สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(3กรกฎาคม 2568)--------KEY SUMMARY
24 มิถุนายน 2025 ครม. อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในที่อยู่อาศัย สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย) และเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1)–(8) ของประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ระบบที่ติดตั้งต้องเป็นแบบ On-grid ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกับโครงข่ายของการไฟฟ้า โดยกำหนดขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และต้องมีเอกสารประกอบการติดตั้งครบถ้วน มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคครัวเรือน ท่ามกลางแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นและความตื่นตัวของประชาชนต่อพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และยังไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัดในการประกาศใช้
มาตรการลดหย่อนภาษี จะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้ภาคครัวเรือนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน โดยกระทรวงพลังงานระบุว่าในปี 2023 ศักยภาพรวมอยู่ที่ราว 121,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการติดตั้งสะสมในปี 2022 ยังอยู่เพียง 1,893 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1.6% ของศักยภาพทั้งหมด สะท้อนว่าการติดตั้งยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ SCB EIC ในช่วงต้นปี 2025 พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 2,257 ราย สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการติดตั้งที่อยู่ในระดับสูง มาตรการลดหย่อนภาษี 200,000 บาท จึงคาดว่าว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจติดตั้งได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดภาระภาษีได้ราว 6,100 - 50,000 บาท ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังถือเป็น สัญญาณเชิงนโยบายจากภาครัฐ ที่แสดงถึงความจริงจังในการสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาคประชาชน
แม้มาตรการลดหย่อนภาษีจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ตรงใจผู้บริโภค แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ โดยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “การให้เงินอุดหนุนการติดตั้ง” มากที่สุด (26% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รองลงมาคือ “การลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง” (20%) ขณะที่ความต้องการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคอยากให้รัฐสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ การปลดล็อกการขายไฟฟ้าได้อย่างเสรี (15%) การเสนอขายระบบโซลาร์รูฟท็อปในราคาที่ถูกกว่าตลาด (14%) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราเดียวกับราคาขายปลีก (13%) และการผ่อนปรนขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง (12%) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการ “แพ็กเกจนโยบาย” ที่ครบถ้วน ทั้งในมิติของต้นทุน การเข้าถึงระบบ และสิทธิประโยชน์หลังการติดตั้ง
นอกจากนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมีอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจติดตั้ง โดยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคยังเผชิญอุปสรรคสำคัญ 3 ด้านในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ได้แก่ 1) การตรวจสอบความน่าเชื่อถือและราคาที่เหมาะสมของผู้ให้บริการติดตั้ง ซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนและเปรียบเทียบได้ 2) ข้อจำกัดในการจัดหาเงินส่วนตัว โดยกว่า 50% ของผู้ติดตั้งใช้เงินสดและการจัดหาเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายเองซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการหาแหล่งเงินทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสะท้อนความต้องการแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายของผู้บริโภค และ 3) ความยุ่งยากของกระบวนการขออนุญาตจากภาครัฐ ทั้งในด้านการติดต่อหน่วยงาน, การเตรียมเอกสาร และการนัดตรวจสอบสถานที่ติดตั้ง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
SCB EIC เสนอ 3 แนวทางที่จะเป็นมาตรการเสริมสำหรับภาครัฐในการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะสั้นควรเร่งดำเนินการอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ 1) จัดทำระบบรับรองคุณภาพอุปกรณ์และผู้ให้บริการติดตั้งแบบสมัครใจ (Voluntary certification program) เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้ 2) แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการอุดหนุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น และ 3) ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการขออนุญาต โดยจัดตั้งระบบ One-stop service สำหรับการติดตั้งในที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ในระยะยาว ภาครัฐยังสามารถพิจารณาออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม เช่น การเปิดเสรีการขายไฟฟ้า
และการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาขายปลีก (Net-metering) เพื่อเร่งการขยายตัวของพลังงานแสงอาทิตย์
ในระดับครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการติดตั้ง ผ่านการให้ข้อมูลและคำแนะนำทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และความเหมาะสมในการติดตั้ง ข้อมูลราคาที่โปร่งใส ตลอดจนมีการรับประกันและบริการหลังการขาย เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการตัดสินใจของผู้บริโภค และ 2) การพัฒนาแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่าย ผ่านการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการติดตั้งและสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อดอกเบี้ยต่ำเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคที่ต้องการติดตั้งแต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 3) ผู้ให้บริการติดตั้งควรมีบริการดำเนินการขออนุญาตติดตั้งแทนผู้บริโภค ในกรณีที่ยังไม่มี เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากยังเผชิญปัญหาในการขออนุญาตติดตั้งเอง นอกจากนี้ ผู้ให้บริการสามารถเสนอลดราคาอุปกรณ์และค่าติดตั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เนื่องจากผลการสำรวจผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า การได้รับส่วนลดเป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
หากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยจะสามารถปลดล็อกศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกหลังคาบ้าน และเดินหน้าสู่ระบบพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
----------
KEY POINTS
24 มิถุนายน 2025 ครม. อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในที่อยู่อาศัย สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดแน่ชัด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับสัญญาณสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ในบ้านอยู่อาศัย เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยมาตรการนี้กำหนดให้ ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200,000 บาท (รวม VAT) โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ใช้สิทธิต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย) และเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) – (8) ของประมวลรัษฎากร โดยไม่รวมคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั้งนี้ ชื่อผู้ขอใช้สิทธิต้องตรงกับชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า และใช้สิทธิได้เพียง 1 คน ต่อ 1 มิเตอร์ ต่อ 1 ระบบ เท่านั้น ระบบที่ติดตั้งต้องเป็นแบบ On-grid ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงข่ายของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
มีกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และดำเนินการติดตั้งพร้อมขออนุญาตอย่างถูกต้อง โดยต้องมี ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ (Tax invoice) และเอกสารยืนยันการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2027 โดยในปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กรมสรรพากร และการไฟฟ้าฯ กำลังอยู่ในช่วงร่างประกาศและยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัดว่าจะประกาศในช่วงเวลาใด
มาตรการลดหย่อนภาษีจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดภาระต้นทุนในการติดตั้ง ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน
โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าในปี 2023 ศักยภาพรวมอยู่ที่ราว 121,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการติดตั้งสะสมในปี 2022 ยังอยู่เพียง 1,893 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1.6% ของศักยภาพทั้งหมด สะท้อนว่าการติดตั้งยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคจำนวน 2,257 รายในช่วงต้นปี 2025 ของ SCB EIC พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแต่ยังไม่ตัดสินใจ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการติดตั้งที่อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่ามาตรการลดหย่อนภาษีที่ระดับ 200,000 บาท จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดภาระภาษีได้ราว 6,100 - 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ มาตรการลดหย่อนภาษียังเป็น “สัญญาณเชิงบวก” จากภาครัฐว่ารัฐบาลจริงจังกับการสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาคประชาชน และอาจต่อยอดไปสู่มาตรการส่งเสริมอื่น ๆ ในอนาคต เช่น การให้สิทธิเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายกลับเข้าระบบได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
แม้มาตรการลดหย่อนภาษีจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ตรงใจผู้บริโภค แต่อาจยังไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ โดยจากผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ SCB EIC เกี่ยวกับนโยบายภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ พบว่า การให้เงินอุดหนุนสำหรับการติดตั้งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐมากที่สุด (26% ของผู้ตอบแบบสำรวจ) ตามมาด้วย การให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง (20%) นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกให้สามารถขายไฟฟ้าได้เสรี (15%) หรือการเสนอขายระบบโซลาร์รูฟท็อปที่ถูกกว่าตลาด (14%) หรือแม้แต่การที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาเดียวกับราคาขายปลีกไฟฟ้า (13%) และการผ่อนปรนให้ติดตั้งได้โดยไม่ต้องขออนุญาต (12%) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการ “แพ็กเกจนโยบาย” ที่ครบถ้วน ทั้งในมิติของต้นทุน การเข้าถึงระบบ และสิทธิประโยชน์หลังการติดตั้ง
นอกจากนี้ มาตรการภาษีเพียงอย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการติดตั้งในหลายด้าน แม้มาตรการลดหย่อนภาษีจะช่วยสร้างแรงจูงใจ แต่จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคยังเผชิญอุปสรรคที่สำคัญ 3 ด้านในการตัดสินใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
1) การตรวจสอบว่าผู้ให้บริการมีความน่าเชื่อถือและราคาที่ผู้ให้บริการเสนอมีความเหมาะสม โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ SCB EIC เกี่ยวกับอุปสรรคในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปพบว่า การตรวจสอบว่าผู้ให้บริการติดตั้งน่าเชื่อถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเลือกผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (44% ของผู้ตอบแบบสำรวจ) ตามมาด้วยการตรวจสอบว่าราคาที่ผู้ให้บริการติดตั้งเสนอมีความเหมาะสม (39%) ซึ่งผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่สามารถตรวจสอบผู้ให้บริการในเรื่องคุณภาพและราคาที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่อาจจะไม่มีความรู้ว่าจะต้องตรวจสอบผู้ให้บริการติดตั้งที่มีคุณภาพได้อย่างไร
