Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

เวทีความคิด

In Focus: ภัยแล้ง-ราคาอาหารโลกพุ่ง: วิกฤตซ้ำซากที่ซ้ำเติมประชากรโลก

2,874

 
ในปัจจุบันนี้ สภาวการณ์ที่เราต้องเผชิญล้วนแล้วแต่มีความรุนแรงถึงขั้นที่เรียกได้ว่า “วิกฤต" ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเงิน วิกฤตการเมืองและอื่นๆ  แต่วิกฤตที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนโดยตรงก็คือวิกฤตราคาอาหารทั่วโลก

วิกฤตอาหารโลกอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยเดิมๆ แต่ปัจจัยที่เป็นต้นตอดุเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แม้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุเมื่อเดือนก.ค.ว่าสถานการณ์โดยรวมด้านอุปสงค์และอุปทานในปี 2555-2556 ยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ หลังจากที่ความวิตกเกี่ยวกับภาวะขาดแคลนอาหารได้ผ่อนคลายลงนับแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราคาอาหารที่พุ่งสูงได้ก่อให้เกิดการจลาจลและการประท้วงไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายรุนแรงในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายทศวรรษนั้น จึงทำให้สถานการณ์อาหารโลกในปีนี้ออกอาการน่าเป็นห่วง



ภัยพิบัติธรรมชาติที่นับวันทวีความรุนแรง

สภาพอากาศที่แห้งแล้งในสหรัฐดูเหมือนจะมีความรุนแรงสูงสุดในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยรายงานของสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (NOAA) ซึ่งเปิดเผยในช่วงกลางเดือนก.ค.ระบุว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2499 และรายงานของ NOAA ยังเปิดเผยว่าดัชนี้ชี้วัดบ่งชี้ว่าภัยแล้งในปี 2555 มีลักษณะคล้ายกับเหตุภัยแล้งในทศวรรษที่ 1950 ซึ่งแผ่ปกคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างและรุนแรงถึงแม้ว่าจะไม่ยาวนานก็ตาม

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ศูนย์บรรเทาภัยแล้งแห่งชาติของสหรัฐก็เปิดเผยรายงานติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งระบุว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 โดย 2 ใน 3 ของประเทศกำลังเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างรุนแรง โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ณ วันที่ 17 ก.ค. 64% ของพื้นที่ติดต่อกันในสหรัฐกำลังประสบกับภัยแล้งอย่างรุนแรง หลังมีสภาพอากาศแห้งแล้งติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 ขณะเดียวกันรายงานแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ 42% กำลังเผชิญกับภัยแล้งที่ร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่กว่า 80% ของผิวดินมีความแห้งอย่างผิดปกติ

นายทอม วิลแซค รัฐมนตรีเกษตรของสหรัฐกล่าวในงานแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า 78% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดของสหรัฐได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และ 77% ของพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองที่กำลังเติบโตก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ 38% ของข้าวโพดยังถูกจัดอันดับให้มีภาวะการเติบโตที่แย่ถึงแย่มาก ในขณะที่ 30% ของถั่วเหลืองได้รับการจัดอันดับภาวะเติบโตในเกรดเดียวกัน นายวิลแซคระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อผลผลิตและราคา ซึ่งอาจนำไปสู่ราคาอาหารขยับสูงขึ้นในปี 2556

