สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(26 พฤษภาคม 2568)--------o การส่งออกไทยเดือนเม.ย. 2568 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 10.2%YoY แม้ชะลอลงจากไตรมาส 1/2568 ที่ขยายตัวสูงถึง 15.2%YoY โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้
• การส่งออกไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากการเร่งส่งออกสินค้า ท่ามกลางนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยการส่งออกไทยไปตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ โดยตั้งแต่ต้นปี 2568 สัดส่วนการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 19.5% จาก 18.3% ในปีก่อนหน้า
• การส่งออกไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออกสินค้าไม่กี่รายการ ประกอบด้วย 1) คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบรวม Hard disk drive 2) ICs และ 3) ทองคำไม่ขึ้นรูป ซึ่งหากหัก 3 รายการดังกล่าว การส่งออกไทยในเดือนเม.ย. ขยายตัวได้ไม่ถึง 1% โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมตามรอบวัฎจักรซึ่งคาดว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะข้างหน้า
• ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวที่ -19.6%YoY โดยมีปัจจัยฉุดรั้งจากการส่งออกผลไม้ที่หดตัวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะทุเรียนสดที่มักหนุนการส่งออกในเดือน เม.ย. แต่ในปีนี้การส่งออกทุเรียนสดในเดือน เม.ย. 2568 กลับหดตัวที่ -43.5%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาที่ถูกกดดันจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก ไม่สอดรับกับความต้องการบริโภค และมาตรการความปลอดภัยในการนำเข้าทุเรียนของจีนที่มีความเข้มงวด
o การส่งออกไทยในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแม้ยังอยู่ในช่วงที่สหรัฐฯ ระงับการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 90 วัน ส่งผลให้การส่งออกไทยในไตรมาส 2/2568 คาดว่าจะขยายตัวไม่ถึง 10% ชะลอลงจากไตรมาสแรก
• สหรัฐฯ ระงับการขึ้นภาษีนำเข้าออกไป 90 วันอาจช่วยหนุนการส่งออกไทยได้เพียงระดับหนึ่ง เนื่องจากมีการเร่งส่งออกสินค้าไปค่อนข้างมากแล้วในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าไทยเริ่มถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) ที่ 10% ตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมาและการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ปริมาณเรือที่ออกจากท่าเรือไทยเริ่มลดลงหลังแตะระดับสูงสุดในเดือนพ.ค. (รูปที่ 2) อย่างไรก็ดี ข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2568 อาจช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปจีนเร่งขึ้นมาอีกระลอกก่อนข้อตกลงลดภาษีระหว่างกัน 90 วันจะสิ้นสุดลง
• ผู้ส่งออกทางเรืออาจมีเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนในการจัดส่งสินค้าให้ทันก่อนวันที่ 9 ก.ค. 2568 ที่อัตราภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ดี หากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับอัตราภาษีที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บหลังครบกำหนด 90 วัน อาจส่งผลให้ผู้ส่งออกชะลอการจัดส่งสินค้าในเดือนมิ.ย. 2568
o การส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มีความเสี่ยงจะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ หากถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดย ณ ขณะนี้ ไทยยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาภาษีกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มการเจรจาแล้ว อาทิ เวียดนาม มาเลซีย และอินโดนีเซีย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2568 อยู่ที่ -0.5%