สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(18 กันยายน 2567)-------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปัจจัยหนุนอันดับเครดิต: อันดับเครดิตของ SME Bank อ้างอิงจากสมมติฐานของฟิทช์ว่ารัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มมีเสถียรภาพ) จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ธนาคารในกรณีที่จำเป็น โดยพิจารณาจากบทบาทการเป็นธนาคารรัฐที่สำคัญมาอย่างยาวนาน และกระทรวงการคลังไทยถือหุ้นเกือบทั้งหมด และมีอำนาจควบคุมธนาคาร อันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศของธนาคารอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นในประเทศ
มีบทบาทในเชิงนโยบายที่สำคัญต่อรัฐบาล: SME Bank ก่อตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายเฉพาะเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่อาจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ได้ ฟิทช์เชื่อว่าการให้การสนับสนุนสำหรับกลุ่มนี้ยังคงเป็นนโยบายที่สำคัญสำหรับรัฐบาล ทั้งนี้ การประสานงานอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลยังสะท้อนให้เห็นได้จากบัญชี 'ธุรกรรมนโยบายรัฐ' ของธนาคารซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและได้รับการชดเชยทางการเงินจากรัฐบาล โดยบัญชีเหล่านี้คิดเป็นประมาณ 34% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566
มีความเชื่อมโยงและการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาล: ฟิทช์เชื่อว่าการถือหุ้น 99.4% ของกระทรวงการคลังใน SME Bank เป็นการถือหุ้นเชิงกลยุทธ์และระยะยาว และช่วยให้รัฐบาลสามารถดูแลธนาคารอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการธนาคารได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลซึ่งรวมถึงกรรมการจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม ฟิทช์คาดว่าทิศทางเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงานของธนาคารจะยังคงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
การตั้งสำรองจะยังกดดันผลประกอบการ: ผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2566 ค่อนข้างทรงตัว โดยมีกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 0.75% (ปี 2565: 0.70%) ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพจะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะอันใกล้นี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันผลประกอบการของธนาคารในปี 2567 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัตถุประสงค์เชิงนโยบายของธนาคารนั้นบ่งชี้ถึงบทบาทของธนาคารที่ต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ ฟิทช์คาดว่าความกดดันด้านผลประกอบการในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อโอกาสของรัฐบาลในการสนับสนุน SME Bank
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของ SME Bank อาจถูกปรับลดอันดับเครดิตลงหากโอกาสของรัฐบาลในการสนับสนุนธนาคารปรับตัวลดลง ซึ่งอาจแสดงให้เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารจากการเป็นธนาคารรัฐ การลดบทบาทในการสนับสนุนนโยบายรัฐ หรือการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
การลดลงของความสามารถในการให้การสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งอาจสะท้อนจากการลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่าธนาคารรัฐที่สำคัญมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากกว่าหน่วยงานอื่นๆในประเทศ ดังนั้นโครงสร้างอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารจึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SME Bank ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารเป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุดแล้ว
แหล่งที่มาของข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
แหล่งที่มาของข้อมูลหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นไปตามรายละเอียดที่อธิบายไว้ในเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้องของฟิทช์
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SME Bank มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างอันดับเครดิตของประเทศไทย