ประเด็นสำคัญ
•คาดเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ระดับ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือนอย่างต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 30-31 กรกฏาคม 2556 นี้
•แม้ว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับในช่วงใกล้สิ้นสุดสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 2 (QE 2) แต่ความไม่แน่นอนด้านการคลังที่ยังคงรออยู่ข้างหน้า อาจมีน้ำหนักสนับสนุนให้เฟดรอดูพัฒนาการเศรษฐกิจต่ออีกระยะ ก่อนเปลี่ยนแปลงขนาดการซื้อสินทรัพย์
•ขณะที่ พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า คงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เฟดจะพิจารณาสำหรับจังหวะในการปรับเปลี่ยนขนาดการซื้อพันธบัตรเพื่อสร้างสมดุลของเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ การตัดสินใจปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรของเฟดไม่ได้หมายความว่าเฟดจะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในภาพรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุม ณ วันที่ 30-31 กรกฏาคม 2556 นี้ คงจะเป็นอีกรอบที่ตลาดการเงินคงจะจับตาการตัดสินใจของเฟดอย่างใกล้ชิด โดยเฟดคงจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ต้องประเมินภาพรวมการดำเนินนโยบายการเงินด้วยความระมัดระวัง ระหว่างต้นทุนส่วนเพิ่มและประโยชน์ในการคงขนาดการการซื้อสินทรัพย์ในระดับปัจจุบัน กระนั้นก็ดี คาดว่าเฟดน่าจะยังคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน โดยแม้ว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพรวมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ท่ามกลางความเสี่ยงด้านการคลังของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ และอาจจะกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า ก็อาจส่งผลให้เฟดเลือกที่จะยังติดตามพัฒนาการของของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องอีกสักระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีเสถียรภาพ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนขนาดและทิศทางของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ความไม่แน่นอนด้านการคลังยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แม้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป โดยหากพิจารณาสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบันกับเมื่อช่วงที่เฟดใกล้จะสิ้นสุดการดำเนินมาตรการ QE 2 ในช่วงกลางปี 2554 จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีก่อนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็น 2 ภาคหลักที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤติซับไพรม์ ทั้งนี้ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการส่งสัญญาณจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ส่งผลให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะเริ่มทยอยปรับลดขนาดของการซื้อสินทรัพย์ในช่วงปลายปีนี้
เปรียบเทียบปัจจัยเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในช่วงที่เฟดสิ้นสุด QE2 และปัจจุบัน
เครื่องชี้เศรษฐกิจ ช่วงสิ้นสุด QE2(ไตรมาส 2/54) ปัจจุบัน
การจ้างงานนอกภาคการเกษตร
(เฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือน) 116,583 ตำแหน่ง 191,083 ตำแหน่ง
อัตราการว่างงาน 9.1% 7.6%
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) 1.43% 1.06%
ยอดการสร้างบ้านใหม่ (Housing Start) 608,000 หลัง/เดือน 836,000 หลัง/เดือน
ยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) 4,190,000 หลัง/เดือน 5,080,000 หลัง/เดือน
การเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย -4.39 % YoY 12.05 % YoY
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี 3.16% 2.49%
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค 57.6 81.4
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะดูมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ความเสี่ยงด้านการคลังก็ยังคงเป็นประเด็นที่อาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคของสหรัฐฯ ยังคงมีจุดยืนทางนโยบายการคลังที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับร่าง พรบ. งบประมาณปี 2014 ที่พรรครีพับลิกันซึ่งคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ต้องการให้รัฐบาลปรับลดรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อแลกกับการอนุมัติขยายเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ทั้งนี้ หากการเจรจาดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ ก็อาจจะสร้างความเสี่ยงให้การดำเนินงานบางส่วนของรัฐบาลกลางอาจจะต้องปิดตัวลง (Federal Government Shutdown) ในช่วงเดือน ต.ค. นี้ อันเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2014 ของสหรัฐฯ และอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการจ้างงาน การบริโภคภาคครัวเรือนและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในท้ายที่สุด นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนด้านการคลังดังกล่าว อาจจะกดดันให้ภาคธุรกิจมีการเลื่อนการตัดสินใจขยายการลงทุนและการจ้างงาน อันอาจจะส่งผลกระทบกลับมาที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าได้
หลังจากที่เฟดเริ่มมีการส่งสัญญาณถึงการปรับเปลี่ยนขนาดการซื้อสินทรัพย์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จากพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้ส่งผลต่อการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของเฟด ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในการแถลงข้อมูลประจำปีของเฟดต่อสภาคองเกรสในวันที่ 17-18 ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานเฟดได้มีการระบุว่า เฟดไม่ได้มีการกำหนดตายตัวเกี่ยวกับจังหวะเวลาในการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ แต่การตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินคงจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่น่าจะทรงตัวต่ำกว่าระดับ 2% อันเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะยาวของเฟด ยังคงช่วยให้เฟดยังมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางแนวทางการปรับลดรายจ่ายโดยอัตโนมัติที่ยังคงเป็นความเสี่ยงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรอยต่อสำคัญที่สภาคองเกรสกำลังพิจาณาร่าง พรบ. งบประมาณประจำปี 2014 รวมทั้งประเด็นหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันสูงเกินเพดานหนี้ไปแล้ว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดน่าจะคงขนาดของการซื้อสินทรัพย์ที่ 85 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือนในการประชุม FOMC ในครั้งนี้ เพื่อรอดูความชัดเจนด้านการคลัง ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนขนาดการซื้อสินทรัพย์ในระยะต่อไป หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรักษาการขยายตัวของตำแหน่งงานในระดับปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และดูแลไม่ให้ขนาดของงบดุลของเฟด ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราเร่ง จนอาจสร้างความเสี่ยงต่อการบริหารจัดการในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าเฟดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนขนาดของการซื้อสินทรัพย์ในระยะข้างหน้าให้เหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเสถียรภาพในระยะยาว เฟดก็จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ การตัดสินใจปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรของเฟดไม่ได้สะท้อนว่าเฟดจะปรับเปลี่ยนมุมมองและทิศทางต่อการดำเนินนโยบายทางการเงิน อันจะนำไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภคของภาคครัวเรือน การฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ อันคงจะเป็นปัจจัยที่เฟดคงจะพิจารณาอย่างรอบคอบต่อไป
ดังนั้นแล้ว เมื่อย้อนกลับมามองผลกระทบต่อประเทศไทย แม้ว่าเฟดจะตัดสินใจคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ในการประชุมรอบนี้ แต่แน่นอนว่า ทางการไทยคงจะติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตลอดจนเศรษฐกิจแกนหลักอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินโอกาสของการปรับท่าทีและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ดังกล่าว พร้อมวางแนวทางรับมือในระยะข้างหน้า เนื่องจากจะมีผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เสถียรภาพของเงินบาท รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง นอกเหนือไปจากอีกปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อทิศทางนโยบายการเงินไทยไม่น้อยไปกว่ากัน คือ แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยว่าจะอ่อนตัวลงมากกว่าคาดหรือไม่ อย่างไร ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่น่ากังวล
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกร
แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68