Today’s NEWS FEED

News Feed

สภาผู้ส่งออก เผยขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariff

251

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(24 เมษายน 2568)--------นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก แถลงข่าวร่วมกับนายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร โดยระบุ 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 สภาผู้ส่งออกประเมินว่าสหรัฐอเมริกาจะเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และในท้ายที่สุดอาจมีการเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ในอัตรา 10% ประเด็นที่ 2 ควรเจรจาโดยแยกมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายใต้การลงทุนของสหรัฐ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุนที่ไทยต้องการจากสหรัฐ ประเด็นที่ 3 รัฐและเอกชนควรเร่งวางกลยุทธ์รายกลุ่มสินค้าและคู่ค้า โดยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพการค้าและการลงทุนที่ได้รับผลจากนโยบายภาษีนำเข้า และเน้นการกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสในกรอบความร่วมมือ เช่น อาเซียน–สหรัฐ อาเซียน-ยุโรป อาเซียน–จีน อาเซียน–ญี่ปุ่น อาเซียน–เกาหลี และอาเซียน–อินเดีย และประเด็นที่ 4 เร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อรับมือรูปแบบการค้าใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีองค์ประกอบหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย


ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกได้สำรวจความเห็นของผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกและหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ระหว่างวันที่ 9-22 เมษายน ที่ผ่านมา พบว่าผู้ส่งออกได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางบวก อาทิ คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ถูกเร่งรัดการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบ อาทิ คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ยกเลิกคำสั่งซื้อ และลูกค้าผลักภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ส่งออก เป็นต้น ซึ่งการรับมือของผู้ประกอบการในปัจจุบันประกอบด้วย การเจรจากับลูกค้าเพื่อแบ่งความรับผิดชอบต่อภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ทั้งการปรับลดราคาสินค้ากรณีลูกค้าเป็นผู้ชำระค่าภาษี และการขอขึ้นราคาสินค้ากรณีผู้ส่งออกไทยเป็นผู้ชำระภาษี การชะลอรับคำสั่งซื้อเพื่อดูสถานการณ์ เนื่องจากอัตรากำไรของสินค้าไม่เพียงพอต่อการจ่ายหรือการช่วยจ่ายภาษีให้กับลูกค้า และการหาตลาดอื่นทดแทน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกกว่า 88.9% ระบุว่าไม่มีการลงทุนและไม่มีแผนหรือความต้องการลงทุนในสหรัฐ เนื่องจากต้นทุนจะสูงขึ้นมาก และ 11.1% ระบุว่ามีบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือตั้งอยู่ในสหรัฐแล้ว ขณะที่ มีผู้ประกอบการเพียง 31.6% ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐ อาทิ ถั่วเหลือง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบอื่นที่ราคาถูกกว่า และใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

 

นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออกขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Reciprocal Tariff ซึ่งมีแนวโน้มทะลักเข้ามาในประเทศไทยและเป็นคู่แข่งไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เครื่องเล่นเกมส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ภาชนะบนโต๊ะอาหาร ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รถโดยสาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น ซึ่งประเทศจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นสัดส่วนที่สูงมาก และต้องการหาตลาดทดแทน

 

สภาผู้ส่งออกจึงเห็นว่าประเทศไทยควรพิจารณาดำเนินการมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าและการเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศ แบ่งเป็น 1) ข้อเสนอมาตรการต้านการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ โดย 1.1) สิ่งที่ต้องกำกับดูแลตั้งแต่ในประเทศต้นทาง อาทิ 1.1.1) สินค้าและโรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศไทย 1.1.2) สินค้าต้องระบุพิกัดให้ชัดเจนเพื่อให้ศุลกากรไทยสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น 1.1.3) ผู้ส่งออกที่ขายผ่าน E-Commerce Platform ต้องระบุ ID Number ให้ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน 1.1.4) สินค้าที่จะส่งออกมายังประเทศไทย ต้องแจ้งข้อมูลล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเรือออกจากท่าเรือต้นทาง เพื่อให้ไทยได้ทราบข้อมูลสินค้านำเข้าล่วงหน้า และสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 1.2) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบฝ่ายไทย อาทิ 1.2.1) ตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ 1.2.2) ตรวจสอบสินค้าผ่าน Free zone 100% เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศปลายทาง และ 1.2.3) เพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ

