ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจชะลอในระยะข้างหน้า ท่ามกลางเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย อาจเป็นสัญญาณสิ้นสุดดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ การส่งสัญญาณผ่อนปรนในการดำเนินโยบายการเงินของเฟด จะช่วยประคองการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ แม้ตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วงปลายปี 2562 แต่เฟดคงไม่น่าจะส่งสัญญาณถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวในระยะอันใกล้ เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจถูกตลาดตีความถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่วัฎจักรชะลอตัวในระยะข้างหน้าได้
นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 2/2562 และไตรมาส 3/2562 ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งการขยายตัว ได้แก่ ปัจจัยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองที่ผูกโยงกับประเด็นความเสี่ยงทางการคลังของสหรัฐฯ (ประเด็นเพดานหนี้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตลอดจนประเด็นการสร้างกำแพงกั้นชายแดนแม็กซิโกที่อาจส่งผลให้รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ อาจเผชิญปัญหาในการผ่านพรบ. งบประมาณในช่วงปลายปี)
รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากระดับเป้าหมายที่ 2.0% ในระยะข้างหน้า แม้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างตึงตัวก็ตาม ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ ยังคงอยู่ในระดับสูง ได้แก่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยค่อนข้างสูงในปีนี้
ด้วยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าว จึงทำให้เฟดสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงช่วงปลายปีนี้เป็นอย่างน้อยเพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฟดคงส่งสัญญาณที่จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด (Data Dependent)
รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนการปรับลดขนาดการลดงบดุลของเฟดในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลจากระดับ 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน เหลือระดับ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในเดือนพฤษภและสิ้นสุดมาตรการในเดือนกันยายน 2562 ว่าแนวทางดังกล่าว สามารถช่วยประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลลบการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เฟดคงจะพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ อาทิ การพิจารณาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอีกครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มความผ่อนคลายทางการเงิน ก่อนที่จะพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นประเด็นที่มีผลต่อการปรับตัวของตลาดที่ค่อนข้างแรง เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจถูกตลาดตีความถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่วัฎจักรชะลอตัวในระยะข้างหน้าได้
แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68