Today’s NEWS FEED

News Feed

ธนาคารเอชเอสบีซี คาด จีดีพีประเทศไทยปี 2025 เติบโตราว 3.3% เร่งตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.7%

478

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 7 กุมภาพันธ์ 2568)-----นายเฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัย ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า ธนาคารเอชเอสบีซี คาดการณ์ว่าจีดีพีของประเทศไทยในปี 2025 จะเติบโตราว 3.3% โดยเป็นอัตราการเติบโตที่เร่งตัวขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.7% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะยังคงฟื้นตัวยังไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่ก็ใกล้เคียงมากแล้ว โดยเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะยังคงกลับมา และความกังวลด้านความปลอดภัยจากเหตุการณ์เร็ว ๆ นี้ อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก นอกจากนี้ อานิสงส์จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตน่าจะส่งผลบวกต่อการบริโภคไปอีกราว 6 เดือน รวมถึงอานิสงส์จากการลงทุนจากภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะเกิดจะขึ้นในปีนี้ ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ จึงยังมีมุมมองว่าจีดีพีของประเทศไทยจะยังเติบโตไปได้ อย่างไรก็ดี ในปี 2026 อัตราการเติบโตของจีดีพีอาจจะชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะลดลงมาที่ราว 2.7% เนื่องจากแรงหนุนของนโยบายกระตุ้นการบริโภคน่าจะแผ่วตัวลง


ผลกระทบจากนโยบายด้านต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา

ผลกระทบจากนโยบายภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา เช่น การลดภาษีธุรกิจ และการลดจำนวนแรงงานต่างด้าว ในสภาวะที่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ว ๆ นี้ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ รวมถึงค่าเงินบาท


ผลกระทบจากนโยบายด้านกำแพงภาษี เช่น การตั้งกำแพงภาษีที่ 10% สำหรับสินค้าจากประเทศจีน อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจีนมากนัก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วนที่ราว 2.5% ของจีดีพี ในขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ 12.5% ของจีดีพี โดยคาดว่า หากนโยบายด้านกำแพงภาษีเกิดขึ้นจริง อาจมีผลให้จีดีพีของจีนลดลงราว 0.2 – 0.3% และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 0.1 – 0.2% อย่างไรก็ดี ยังยากที่จะคาดเดาจากสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน แต่มีความเป็นไปที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีกับประเทศอื่น ๆ อีกภายในปีนี้

นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ มีการตั้งกำแพงภาษีกับประเทศไทยโดยตรง อาจมีความท้าทายสูงกว่าประเทศจีน เนื่องจากไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 5% ของจีดีพี ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคการส่งออกมากกว่า
โอกาสของประเทศไทย

ประเทศในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย มีโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีน ด้วยเหตุผลดังนี้ ไทยมีข้อได้เปรียบในด้านค่าแรง หากพิจารณาจากปี 2009 ค่าแรงของไทยคิดเป็นอัตรา 110% เมื่อเทียบกับจีน ในขณะที่ในปี 2023 ปรับลดลงอยู่ที่ 70% โดยเห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปี 2015 ซึ่งคิดเป็นน้อยกว่า 10% ของ FDI ของไทย แต่ในปี 2023 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% โดยมีอุตสาหกรรมเด่น ๆ คือ อุตหสาหรกรรมยานยนต์ รวมถึงยังคงมีโอกาสในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การบริการ บริการด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทยอยู่แล้ว


เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดในการลงทุน ไทยควรเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนด้านการส่งออก เช่น ยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เคมี เกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรพื้นฐาน แปรรูป และสินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยเฉพาะในบริบทที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อการชะลอตัวของการบริโภค การเพิ่มความหลากหลายในด้านการส่งออกจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทย


นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทไทยน่าจะเป็นอานิสงส์ต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยอีกด้วย


ทั้งนี้ หากไทยสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดได้อีกมากถึง 27 ประเทศ และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจในการมาลงทุนในประเทศไทย ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการผลักดันอุตสาหกรรมที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ จากการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต นอกจากนั้น ประเทศในสหภาพยุโรปยังมีความต้องการสินค้าและบริการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูป ผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง สินค้าอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นกัน
พรบ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub)


สำหรับโอกาสความสำเร็จของประเทศไทยจากการมี พรบ.Financial Hub ยังมีคำถามว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน แต่การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการเงินได้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวย ไทยควรต้องคำนึงถึงทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย จึงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูง ไทยจึงต้องมองหาวิธีการดึงดูดแรงงานจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนต่อการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ตั้งแต่เรื่องของการศึกษา ความยากง่ายของการมาทำงานที่ประเทศไทย เครือข่ายด้านการคมนาคมทั้งภายในและระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ด้านวีซ่า ความสะดวกในการหาที่พักอาศัย อัตราภาษีสำหรับแรงงานชาวต่างชาติ และอื่น ๆ

นอกจากนี้ สิ่งที่ไทยควรให้ความสำคัญ คือการหาตลาดเฉพาะทางในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น ตลาดตราสาร การบริหารจัดการกองทุน การค้า และบริการคำแนะนำด้านกฎหมาย เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้