 

2) ข้อเสนอมาตรการต้านการลงทุนศูนย์เหรียญ ประกอบด้วย 2.1) ทบทวนสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับการลงทุนใหม่ 2.1.1) ให้เป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ และ 2.1.2) ให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ มากกว่าเม็ดเงินลงุทนและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และ 2.2) กำหนดเงื่อนไขกิจการร่วมลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน อาทิ 2.2.1) ต้องมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ อย่างแท้จริงสู่ภาคการผลิตในประเทศ 2.2.2) ต้องจัดทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี ในทุกกรณีที่มีการร่วมลงทุนกับต่างชาติ และ 2.2.3) กำหนดให้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีสัดส่วนการจ้างแรงงานไทยไม่น้อยกว่า 50% เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานภายในประเทศ

 

และ 3) ข้อเสนอมาตรการด้านการส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ โดยต้องอัดฉีดงบประมาณสำหรับ “การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ" และ “งบสนับสนุนด้านการตลาดแก่ภาคเอกชน” อาทิ SME Proactive ให้มากขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สภาผู้ส่งออกประเมินว่ามีรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเป็นจำนวนมากและสามารถหาตลาดทดแทนได้ อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยางธรรมชาติ มอนิเตอร์และโปรเจกเตอร์ ถุงมือทางการแพทย์ น้ำผักและน้ำผลไม้ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อช่วยให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก อาทิ 1) เพิ่มการจัดงานแสดงสินค้า (Trade Exhibition) ในประเทศ 2) เพิ่มการเข้าร่วมจัด Thailand Pavillion ในงานแสดงสินค้าหลักในต่างประเทศ 3) เพิ่มงบประมาณโครงการ SMEs Proactive เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศด้วยตนเอง 4) เพิ่มจำนวนกิจกรรม In-store Promotion ในร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าในประเทศคู่ค้า 5) เพิ่มกิจกรรม Trade Mission ในกลุ่มประเทศเป้าหมาย 6) เพิ่มกิจกรรม Online Business Matching รายกลุ่มสินค้าและรายประเทศ และ 7) ให้ข้อมูลคู่ค้าในประเทศเป้าหมายเพื่อนำเสนอสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย


ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีทิศทางที่ชัดเจน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จึงได้ตั้งเป้าหมายผลักดันยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อสร้างความมั่งคั่งสู่ประเทศ หรือ Long-Term Strategy for Thailand’s National Wealth Development เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ผ่าน 6 แนวทางสำคัญ ประกอบด้วย 1) การวางตำแหน่งทางภูมิเศรษฐกิจ และการสร้างพันธมิตรกลุ่มประเทศ เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก 2) การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศเป้าหมาย 3) การบริหารกลยุทธ์การค้าทั้งสินค้าและบริการอย่างบูรณาการ 4) การปฏิรูประบบสิทธิประโยชน์บีโอไอ โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก 5) การพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามประเภทอุตสาหกรรมกำหนดหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ตามสถานะของอุตสาหกรรมในประเทศ 6) การส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ พร้อมทั้งแต่งตั้งรองประธานเพื่อผลักดันการดำเนินงานผ่าน 6 คณะกรรมการสำคัญ ได้แก่ 1) คณะกรรมการ Trade Environment 2) คณะกรรมการร่วมรัฐเอกชนด้านโลจิสติกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล 3) คณะกรรมการ Maritime Transport 4) คณะกรรมการกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร 5) คณะกรรมการกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และ 6) คณะกรรมการกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อให้สามารถประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกซึ่งเป็นผู้ส่งออกจากทุกกลุ่มสินค้าในการแก้ไขปัญหาและผลักดันข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาครัฐและภาคที่เกี่ยวข้อง

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้