Today’s NEWS FEED

News Feed

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยปี 2568 ผลผลิตพุ่ง กดราคาลดลงแรง ฉุดยอดขายรวมหดตัว 4.8%

93


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(23 พฤษภาคม 2568)-------ในปี 2568 ปริมาณผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 21.8% ไปอยู่ที่ 3.66 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตกว่า 1.2 เท่า โดยมีแรงหนุนหลักจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น 6.1%


• ยอดขายผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยในปี 2568 คาดว่าจะลดลง 4.8% จากแรงฉุดด้านราคาเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นยอดขายจากการส่งออกลดลง 6% และยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นไม่มากราว 0.3%


• ยอดขายจากการส่งออกจะเป็นปัจจัยฉุดสำคัญต่อยอดขายรวม เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูง ทำให้ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งในจีน และมาตรฐานด้านสารปนเปื้อนในผลไม้ของจีนที่เข้มงวดขึ้น


ผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยปี 2568 จะเป็นอย่างไร? ท่ามกลางสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น

ในปี 2568 ผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยเพิ่มขึ้นถึง 21.8% จากแรงหนุนของปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น 6.1% โดยบทความนี้จะวิเคราะห์ในผลไม้ 3 รายการหลักของไทยคือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ซึ่งรวมคิดเป็น 76% ของผลผลิตผลไม้ทั้งหมด และจะวิเคราะห์เป็นผลไม้สดเท่านั้น (80% บริโภคเป็นผลสด)

ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ที่ทยอยจำหน่ายออกสู่ตลาดจำนวนมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งทั้งปี 2568 ปริมาณผลผลิตผลไม้หลักคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยทุเรียนเพิ่มขึ้น 30.7% ลำไยเพิ่มขึ้น 10.8% และมังคุดเพิ่มขึ้น 35.1% ทำให้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น 21.8% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 2563-2566) กว่า 1.2 เท่า (รูปที่ 1)


แรงหนุนสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเพิ่ม มาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณฝนเฉลี่ยของไทยในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.1% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยปี 2563-2567 อยู่ 5.5% และมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีถึง 9.3% (รูปที่ 2)

ผลผลิตผลไม้ที่ล้นตลาดจำนวนมาก ส่งผลต่อราคาอย่างไร?

ในปี 2568 ผลผลิตผลไม้เพิ่มขึ้นมาก สวนทางกับความต้องการบริโภคที่มีจำกัด ทำให้ผลผลิตส่วนเกินมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาผลไม้ปรับลดลง โดยผลผลิตผลไม้สดส่วนเกิน มีมากขึ้นทุกรายการในปี 2568 ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตหลายเท่า (รูปที่ 3)

ยอดขายผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยในปี 2568 จะได้รับผลกระทบอย่างไร?

ในปี 2568 ยอดขายผลไม้สดเศรษฐกิจหลักของไทย คาดว่าโดยรวมจะลดลง 4.8% ไปอยู่ที่ 204,146 ล้านบาท (รูปที่ 4) โดยแรงฉุดสำคัญมาจากยอดขายจากการส่งออกที่ลดลง ทั้งนี้ ยอดขายรวมแบ่งออกเป็น ยอดขายจากการส่งออกและยอดขายในประเทศ ดังนี้

 

ยอดขายจากการส่งออก

ในปี 2568 ยอดขายจากการส่งออกผลไม้สด คาดว่าจะลดลง 6% ตามราคาที่ลดลงเป็นหลัก จากความเสี่ยงที่ไทยพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูง โดยสัดส่วนปริมาณที่ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนอยู่ที่ราว 97% ลำไยสด 73% และมังคุดสด 31% (ข้อมูลปี 2567) ทำให้ความต้องการจากจีนจะส่งผลต่อยอดขายผลไม้ของไทยอย่างมาก
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากการส่งออกของไทยไปตลาดจีน คือ คู่แข่งของไทยแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีนมากขึ้น สะท้อนจาก จีนนำเข้าผลไม้สดจากคู่แข่งอย่างเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่นำเข้าจากไทยในสัดส่วนลดลง (รูปที่ 5) และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารของจีนที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสด เช่น สาร BY2 (Basic Yellow 2) และแคดเมียม (Cadmium) จะกดดันให้ไทยส่งออกไปจีนได้ยากขึ้น

ยอดขายในประเทศ

ในปี 2568 ยอดขายผลไม้สดในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่มากราว 0.3% จากความต้องการบริโภคและกำลังซื้อที่มีจำกัดตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตชะลอลง ขณะที่ผู้บริโภคชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยมีแนวโน้มลดลงในปีนี้ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศในหมวดผลไม้ทั้งหมดปี 2568 คาดว่าจะโตชะลอลงจากปี 2567 ที่โต 5.4%

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ตั้งลำ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุุ้นไทย ดีดตัว ตั้งลำได้อีกครั้ง ยืน 1,180 จุด ได้ ด้วยตลาดต่างประเทศปรับตัวขึ้น ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้