สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(4 กรกฎาคม 2568)--------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีประกันของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program) มูลค่ารวมสี่หมื่นล้านบาท ของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCGP ที่ระดับ ‘A(tha)’ สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ SCGP ที่ ‘a(tha)’ ซึ่งฟิทช์พิจารณาว่าสถานะเครดิตโดยลำพัง ของ SCGPไม่ได้ถูกจำกัดโดย สถานะทางเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology, PSL)
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ที่ ‘a(tha)’ สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกำไร และการลดลงของค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะช่วยสนับสนุนให้ SCGP มีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ที่เป็นบวก และอัตราหนี้สินที่ลดลงในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลงช่วยลดอัตราส่วนหนี้สิน – ฟิทช์คาดว่า EBITDA net leverage ของ SCGP จะลดลงสู่ระดับ 3.3 เท่า ณ สิ้นปี 2568 และ 3.0 เท่า ณ สิ้นปี 2569 (สิ้นปี 2567: 3.7 เท่า) โดยได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) ที่เป็นบวกจากกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลง สู่ระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ระหว่างปี 2568-2570 จากระดับ 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567
อันดับเครดิตสะท้อนสถานะเครดิตโดยลำพัง – อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCGP ที่ระดับ ‘A(tha)’ สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ที่ ‘a(tha)’ เนื่องจากฟิทช์ประเมินว่าสถานะทางเครดิตของ SCC อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับ SCGP และไม่ได้จำกัดสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก
ฟิทช์ประเมินว่าอันดับเครดิตของ SCGP อาจอยู่เหนือสถานะทางเครดิตของ SCC ได้หากสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ถูกปรับเพิ่ม หรือ สถานะทางเครดิตของ SCC ถูกปรับลง การประเมินดังกล่าวนี้สะท้อนถึง ข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทลูกทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่ในระดับปานกลาง เนื่องจาก ทั้ง SCC และ SCGP มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีคณะกรรมการบริษัทที่แยกจากกัน และ SCGPมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายจัดหาเงินทุนและบริหารเงินสดจากบริษัทแม่
ธุรกิจแพคเกจจิ้งฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป – ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGP จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ฟิทช์เชื่อว่าราคาขายของผลิตภัณฑ์ส่งออกไปยังประเทศจีนจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ SCGP ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ฟิทช์ยังคาดว่าการบริโภคของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟื้นตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – อันดับเครดิตของ SCGP สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาด ในฐานะผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SCGP มีกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษขั้นปลายประมาณ 6.0 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิตสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ จากการเข้าซื้อกิจการ
ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายช่วยสนับสนุนความต้องการซื้อ – ฟิทช์คาดว่า SCGP จะเพิ่มกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้าในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้า และความต้องการซื้อของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ประมาณร้อยละ 75 ของรายได้จากบรรจุภัณฑ์ของ SCGP มาจากกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อที่ค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจและมีอัตราการเติบโตสูง นอกจากนี้ ธุรกิจของ SCGP ยังได้รับประโยชน์จากการขยายสายการผลิตสินค้าไปยังสินค้าขั้นต้น (Vertical Integration) เช่น กระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถลดผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่ง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ใกล้เคียงกับอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจของตนเอง SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทมีความอ่อนไหวในช่วงเศรษฐกิจขาลงมากกว่า SCGP เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และกลุ่มธุรกิจของลูกค้าที่หลากหลายกว่า รวมถึงมีความต้องการซื้อจากลูกค้าที่มีความสม่ำเสมอมากกว่า ส่งผลให้ SCGP สามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ที่อันดับเครดิตเดียวกัน
SCGP มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ในเชิงรายได้ และEBITDA EPG มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า แต่ถูกลดทอนโดย สถานะผู้นำตลาดในธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนของ SCGP SCGP มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า EPG แต่ด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า ทำให้ SCGP มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า EPG อยู่หนึ่งอันดับ
สมมติฐานที่สำคัญ
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1-5 ต่อปีในปี 2568-2570 เนื่องจากปริมาณการขาย และราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น
- EBITDA Margin เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ12-13 ในปี 2568-2570 (ปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 11) จากการฟื้นตัวของราคาขายและการดำเนินโครงการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 1.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2568-2570
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับประมาณร้อยละ 45-50
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- การปรับลดสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP
- การประเมินข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทลูกทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่เป็นระดับต่ำ
ปัจจัยบวก:
- การปรับเพิ่มของสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP โดยสถานะทางเครดิตของ SCC ไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP
ปัจจัยลบ:
- EBITDA net leverage ของ SCGP อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยบวก:
- สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น และขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ของ SCGP โดยวัดจาก EBITDA ที่สูงขึ้น และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้นและมีประเภทสินค้าที่หลากหลายขึ้น
สภาพคล่อง
SCGP มีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2569 จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงเงินกู้ยืมระยะสั้นที่มีลักษณะเป็นวงเงินหมุนเวียน จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งฟิทช์คาดว่า SCGP จะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ในการดำเนินธุรกิจตามปกติ SCGP มีเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขของฟิทช์) จำนวนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 6.4 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้สภาพคล่องของ SCGP ยังได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อทดแทนเงินกู้เดิมที่แข็งแกร่ง ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงินในประเทศ
เกี่ยวกับบริษัท
SCGP เป็นบริษัทย่อยหลักของ SCC ในการดำเนินธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่ง SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCGP เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ SCC