TMBThanachart Bank (TTB TB)
ไร้ปัจจัยหนุนใหม่ ลดคำแนะนำเป็น “ถือ”
ปรับลดประมาณการกำไรจากการเติบโตของสินเชื่อและ NIM ที่ต่ำ
เราปรับลดคำแนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ถือ” และปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ 2.00 บาท (P/BV ปี 68 ที่ 0.82 เท่า และ ROE 9.5%) จากเดิม 2.10 บาท หลังปรับลดประมาณการกำไรปี 68-69 ลง 7% เพื่อสะท้อนการเติบโตสินเชื่อและ NIM ที่ลดลง เราชอบ TTB ในแง่ของการมุ่งเน้นปรับปรุง ROE ให้เพิ่มขึ้น โดยกลยุทธ์การขยายสินเชื่อแบบเลือกสรรจะส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้นและความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ากำไรจะเติบโตช้าในระยะสั้นจากแรงกดดันของ NIM และการหดตัวของสินเชื่อ ปัจจัยบวกคือการซื้อหุ้นคืนเร็วกว่าคาด ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลง ทั้งนี้ KBANK (ราคาล่าสุด 148.50 บาท, คำแนะนำ “ซื้อ”, ราคาเป้าหมาย 180 บาท) และ KKP (ราคาล่าสุด 55.75 บาท, คำแนะนำ “ซื้อ”, ราคาเป้าหมาย 65 บาท) ยังคงเป็นหุ้นเด่นของเราสำหรับกลุ่มธนาคาร
แนวโน้มรายได้ยังอ่อนแอ เน้นควบคุมค่าใช้จ่ายและลด credit cost
เรามีมุมมองเป็นกลางจากการประชุมกับ CEO เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยธนาคารจะยังคงเน้นรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ และควบคุมทั้งค่าใช้จ่ายและต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (credit cost) เพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของสินเชื่อและ NIM ในปีนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เราคาดว่าสินเชื่อจะหดตัว -5% จากการชะลอตัวของสินเชื่อธุรกิจ SME และเช่าซื้อ โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ลดการใช้กำลังการผลิตและชำระหนี้ก่อนกำหนดเพราะความไม่แน่นอนจากประเด็นภาษีการค้า ขณะที่สินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงคาดว่าจะเติบโตช้าลงจากการเข้มงวดด้านอนุมัติสินเชื่อ
ยังคงเป้าหมาย ROE 10% ภายในปี 69
TTB ยังยึดมั่นเป้าหมาย ROE ที่ 10% ภายในปี 69 โดย CEO ให้ตั้งเป้าว่าจะมีการจ่ายปันผลในอัตราที่สูง รวมถึงการซื้อหุ้นคืน และการเติบโตแบบ Inorganic Growth ผ่านการควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อหนุนการเติบโตของ ROE โดยมีอัตรา CET1 ที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 16% และอยู่ที่ 18.2% ณ ไตรมาส 1/68 ซึ่งเราคาดว่า TTB จะใช้วงเงิน 7 พันล้านบาททั้งหมดในการซื้อหุ้นคืน หากธนาคารจ่ายปันผลเป็นเงินสดที่ 0.13 บาทต่อหุ้น และซื้อหุ้นคืน 7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 68-70 จะให้ผลตอบแทนจากทุนรวมประมาณ 11% ของมูลค่าตลาดใน 3 ปีข้างหน้า (ดูรูปที่ 1) ส่วนโครงการ "You Fight We Help" มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2% ของสินเชื่อรวม ณ ไตรมาส 1/68
กำไร 1Q68 ลดลง 4% YoY จาก NIM ที่ลดลง
สินเชื่อลดลง 2% QoQ จากการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ ธุรกิจ และ SME ขณะที่ NIM ลดลง 11bps QoQ เหลือ 3.16% จากผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทรงตัว QoQ โดยกำไรจากการซื้อขายชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่อ่อนตัว ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง 6% YoY จากต้นทุนพนักงานและค่าเช่าที่ลดลง TTB ตั้งสำรอง 4.6 พันล้านบาท (คิดเป็น credit cost 152bps) โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 1.2 พันล้านบาท และตั้งสำรองพิเศษ 954 ล้านบาทใน 1Q68 อัตราหนี้เสีย (NPL Ratio) เพิ่มขึ้น 12bps QoQ เป็น 3.26% ขณะที่อัตราการเกิดหนี้เสียใหม่ (NPL Formation) ลดลงเป็น 1.64% จาก 1.74% ในปี 67
Jesada Techahusdin, CFA
jesada.t@maybank.com
(66) 2658 5000 ext 1395