2) การจัดหาเงินทุนสำหรับติดตั้ง โดยจากผลสำรวจ วิธีการจ่ายเงินของผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้ว พบว่า 52% ของผู้ตอบแบบสำรวจจ่ายค่าติดตั้งด้วยเงินสด ในขณะที่ 17% จ่ายค่าติดตั้งโดยการใช้บัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน ส่วน 14% ใช้บัตรเครดิตแบบผ่อนจ่าย ซึ่งเมื่อสอบถามผู้บริโภคว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญในการหาแหล่งเงินทุน พบว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่าอุปสรรคสำคัญมาจากการจัดหาเงินทุนเพื่อจ่ายค่าติดตั้ง สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้บริโภค
3) การขออนุญาตจากภาครัฐมีความยุ่งยากซับซ้อน โดยเมื่อสอบถามเกี่ยวกับอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป พบว่า 27% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไปแล้วตอบว่าไม่มีอุปสรรค เนื่องจากผู้ติดตั้งดำเนินการให้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี 23% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่า เผชิญความยุ่งยากในการติดต่อหน่วยงานรัฐ ในขณะที่อุปสรรคอื่น ๆ มาจากการต้องศึกษาข้อมูลการขออนุญาต การดำเนินการในการออกเอกสารล่าช้า และการนัดหมายมาตรวจสอบบ้านที่มีความล่าช้า
SCB EIC เสนอ 3 แนวทางที่จะเป็นมาตรการเสริมสำหรับภาครัฐในการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเติมในระยะสั้น ดังนี้ 1) เพิ่มกลไกการตรวจสอบและอนุมัติคุณภาพของอุปกรณ์และผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคสมัครใจ (Voluntary certification program) เพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถเลือกผู้ให้บริการจากรายชื่อที่ภาครัฐตรวจสอบแล้วว่าผ่านมาตรฐานทั้งในด้านคุณภาพและราคาได้ 2) แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน อาทิ การให้เงินอุดหนุนการติดตั้งและสนับสนุนการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยอาศัยความร่วมมือของสถาบันการเงิน ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและช่วยลดอุปสรรคในการหาเงินทุน 3) ขจัดอุปสรรคในการขออนุญาตและการเตรียมเอกสารที่ยุ่งยาก อาทิ การสร้างระบบ One-stop services สำหรับผู้ที่ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสำหรับบ้านอยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขออนุญาตติดตั้งของประชาชนและผู้ให้บริการติดตั้งได้ ในระยะยาว ภาครัฐอาจพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น การปลดล็อกให้สามารถขายไฟฟ้าได้เสรี และการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาขายปลีก (Net-metering) เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็สามารถมีส่วนในการผลักดันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผ่านการดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการติดตั้งควรเน้นสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อปิดช่องว่างของอุปสรรคสำคัญในการเลือกผู้ให้บริการของผู้บริโภค โดยผู้ให้บริการติดตั้งจะต้องมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญ ความน่าเชื่อถือในด้านคุณภาพของการให้บริการ มีการเสนอรายละเอียดผลิตภัณฑ์และราคาที่ชัดเจน มีการรับประกันสินค้าและมีการให้บริการหลังการขาย 2) ผู้ให้บริการติดตั้งควรร่วมมือกับสถาบันการเงินนำเสนอแหล่งเงินทุนเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เนื่องจากผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้เงินสดในการติดตั้งและเผชิญอุปสรรคในการจัดหาเงินเพื่อจ่ายค่าติดตั้ง ดังนั้น สถาบันการเงินและผู้ให้บริการติดตั้งควรร่วมกันพัฒนาทางเลือกทางการเงินที่เข้าถึงง่ายสำหรับผู้บริโภค เช่น สินเชื่อเช่าซื้อดอกเบี้ยต่ำเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น 3) ผู้ให้บริการติดตั้งสามารถนำเสนอบริการดำเนินการขออนุญาตติดตั้งแทนผู้บริโภคเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากยังเผชิญปัญหาในการขออนุญาตติดตั้งเอง นอกจากนี้ ผู้ให้บริการสามารถเสนอส่วนลดราคาอุปกรณ์และค่าติดตั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เนื่องจากผลการสำรวจผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า การได้รับส่วนลดเป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในบ้านอยู่อาศัย ถือเป็นก้าวสำคัญของภาครัฐในการส่งเสริมพลังงานสะอาดจากภาคประชาชน ช่วยลดภาระต้นทุนเบื้องต้น และส่งสัญญาณเชิงนโยบายที่ชัดเจนว่ารัฐสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งภาครัฐต้องเร่งออกประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มาตรการภาษีมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ SCB EIC สะท้อนว่า มาตรการภาษีเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถเร่งการติดตั้งในวงกว้างได้ หากไม่แก้ไขอุปสรรคด้านความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความยุ่งยากในการขออนุญาตติดตั้ง โดยการเสริมด้วยมาตรการเพิ่มเติมในระยะสั้น เช่น ระบบรับรองผู้ให้บริการ (voluntary certification), สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, เงินอุดหนุน และระบบอนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ (one-stop service) รวมถึงการมีบทบาทสนับสนุนของภาคเอกชน ทั้งในด้านข้อมูล ราคา และการเงิน จะเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งให้โซลาร์รูฟท็อปกลายเป็นทางเลือกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดหลักของไทย
หากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยจะสามารถปลดล็อกศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกหลังคาบ้าน และเดินหน้าสู่ระบบพลังงานสะอาดได้อย่างแท้จริง