Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

เวทีความคิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : ดัชนีราคาข้าวเดือนตุลาคม 2554และคาดการณ์สถานการณ์ข้าวไตรมาสสุดท้ายของปี 54

2,338

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : ดัชนีราคาข้าวเดือนตุลาคม 2554และคาดการณ์สถานการณ์ข้าวไตรมาสสุดท้ายของปี 54


By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ราคาข้าวในเดือนตุลาคม 2554 จะยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 จากปัจจัยหนุนสำคัญ คือ การเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 และ 2 ของโลก อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยคาดว่าเริ่มส่งออกตั้งแต่ไตรมาส 4/54 ทำให้ประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากอินเดียที่ราคาถูกกว่าข้าวไทยและเวียดนาม  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานดัชนีราคาข้าวในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 และเดือนกันยายน-ตุลาคม 2554 แสดงในตารางข้างล่างนี้

ดัชนีราคา (2548=100)    9 เดือนแรกปี 2554    เดือนกันยายน 2554    เดือนุตลาคม 2554
ดัชนี    %YoY    ดัชนี    %MoM    %YoY    ดัชนี    %MoM    %YoY
เกษตรกรขายได้    181.43    +5.0    190.49    -0.7    -0.3    193.50    +1.6    +0.9
ราคาขายส่งหน้าโรงสี    176.64    +5.2    189.29    +2.1    +9.1    189.93    +0.3    +10.9
ราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทย    165.72    +12.0    183.61    +3.4    +10.4    184.75    +0.7    +10.6
ราคาส่งออกข้าว5%ของไทย    139.13    -0.8    159.13    +8.5    +22.6    161.29    +1.4    +26.1
ราคาส่งออกข้าว5%ของเวียดนาม    146.98    +16.1    169.88    +4.2    +22.4    174.00    +2.4    +26.2
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในเดือนตุลาคม 2554 ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 193.50 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน(MoM) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) เนื่องจากข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งพื้นที่ปลูกไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ดอน และคุณภาพข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอ กอปรกับการเริ่มดำเนินการมาตรการรับจำนำข้าว

ส่วนดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีในเดือนตุลาคมอยู่ในระดับ 189.93 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(MoM) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) ส่วนดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทยเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 184.75 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 MoM และร้อยละ 10.6 YoY เนื่องจากบรรดาโรงสีเร่งกว้านซื้อข้าวเก็บเข้าสต็อกในช่วงผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 ในพื้นที่ภาคกลาง และข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกสู่ตลาด โดยแข่งขันกับโรงสีที่รับจำนำข้าว เนื่องจากวงการค้าข้าวประเมินว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปีจะมีแนวโน้มลดลง จากปัญหาอุทกภัยทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวในช่วงปลายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีราคาข้าวส่งออกข้าวขาว5% ทั้งของไทยและเวียดนามในเดือนตุลาคม 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น161.29  และ 174.00 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2554 เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทั้งข้าวนาปรังรอบสองในพื้นที่ภาคกลาง และผลผลิตข้าวนาปีบางส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นในเดือนตุลาคมเริ่มมีอัตราที่ชะลอลง หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เนื่องจากประเทศผู้ซื้อต่างประเทศหันไปซื้อข้าวจากอินเดียแทน ทำให้คำสั่งซื้อข้าวของไทยลดลง ในขณะที่เวียดนามรับคำสั่งซื้อเต็มไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/55   

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ดัชนีราคาข้าวของไทยหดตัวร้อยละ 0.8 ในขณะที่ดัชนีราคาส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ และเริ่มขยับเข้ามาใกล้กับราคาส่งออกข้าวของไทยมากขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าไทย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในเดือนตุลาคมราคาข้าวส่งออกของไทยในตลาดโลกต่างจากข้าวเวียดนามเพียง 30-35 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทข้าว) เมื่อเทียบกับในช่วงเดือนกันยายนที่ราคาข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าเวียดนามประมาณ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทข้าว) อย่างไรก็ตาม ราคาก็ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับข้าวอินเดียและปากีสถาน ที่ราคาข้าวส่งออกในเดือนตุลาคมปรับลดลง ทำให้ประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากอินเดียและปากีสถาน

ราคาข้าวในตลาดต่างประเทศ: ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน
ชนิดข้าว    สหรัฐฯ    อุรุกวัย    ไทย    เวียดนาม    อินเดีย    ปากีสถาน
4%-5% / 100% เกรด B    670    575    615            
5%            595    565    470    465
10%    630    565    590    560        
15%    620        585    550        
25%            550    515    410    410
ข้าวนึ่ง            600        465    500
ที่มา : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ข้อมูลจาก The FAO Rice Price Update – Oct. 2011

ประเด็นที่ต้องติดตาม
อิทธิพลของลมมรสุมนอกจากสร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สิน และความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้างแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 12 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหาย และอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเสียหาย ทั้งในไทยและเวียดนาม รวมทั้งกัมพูชา และลาว ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายย่อยของภูมิภาคเอเชีย โดยพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมประมาณร้อยละ 75 เป็นพื้นที่ปลูกข้าวของไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ทำให้คาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงไปจนถึงช่วงกลางปี 2555 เนื่องจากคาดว่าชาวนาในภูมิภาคเอเชียจะน่าจะกลับมาเพิ่มผลผลิตข้าวในช่วงผลผลิตข้าวนาปรัง ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดราวกลางปี 2555