พื้นที่ประสบภัยแล้งขยายวงกว้าง

นับแต่นั้นมาสหรัฐก็ได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายเดือนก.ค. หน่วยข้อมูลภัยแล้งของสหรัฐรายงานว่า พื้นที่กว่า 70% ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐกำลังประสบกับภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรง พร้อมระบุว่า อิลลินอยส์เป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภัยแล้งครั้งนี้ พร้อมทั้งเสริมว่า ภัยแล้งในพื้นที่ตอนกลางของสหรัฐกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีสัญญาณใดๆบ่งบอกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ต่อมาในช่วงต้นเดือนส.ค. กระทรวงเกษตรสหรัฐได้ประกาศรายชื่อเขตพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติเพิ่มอีก 44 เขตใน 12 รัฐ เนื่องจากเกิดความเสียหายและสูญเสียทรัพย์สินจากภาวะแล้งและอุณหภูมิที่พุ่งสูง ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงนี้กินพื้นที่ตั้งแต่แคลิฟอร์เนียและขึ้นเหนือไปยังนิวยอร์กและได้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งรวมถึงข้าวโพด ถั่วเหลือง พืชอาหารสัตว์ และทุ่งหญ้าปศุสัตว์ นับว่าเป็นภัยคุกคามต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรสำหรับสหรัฐซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตธัญพืชและเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังภัยแล้งของสหรัฐว่า 66% ของพื้นที่เพาะปลูกและ 73% ของพื้นที่ปศุสัตว์ในประเทศกำลังอยู่ในภาวะแล้ง และเมื่อกลางเดือนส.ค. กระทรวงเกษตรของสหรัฐ ประกาศเพิ่มพื้นที่ประสบภัยแล้งเบื้องต้นอีก 172 เขต ใน 15 รัฐ เนื่องจากมีความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยแล้งและอากาศที่ร้อนเกินไป

องค์กรระหว่างประเทศร่วมส่งสัญญาณเตือน

ในช่วงเดือนก.ย.นี้ หลายองค์กรได้ออกมาระบุถึงความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตราคาอาหารจากภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก โดยล่าสุดเ องค์การสหประชาชาติ (UN) แนะประเทศทั่วโลกจับตาราคาอาหารโลกต่อไป พร้อมหาแนวทางสกัดไม่ให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นมากจนเกินไป แม้ราคาอาหารโลกยังคงที่ในเดือนส.ค. แถลงการณ์ของ UN มีขึ้นภายหลังองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยดัชนีราคาอหาร (FPI) ประจำเดือนส.ค. ซึ่งระบุว่าราคาอาหารในเดือนส.ค.ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ค.

ในเดือนส.ค. ดัชนี FPI ซึ่งเป็นมาตรวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาตระกร้าอาหาร 55 ชนิดทั่วโลก ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ นม น้ำตาล และธัญพืชนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 213 จุด ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ค. หลังจากที่ดัชนี  FPI ในเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 6% ซึ่ง FAO ระบุว่า ราคาที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตข้าวโพดได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงในสหรัฐ เนื่องจากภัยแล้งที่ยืดเยื้อทำให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นเกือบ 23%

ทางด้านออกซ์แฟม ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ต่อสู้กับความยากจน ได้เตือนว่าราคาผลผลิตที่เป็นอาหารหลักของประชากรอาจจะพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวภายในช่วง 20 ปีข้างหน้าจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของสภาพอากาศ โดยผลการศึกษาวิจัยในนามของออกซ์แฟมระบุว่า ภัยแล้งหรือคลื่นความร้อนที่รุนแรงในช่วงฤดูร้อนของสหรัฐในปีนี้ ส่งผลให้มีการประเมินว่าราคาข้าวโพดในปี 2573 อาจจะพุ่งสูงกว่าในปี 2553 อยู่ถึง 177% และราคาข้าวสาลีจะทะยานขึ้น 120% รายงานระบุอีกว่าผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งรวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นและปริมาณฝนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น จะส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลด้านอาหารเพียง 30-50% เท่านั้น แต่คาดว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายและรุนแรงจะส่งผลกระทบในระยะยาวมากกว่าต่อราคาอาหารหลักของประชากรโลก ออกซ์แฟมระบุว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในสหรัฐในปี 2555 แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายรุนแรงจะส่งผลให้ราคาอาหารผันผวนรุนแรงตามไปด้วย

