ประเด็นสำคัญ
- สภาพคล่องเดือนพ.ค.2556 ผ่อนคลายลงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ซึ่งปรับลดลงมาที่ระดับร้อยละ 88.31 จาก ณ สิ้นเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 88.87 ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ
- ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มองว่า การเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยคงขยายตัวได้ในอัตราที่ระมัดระวังมากขึ้น ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง และน่าจะมีผลให้ความต้องการใช้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน กระนั้นก็ดี ความไม่แน่นอนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะถัดไป คงทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการบริหารจัดการสภาพคล่อง เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศจะไม่ใช่แหล่งระดมเงินทุนหลักของธนาคารพาณิชย์ไทย อีกทั้งสภาพคล่องของธนาคารในองค์รวมยังน่าจะเพียงพอต่อการขยายตัวของธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง (เบื้องต้น) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 เทียบกับสิ้นเดือนเมษายน 2556 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องในระยะถัดไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สภาพคล่องเดือน พ.ค.2556 ผ่อนคลาย...หลังมีการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ สินเชื่อเติบโตชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน
- ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 มีจำนวน 8.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.08 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 8.81 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 (นำโดยการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลัก) หรือเติบโตร้อยละ 12.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนเมษายน 2556 ที่เติบโตได้ร้อยละ 12.47 ทั้งนี้ ยอดเงินให้สินเชื่อในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คาดว่าได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินเชื่อในทุกภาคส่วนทั้งความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการและความต้องการสินเชื่อของรายย่อย อย่างไรก็ดี ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เป็นแรงหนุนหลักของสินเชื่อรายย่อยในช่วงที่ผ่านมา เริ่มสะท้อนภาพที่อ่อนแรงลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีจากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามยอดจองของโครงการรถยนต์คันแรกที่ใกล้เสร็จสิ้น
- ด้านยอดเงินฝาก มีจำนวน 9.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.18 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.51 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 ขณะที่ ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) มีจำนวน 8.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.65 หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ทำให้เมื่อรวมเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมแล้ว พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 10.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.45 แสนล้านบาท จากระดับ 10.29 ล้านล้านบาท ในเดือนก่อนหน้าหรือเติบโตราวร้อยละ 13.23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมนั้นเป็นผลจากการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไว้รองรับการเติบโตของสินเชื่อในอนาคต
- สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนพฤษภาคม 2556 ผ่อนคลายลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดเงินให้สินเชื่อดังสะท้อนให้เห็นผ่าน
- อัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (Gross Loans to Deposits and Borrowings) ที่ปรับลดลงที่ระดับร้อยละ 88.31 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 88.87
- เช่นเดียวกับสินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้าง ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.76 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.49 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบสภาพคล่องด้านเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ (รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ) ขณะที่ เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นและเงินสดปรับลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ระดับ 2.62 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 2.58 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556
แนวโน้มครึ่งหลังของปี 2556: สินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการสภาพคล่อง เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดเงินโลก
เมื่อมองไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจขยายตัวได้ในอัตราที่ระมัดระวังมากขึ้น สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการสินเชื่อของหลายธนาคารในช่วงที่ผ่านมา อันมีสาเหตุหลักมาจากโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลงตามปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์ภายในประเทศที่ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของทางการสิ้นสุดลง ผนวกกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและภูมิภาคอาเซียนที่ส่งสัญญาณการชะลอตัว ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวคงมีผลกระทบต่อความต้องการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในบางภาคส่วน กระนั้นก็ดี ด้วยแรงส่งจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วงท้ายปีงบประมาณ 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปีงบประมาณ 2557 และการลงทุนในโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งน่าจะเริ่มมีการเบิกจ่ายเมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายปี 2556 ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำแล้ว ก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและขับเคลื่อนการเติบโตของสินเชื่อในปี 2556 นี้ ให้สามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับร้อยละ 12.23 ของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การเติบโตของสินเชื่อในอัตราที่ชะลอลงดังกล่าว คงส่งผลให้ความต้องการใช้สภาพคล่องโดยรวมของธนาคารพาณิชย์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2556 ลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะถัดไปที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เดินหน้าลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงปลายปี 2556 ตามกรอบเวลาที่ระบุไว้หลังการประชุมครั้งล่าสุด และยุติมาตรการ QE ในช่วงกลางปี 2557 แล้ว คงทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยแต่ละแห่งเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการสภาพคล่องมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศจะไม่ใช่แหล่งระดมเงินทุนหลักของธนาคารพาณิชย์ไทย อีกทั้งสภาพคล่องของธนาคารในองค์รวมยังน่าจะเพียงพอต่อการขยายตัวของธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อ ท่ามกลางสภาพคล่องส่วนเกินของระบบการเงินไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง ดังสะท้อนได้จากยอดคงค้างพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 3.18 ล้านล้านบาท
ส่วนประเด็นทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คงได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และท่าทีของเฟดในการทยอยลดมาตรการ QE รวมถึงทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยซึ่งผูกโยงกับความต่อเนื่องของการลงทุนจากภาครัฐและการฟื้นตัวของภาคส่งออก เนื่องจากคงจะมีผลเกี่ยวโยงมาถึงการขยายตัวของสินเชื่อ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงความต้องการระดมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68