สำหรับประเทศไทย ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวประเมินมีพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็นข้าวเปลือก 8-9 ล้านตัน หรือข้าวสาร 4.8-5.4 ล้านตัน เนื่องจากน้ำท่วมได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ส่วนคลังสินค้า และโรงสีที่ได้รับความเสียหายมีประมาณ 35 แห่ง อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง 8 จังหวัด ซึ่งความเสียหายครั้งนี้จะทำให้ผลผลิตข้าวนาปีของไทยลดลง และการที่ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไป ทำให้คาดว่าโดยผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่ภาคกลางจะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 1/55

ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับปริมาณข้าว ทำให้มีข้าวเข้าโครงการรับจำนำลดลง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)ประเมินว่าเงินสำหรับรับจำนำข้าวน่าจะลดเหลือ 3.5-3.6 แสนล้านบาท จากที่ตั้งวงเงินไว้ 4.1 แสนล้านบาท และคาดว่าแนวโน้มราคาข้าวในตลาดน่าจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคารับจำนำ จากปัจจุบันนี้ราคาตลาดยังต่ำกว่าราคาจำนำประมาณ 3,000 บาท/ตัน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ไทยส่งออกข้าว 8.83 ล้านตัน มูลค่า 5,175.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.4 และ 45.3 ซึ่งนับว่าเป็นการส่งออกข้าวที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกันยายนปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 0.7 ล้านตัน จากในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปริมาณการส่งออกเฉลี่ยอยู่ในระดับเฉลี่ย 1 ล้านตัน/เดือน วงการค้าข้าวคาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือของปี 2554 การส่งออกยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวในเชิงปริมาณ เนื่องจากประเทศผู้ซื้อข้าวชะลอการซื้อข้าวจากไทย และหันไปซื้อข้าวจากอินเดียและปากีสถานที่มีราคาถูกกว่า ส่วนราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากมาตรการรับจำนำข้าว และความเสียหายจากอุทกภัยที่ส่งผลให้มีปริมาณข้าวเข้าตลาดในช่วงปลายปีลดลง

สมาคมอาหารเวียดนามรายงานการส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เวียดนามส่งออก 5.87 ล้านตัน มูลค่า 2,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และ 23.7 ตามลำดับ โดยในเดือนกันยายนเวียดนามส่งออกข้าว 560,020 ตัน ซึ่งยังคงใกล้เคียงกับระดับเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ รวมทั้งคาดว่าจะส่งออกอีก 1.1 ล้านตันในไตรมาส 4/54 ซึ่งจะเป็นสถิติใหม่สำหรับการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.0 ล้านตัน โดยการส่งออกข้าวของเวียดนามได้รับอานิสงส์จากการที่ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

รัฐบาลอินเดียประกาศส่งออกข้าวเสรีประมาณ 6 เดือน (ต.ค. 2554 –มี.ค. 2555) รวมราว 2.0-2.5 ล้านตัน หรือประมาณ 300,000-400,000 ตัน/เดือน หลังจากที่งดส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมาเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวของอินเดียดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทยในช่วงไตรมาส 4/2554 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/2555 โดยผู้นำเข้าข้าวนึ่งโดยเฉพาะผู้นำเข้าในแอฟริกา อาจหันไปซื้อข้าวนึ่งจากอินเดีย เนื่องจากข้าวนึ่งอินเดียราคาเพียงตันละ 470-480 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ข้าวนึ่งไทยราคาตันละ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือถูกกว่าไทยตันละ 160-170 ดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น อินเดียจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่ได้รับอานิสงส์ จากการที่ราคาส่งออกอยู่ในระดับต่ำกว่า และปริมาณผลผลิตของทั้งไทยและเวียดนามเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม

พายุไต้ฝุ่นนันมาดอลและนาลาแกสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ประมาณ 760,000 ตันข้าวเปลือก โดยประเมินจากพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว 15,722 เฮกตาร์ (98,262.5 ไร่) คาดว่าฟิลิปปินส์อาจจะต้องนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าในปี 2555 จะนำเข้าข้าวไม่เกิน 500,000 ตันก็ตาม โดยอาจจะต้องนำเข้าข้าวมากถึง 2.2 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าฟิลิปปินส์น่าจะนำเข้าข้าวส่วนใหญ่จากเวียดนาม หรืออาจพิจารณานำเข้าจากอินเดียและปากีสถาน  เนื่องจากราคาที่ยังต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวไทย  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2554 น่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 0.56 ล้านตัน/เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปีอยู่ในระดับ 10.5 ล้านตัน เนื่องจากยังต้องเผชิญการแข่งขันทั้งจากเวียดนามและอินเดีย ในขณะที่ราคาข้าวส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2554 น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยผู้ส่งออกข้าวคาดการณ์ว่า หลังน้ำลดราคาข้าวขาว100%เกรดบีของไทยน่าจะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ประมาณ 25,500 บาท/ตัน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.7 จากช่วงปลายเดือนตุลาคม ในขณะที่ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่คาดว่าอาจจะปรับขึ้นเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น เนื่องจากทางรัฐบาลเวียดนามควบคุมการปรับขึ้นของราคาส่งออกข้าว โดยเกรงผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งราคาขายปลีกข้าวสารขยับขึ้นตามราคาขายส่ง และราคาส่งออก

ประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ ปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน และรัฐบาลอาจต้องพิจารณาขยายมาตรการรับจำนำข้าวนาปีออกไปอีก 1-2 เดือนเช่นกัน(จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์) รวมทั้งการพิจารณามาตรการรับจำนำข้าวสำหรับข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดในช่วงกลางปี 2555 ด้วย เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตข้าวนาปรังในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการปลูกชดเชยความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 และการที่ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์สูงยังเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลผลิตข้าวของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 3/54 (ผลผลิตประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตข้าวทั้งปี) ซึ่งมีผลต่อทิศทางราคาข้าวในช่วงเหลือของปี 2554 และช่วงต้นปี 2555 

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้