
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (2 มกราคม 2562)
AMATAV ปักเสาเข็มประเดิมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ในเวียดนามเหนือเฟสแรก 770ไร่ จากทั้งหมด 5 เฟสพื้นที่รวม 4,500 ไร่ เงินลงทุนรวมกว่า 155 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5,115 ล้านบาทคาดเปิดรับนักลงทุนได้ปีภายในปี2563 มั่นใจเป็นทำเลทองแห่งใหม่ของการลงทุน ใกล้โครงสร้างพื้นฐานครบไม่ว่าจะเป็น สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก และใกล้ชายแดนประเทศจีน
นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด(มหาชน) หรือ AMATAV เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง (AMATA CITY HALONG)เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับนักลงทุนไปยังตอนเหนือของเวียดนามในจังหวัดกว่างนิงห์ (QuangNinh)ภายหลังจากได้รับใบอนุญาตการลงทุน (Investment Certificate) จากรัฐบาลเวียดนามรวมพื้นที่ทั้งหมด 714 เฮกตาร์หรือประมาณ 4,500 ไร่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 5 เฟสเฟสแรกเริ่มพัฒนาพื้นที่ 123 เฮกตาร์ หรือประมาณ 770 ไร่ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับการพัฒนาทั้งหมดกว่า 5,115 ล้านบาทรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ สิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุตสาหกรรมทั่วไป และเริ่มเปิดรับนักลงทุนได้ในปีพ.ศ. 2563
“การวางศิลาฤกษ์ครั้งนี้นับเป็นการเดินหน้าขยายพื้นที่นิคมอุสาหกรรมอมตะซิตี้ ให้ครอบคลุมสำหรับรองรับความต้องการของนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ถือเป็นนิคมฯแห่งแรกของอมตะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของเวียดนาม ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับภาคใต้ของจีนและมีโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่สำคัญเช่นทางหลวงหมายเลข 5 ที่เชื่อมโยงฮานอย - ไฮฟอง - ฮาลองสนามบินนานาชาติที่ทันสมัยสองแห่ง ได้แก่ สนามบิน ฝวันด่ง(Van Don) สนามบินแคทบี(Cat Bi) และ และ ท่าเรือหลัดเหวี่ยน(LachHuyen) ท่าเรือน้ำลึกซึ่งคาดว่าจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคเศรษฐกิจภาคเหนือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภูมิภาคและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเวียดนาม ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวพร้อมรองรับนักลงทุนที่เตรียมย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนเข้าสู่เวียดนามได้เป็นอย่างดี” นางสมหะทัย กล่าว
สำหรับการดำเนินธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของอมตะในประเทศเวียดนามปัจจุบันมี 2 แห่งประกอบด้วยอมตะชิตี้เบียนหัว จังหวัด ดองไน บนพื้นที่ 700 เฮกตาร์ หรือ 4,375 ไร่ ถือเป็นโครงการแรกที่ประสบความสำเร็จในการเข้าพัฒนานิคมฯในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุน ประกอบกิจการเกือบเต็มพื้นที่ และอมตะชิตี้ ลองถั่น จังหวัด ดองไน โครงการที่ 2 บนพื้นที่1,270 เฮกตาร์ หรือ ประมาณ 8,000 ไร่โดยแบ่งเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรม 33% และโครงการพัฒนาเมืองชุมชน 67%
นางสมหะทัย กล่าวว่า โครงการของอมตะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคนี้ นิคมอุตสาหกรรมของอมตะในประเทศไทยและเวียดนามมีบริษัทรวมกว่า 1,300 บริษัท และแบรนด์ “Global Fortune 500” จากกว่า 30 ประเทศ มีแรงงานหมุนเวียนอยู่กว่า 300,000 คน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายณัทธร กิจสำเร็จ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ปี 2562 จะเติบโต 10% จากปี2561ที่คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 5-10% จากรายได้ปีก่อนที่ทำได้ 1,170.94 ล้านบาทขณะที่คาดยอดโอนที่ดินปี2561 จะเป็นไปตามเป้าที่ 20 เฮกตาร์ โดยปัจจุบันบริษัทฯมียอดที่ดินที่โอนแล้วราว 16.7 เฮกตาร์ และมี Backlog อีก 4 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นที่ดิน Bien Hoa เวียดนาม 3 เฮกตาร์ ส่วนอีก 1 เฮกตาร์ บริษัทฯคาดว่าจะสามารถโอนได้ภายในสิ้นปี 2561สำหรับในปี 2562 บริษัทฯยังได้ตั้งงบลงทุนราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯจะนำเงินลงทุนดังกล่าวมาใช้พัฒนา 3 โปรเจคหลัก ได้แก่พัฒนานิคมอุตสาหกรรมBien Hoa ซึ่งบริษัทฯได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาในที่ดินดังกล่าว 2 เฮกตาร์ ซึ่งเฟสใหม่อยู่ในระหว่างการทำเรื่องเอกสารขอใบอนุญาต 19 เฮกตาร์ , การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Long Thanh ซึ่งบริษัทฯตั้งเป้าไว้ที่ 5 เฮกตาร์ และคาดว่าในสิ้นปี 2562 จะขายได้อีก 1 เฮกตาร์ ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าหลายรายเข้ามาพูดคุยกับบริษัทฯมากพอสมควร
โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศเวนคืนให้บริษัทฯนำที่ดินมาพัฒนาแล้ว ในส่วนของเฟส 1 ส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Halong ปัจจุบันบริษัทฯได้ไลน์เซนต์และจัดตั้งบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเวรคืนที่ดิน แต่เรื่องเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทฯคาดไว้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเซ็นสัญาญาและมีการเตรียมที่ดินเพื่อพัฒนาในเฟสแรกจำนวน 123 เฮกตาร์แต่ปีหน้าจะพัฒนาก่อน 10 เฮกตาร์ จากที่รัฐบาลอนุมัติไป 714 เฮกตาร์ หรือคิดเป็น 60-70% และคาดว่าในปี 6562 จะมีการเซ็นสัญญากับลูกค้าและมียอดขายที่ดินเข้ามาบางส่วนส่วนประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ในแง่ภาพรวมบริษัทฯได้ทำการสำรวจ บริษัทของอเมริกาที่มีฐานอยู่ที่ประเทศจีน ได้มีการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ซึ่งบริษัทฯมองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งมองว่าเป็นผลดีต่อประเทศเวียดนามเช่นกัน
AMATA