Stecon Group (STECON TB)
กลับมาเติบโตอีกครั้ง
ปรับคำแนะนำเป็น "ซื้อ" จากแนวโน้มที่ดีขึ้น
เราโอนการจัดทำบทวิเคราะห์ STECON มายัง คุณนนทพัฒน์ สหกิจภิญโญ และปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น "ซื้อ" จาก "ถือ" โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 9 บาท อิงจากอัตราส่วน P/BV เป้าหมายที่ 0.73 เท่า เราเชื่อว่า STECON จะพลิกกลับมาเป็นกำไรในปี 68 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1) ไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเติม หลังจากที่มีการบันทึกไปแล้วทั้งหมดใน 4Q67 ซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรฟื้นตัว 2) ไม่ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนกว่า 500 ล้านบาทต่อปี จากการเปลี่ยนวิธีการบัญชีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู 3) Backlog เพียงพอรองรับรายได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า พร้อมอัปไซด์จากการประมูลโครงการภาครัฐเพิ่มเติม ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ P/BV ปี 68 เพียง 0.4 เท่า (-1.4SD) และ P/E 11 เท่า (-2.5SD) ซึ่งถือว่าน่าสนใจ และมีโอกาสได้รับการปรับมูลค่า (re-rating) หลังกำไรกลับมาสู่ระดับปกติ
ประเด็นความกังวลหลายอย่างคลี่คลายแล้วใน 4Q67
STECON เผชิญปัญหาหลายด้านในปี 67 ทั้งนี้ประเด็นสำคัญส่วนใหญ่ได้คลี่คลายแล้วใน 4Q67 โดย 1) ในปี 67 STECON มีอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) รายไตรมาสที่อ่อนแอราว -13% ถึง 3% (เทียบกับปกติที่ 5–6%) เนื่องจากมีการบันทึกค่าซ่อมแซมโครงการบึงหนองบอน อย่างไรก็ตามบริษัทได้ตั้งสำรองเต็มจำนวนสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและคาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดแล้วราว 1 พันล้านบาทใน 4Q67 2) ตั้งสำรอง 1 พันล้านบาท สำหรับความเสียหายจากอุบัติเหตุในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู 3) ตั้งสำรอง 1.1 พันล้านบาท สำหรับโครงการ Clean Fuel Project (CFP) ของ TOP หลังจากผู้รับเหมาหลักผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งการตั้งสำรองเหล่านี้ส่งผลให้ STECON ขาดทุน 2.2 พันล้านบาทใน 4Q67 แต่เรามองว่าตอนนี้สถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว
มีแผนเปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีทำให้ไม่ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอีกต่อไป
STECON มีแผนจะเปลี่ยนประเภทการรับรู้เงินลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู จาก “บริษัทร่วม” (ตามวิธีส่วนได้เสีย) เป็น “สินทรัพย์ทางการเงิน” ซึ่งจะช่วยให้ไม่ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนอีกต่อไป แม้ว่า STECON จะถือหุ้นเพียง 15% แต่ที่ผ่านมาใช้วิธีส่วนได้เสียเนื่องจากผู้บริหารของบริษัทดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทโครงการ เมื่อมีการวางแผนลาออกจากตำแหน่งเหล่านี้ เราคาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีผลใน 2Q68 ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งขาดทุนในปี 68 ลดลงเหลือ 148ล้านบาท (จากขาดทุน 584 ล้านบาทในปี 67) และจะไม่มีผลกระทบต่อกำไรอีกเลยตั้งแต่ปี 69 เป็นต้นไป
คาดผลประกอบการปี 68 พลิกเป็นกำไร กลับมาโดดเด่น
เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 68-69 ขึ้น 20–37% จาก GPM ที่ดีขึ้นและส่วนแบ่งขาดทุนที่ลดลง โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโต ได้แก่ 1) รายได้ที่โตต่อเนื่องจาก backlog ที่มากกว่า 1 แสนล้านบาท 2) GPM เพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติที่ 5.6% 3) ส่วนแบ่งขาดทุนที่ลดลง นอกจากนี้ เรายังมองเห็น ปัจจัยบวกอื่นๆเพิ่มเติม เช่น แนวโน้มกำไร 1Q68 ที่แข็งแกร่ง และการประมูลโครงการภาครัฐที่จะเร่งขึ้นใน 2H68 นอกจากนี้ STEON ยังมีโครงการซื้อหุ้นคืน (share buyback) วงเงินสูงสุดไม่เกิน 900 ล้านบาท หรือ 150 ล้านหุ้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 18 มี.ค. ถึง 17 ก.ย. สะท้อนความเสี่ยงขาลงที่จำกัด
Nontapat Sahakitpinyo
nontapat.sahakitpinyo@maybank.com
(66) 2658 5000 ext 2352