ส่วนธนาคารโลกเตือนว่าราคาอาหารทั่วโลกพุ่งขึ้น 10% ในช่วงเดือนก.ค. ราคาพืชผลบางประเภทได้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากภัยแล้งที่เกินคาดคิดในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อนจัดในสหรัฐ ขณะที่รายงานเกี่ยวกับราคาอาหารล่าสุดของธนาคารโลกระบุว่า ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ถึงเดือนก.ค. ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีเพิ่มขึ้นประเภทละ 25% และราคาถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 17% ราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงได้สร้างความกังวลแก่ประเทศที่เผชิญกับปัญหาความยากจนอยู่แล้ว โดยในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุด ซึ่งประชาชนใช้จ่ายเงิน 2 ใน 3 ของรายได้ต่อวันไปกับอาหารนั้น ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นคือภัยคุกคามต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพของสังคม

นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกได้แถลงไว้เมื่อปลายเดือนก.ค.ว่า "เมื่อราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก ประชาชนก็จะแก้ไขปัญหาโดยการให้ลูกออกจากโรงเรียนและบริโภคอาหารที่ถูกลง คุณค่าทางโภชนาการน้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านสังคม ร่างกายและจิตใจของเด็กๆหลายล้านคน"

เวทีโลกถกแนวทางที่ยั่งยืน

จากสภาวการณ์สภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรงและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาอาหารในปีนี้ ได้นำไปสู่วาระการประชุมที่มักถูกรวมไว้ในระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญๆระดับโลก นั้นก็คือประเด็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นความพยายามที่จะร่วมกันรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งวางแผนที่เป็นรูปธรรมในอนาคต

ในการประชุมประจำปีกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในระหว่างวันที่ 2-9 ก.ย.ที่ประเทศรัสเซียนั้น ความั่นคงทางด้านอาหารนับเป็นหนึ่งในประเด็นหลักซึ่งที่ประชุมให้ความสนใจ โดยบรรดารัฐมนตรีพาณิชย์เอเปกได้เรียกร้องไม่ให้ประเทศต่างๆใช้วิธีการระงับการส่งออก เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากสมาชิกกลุ่มเอเปกหลายประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก ในขณะที่บรรดาผู้นำเอเปกก็ได้หารือในเรื่องการเพิ่มผลผลิตอาหาร การเพิ่มการลงทุนในด้านเกษตรกรรม รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆทางด้านการเกษตรเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน ได้มีการหารือกันเพื่อพยายามหาแนวทางสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับปริมาณอาหารที่ยั่งยืนในโลกที่กำลังมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น และระบุถึงความจำเป็นในการเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยการจัดสรรความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกผลผลิตด้านอาหารต่อไปโดยได้ผลตอบแทนมากขึ้นจากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูง ควบคู่กับการทำให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักว่าอาหารไม่ได้มาจากชั้นวางของตามห้างสรรพสินค้า แต่มาจากพื้นที่เกษตรและมาจากเกษตกร และผู้นำภาครัฐบาลก็ต้องดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเรียกร้องให้มีการสร้างความมั่นใจว่าการค้าโลกยังคงเปิดกว้างและไม่จำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆและประชากรที่ยากจน ซึ่งเผชิญความยากลำบากอยู่แล้วจากราคาอาหารที่พุ่งสูง

จะเห็นได้ว่าประเด็นราคาอาหาร และอุปสงค์-อุปทานในตลาดโลกดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ผู้นำทั่วโลกไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป พร้อมกันนั้นก็ต้องร่วมกันหาแนวทางสู่ทางออกที่ยั่งยืนในการบรรเทาและป้องกันมิให้วิกฤตอาหารโลกที่รุนแรงเกิดซ้ำรอยขึ้นอีก เพราะคงไม่อาจปฏิเสธคำพูดที่ว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง" ซึ่งเมื่อประเทศมีความมั่นคงทางอาหาร ประชาชนสามารถมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะมีกำลังขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆที่จะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

โดยสำนักข่าวอินโฟเควสท์ 

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้