาจยังมีเวลาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี (ตามรอบของการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอดีต) เพื่อวางแนวทางรับมือผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยเฉพาะหน้าจากประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของเศรษฐกิจไทย ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และสถานะทางการคลัง


• ตลาดการเงินไทยตอบรับข่าวการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือมาเป็น Negative ในรอบนี้ ค่อนข้างจำกัด เพราะปัจจัยอื่นมีผลมากกว่า อาทิ ทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ที่โดนกระทบจากเรื่องสงครามการค้า และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ซึ่งสลับมาอยู่ในฝั่งไหลเข้าสุทธิรับมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.25% มาที่ 1.75% ในการประชุม กนง. 30 เมษายน 2568


ณ 16.43 น. เงินบาทอยู่ที่ 33.38-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ใกล้เคียงระดับปิดที่ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ของวันทำการก่อนหน้า) ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 2.23% มาที่ 1,197.26 จุด ขณะที่ ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ทรงตัวที่ 1.88-1.89%


• อย่างไรก็ตาม หากมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ ปรับทบทวนมุมมองที่มีต่อแนวโน้ม (หรือปรับอันดับเครดิต) ตามมาในอนาคตอันใกล้ ผลกระทบอาจทยอยชัดเจนขึ้น เพราะประเด็นนี้อาจนับเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ย้ำกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางลงมาก โดยทิศทางผลกระทบที่เป็นไปได้คือ


o ปัจจัยนี้ตามลำพังอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก แต่ประสบการณ์จากการปรับมุมมองหรือทบทวนอันดับเครดิตรอบก่อนๆ สะท้อนว่า ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อทิศทางเงินบาทมากกว่า โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยนโยบาย และสถานการณ์ของค่าเงินดอลลาร์ฯ (รูปที่ 1) ดังนั้น คาดว่า เงินบาทในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบค่อนข้างกว้างในช่วงประมาณ 33.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างที่ตลาดรอประเมินภาพที่ชัดเจนของสถานการณ์สงครามการค้า รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและดอกเบี้ยของไทย


o อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อาจไม่ได้รับอานิสงส์ของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเต็มที่ แม้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 30 เมษายน 2568 และมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในระยะที่เหลือของปี ก็ตาม


o Credit Spread สำหรับหุ้นกู้เอกชน มีโอกาสแพงขึ้น ดังที่ปรากฏขึ้นแล้วในกลุ่มอันดับ BBB (รูปที่ 2) ท่ามกลางภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย อยู่ในภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) ซึ่งส่งผลกระทบตามมาต่อความสำเร็จในการระดมทุนด้วยหุ้นกู้ ให้มีโอกาสได้เม็ดเงินระดมทุนตามที่คาดหวังไว้นั้น ลดลงเช่นกัน

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ปลุกหุ้นใหญ่ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้