OSP กำไร 4Q67 สูงกว่าคาด 7% เติบโต YoY และพลิกเป็นกำไรเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
Investment Highlight
รายงานกำไร 4Q67 สูงกว่าคาด 7%
บริษัทรายงานกำไร 567 ลบ. เติบโต 31%YoY และพลิกเป็นกำไรจากขาดทุนในไตรมาสก่อน และสูงกว่าที่เราคาด 7% โดยได้แรงหนุนจากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวจาก 3Q67 ที่มีน้ำท่วมภาคเหนือและภาคอีสาน ด้านรายได้ 4Q67 เติบโต +6%YoY แต่ -2%QoQ อยู่ที่ 6.42 พันลบ. ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวขึ้นจาก 36.1% สู่ 38.5% ได้แรงหนุนจากรายได้จากต่างประเทศและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลที่เติบโตซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้ำสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายปรับตัวขึ้นจาก 26.0% เป็น 28.2% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างด้านการลงทุนและกำลังการผลิต อีกทั้งมีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 250 ลบ. ทั้งนี้รายงานกำไรปี 67 ที่ 1.64 พันลบ. หดตัว 32%YoY
คาดกำไรปี 68 เติบโต 85% เนื่องจากไม่มีค่าตัดจำหน่ายเข้ามากดดัน นอกจากนี้มีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม
เราคาดการณ์รายได้ปี 68 ราว 28,423 ลบ. +5%YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ M150 ฝาเหลืองในราคา 10 บาทเพื่อจัดจำหน่ายในช่องทาง Tradition Trade ในเดือน ก.พ. 68 ทั้งนี้บริษัทคาดว่าจะช่วยหนุนให้ส่วนแบ่งการตลาดจาก 45.0% ใน ธ.ค. 67 กลับสู่ 50.0% ส่วน %GPM คาดอ่อนตัวเล็กน้อยสู่ระดับ 37.0% จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในราคา 10 บาทแต่การใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นช่วยลดผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายการตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการออกโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย ส่งผลให้เราคาดกำไรปี 68 ราว 3,030 ลบ. +85%YoY โดยเติบโตสูงจากไม่มีการบันทึกตัดจำหน่ายเงินลงทุนราว 1.03 พันลบ. เหมือนในปี 67
คงคำแนะนำ “ถือ” ราคาเหมาะสมปี 68 ที่ 17.20 บาท อัพไซต์ 23%
เราประเมินราคาเหมาะสม OSP โดยอิง Prospective P/E Ratio ที่ 17x (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 19X) โดยใช้ค่าเฉลี่ย 3 ปีปรับลดด้วย 2 S.D. และคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นปี 68 ที่ราว 1.01 บาทต่อหุ้น คำนวณเป็นราคาเหมาะสมปี 68 ที่ 17.20 บาทลดลงจากครั้งก่อนที่ 19.00 บาท โดยราคาหุ้นมีอัพไซต์จากราคาปัจจุบันราว 23% และจ่ายปันผลในอัตราเฉลี่ย 4.3% ต่อปี แต่เรากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่อาจสูงกว่าที่เราประเมินไว้ เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังอยู่ในตลาดผู้ขายน้อยรายทำให้การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของ OSP กระทบต่อคู่แข่งโดยตรงและอาจทำให้เกิด Price War กดดันต้นทุน เราจึงคงคำแนะนำ “ถือ”
ปัจจัยเสี่ยง
i) แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลัง
ii) เกิด Price war ระหว่างเครื่องดื่มชูกำลังจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของโอสถสภา
iii) ราคาน้ำตาลปรับตัวขึ้นกดดันต้นทุนการผลิต
Analyst: Nuttawut Wongyaowarak
02-672-5805
nuttawut@globlex.co.th