Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

367

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
Job Openings สหรัฐฯ: ความแข็งแกร่งที่ซ่อนความเปราะบาง?
Key Takeaways:

แม้ตัวเลข Job Openings เดือนพฤศจิกายน 2024 จะออกมาดีกว่าคาดที่ 8.1 ล้านตำแหน่ง แต่ไม่สามารถใช้ตัวแปรเดียวในการประเมินภาพรวมตลาดแรงงานได้ เนื่องจากข้อมูล High Frequency Economic Data มักมีความผันผวน

หากพิจารณาตัวชี้วัดตลาดแรงงานหลายตัวยังส่งสัญญาณเชิงลบ เช่น Nonfarm Payrolls ที่มักถูกปรับลดประมาณการย้อนหลัง, Quits Rate ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และ Wage Growth ที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 5.8% YoY ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

ความอ่อนแอของตลาดแรงงานส่งผลให้ Consumer Confidence Index ได้ปรับตัวลดลง 8.1 จุด และดัชนี Expectations Index ยังปรับตัวลงอย่างมีนัย สำคัญถึง 12.6 จุด มาอยู่ที่ระดับ 81.1 จุด เหนือระดับ threshold 80 ที่ถือเป็นสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

รายละเอียด:
Job Openings ออกมาดีกว่าคาด สื่ออะไรได้บ้าง
ปัจจุบันนักลงทุนได้ให้ความสนใจกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลด้านตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เฟดใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน ล่าสุด ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน หรือ JOLTs Job Openings เดือนพฤศจิกายน 2024 ได้สร้างเซอร์ไพร้ส์เชิงบวกให้กับตลาด จากการเพิ่มขึ้นถึง 259,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.1 ล้านตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 7.7 ล้านตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ในการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงาน เราไม่สามารถพิจารณาตัวแปรเพียงตัวเดียวเพื่อตีความภาพรวมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของข้อมูลความถี่สูง (High Frequency Data) ที่มักมีความผันผวนและอาจมีสัญญาณรบกวน (Noise) ปะปนอยู่ เห็นได้ชัดจากรูปแบบการเคลื่อนไหวของตัวเลข Job Openings ในช่วงปี 2023-2024 ที่มีหลายครั้งที่ดูเหมือนจะฟื้นตัว แต่กลับไม่สามารถรักษาแรงส่งนั้นไว้ได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า การอ้างอิงตัวเลขเดียวใน time series อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นการพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมจึงเป็นสิ่งจำเป็น


แนวโน้มตลาดแรงงานในมิติอื่น ๆ
การวิเคราะห์ภาพรวมตลาดแรงงานจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายด้านประกอบกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดอื่นๆ ร่วมด้วย กลับพบสัญญาณเชิงลบหลายประการ

ประการแรก: Nonfarm Payrolls
แม้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือนธันวาคม 2024 จะออกมาที่ 256,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 160,000 ตำแหน่ง แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มักตามมาด้วยการปรับลดตัวเลขย้อนหลังลง เช่น ตัวเลขเดือนพฤศจิกายนที่ถูกปรับลดลง 15,000 ตำแหน่ง ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบที่เกิดขึ้นตลอดปี 2024 ที่มีการปรับลดประมาณการถึง 8 ครั้งจาก 11 ครั้ง โดย downward revision ลักษณะนี้มักพบในช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจ จึงสะท้อนว่าตลาดแรงงานกำลังเผชิญความท้าทาย และแนวโน้มการจ้างงานใหม่อาจอ่อนแอลงในอนาคต

ประการที่สอง: Quits Rate
อัตราการลาออกจากงาน (Quits Rate) ก็ส่งสัญญาณเชิงลบ โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 รูปแบบนี้มีความคล้ายคลึงกับช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 2008-2009 โดยในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอลง คนงานมักลังเลที่จะลาออกจากงาน ทำให้ Quits Rate ต่ำลง ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นสัญญาณนั้นชัดขึ้น

ประการที่สาม: Wage Growth
อัตราการเติบโตของค่าจ้างมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากจุดสูงสุดที่ 15.4% YoY ในเดือนเมษายน 2021 สู่ระดับ 5.8% YoY ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2020 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวนับตั้งแต่ปี 1960 ที่ 6.2% การชะลอตัวของ Wage Growth นี้สอดคล้องกับทิศทางของ Quits Rate ที่ลดลง สะท้อนถึงอำนาจต่อรองของแรงงานที่อ่อนแอลง

ประการที่สี่: Layoffs
แม้อัตราการเลิกจ้าง (Layoffs) จะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่แนวโน้มเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่น่ากังวล โดยในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2024 อัตราการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11% YoY ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2024 ที่มีค่าเฉลี่ยติดลบ 2.1% การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการปรับตัวของตลาดแรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้น

ประการที่ห้า: Initial Claims
นอกจาก Layoffs ที่เพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Claims) ก็เริ่มส่งสัญญาณเชิงลบ โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 ตัวเลขได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแตกต่างจากแนวโน้มในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่มีค่าเฉลี่ย -2% สะท้อนถึงความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นในตลาดแรงงาน

ประการที่หก: Unemployment Level
แม้ว่าอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 4.2% ในเดือนพฤศจิกายนเป็น 4.1% ในเดือนธันวาคม 2024 แต่การเคลื่อนไหวในระยะสั้นนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าแนวโน้มระยะยาวจะดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้น YoY ของจำนวนผู้ว่างงาน (Unemployment Level) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 รูปแบบนี้มีความคล้ายคลึงกับช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 1990-1991


ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ความอ่อนแอของตลาดแรงงานได้เริ่มส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยในเดือนธันวาคม 2024 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index) ที่จัดทำโดย Conference Board ได้ปรับตัวลดลง 8.1 จุด และที่มากไปกว่านั้นคือ ดัชนี Expectations Index ยังปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 12.6 จุด มาอยู่ที่ระดับ 81.1 จุด เหนือระดับ threshold 80 ที่ถือเป็นสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมด จะเห็นได้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณชะลอตัวในหลายมิติ แม้จะมีตัวเลขบางตัวที่ดูเป็นบวก แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดกลับพบว่าแนวโน้มโดยรวมยังคงอ่อนแอ การชะลอตัวนี้อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศในไตรมาสแรกของปี 2025 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่กำลังมองหางานใหม่อาจต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะแข่งขันสูงขึ้นและมีโอกาสการจ้างงานที่จำกัดลง เรายังคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้สู่กรอบ 3.75%-4.0%

สรุปภาพตลาดวานนี้
ดัชนีย่อลงต่อ ไม่สนโทนี่ แรงขายมาจาก DELTA PTT นำลงแต่เช้า กลุ่มอิเล็กฯ ตามมา CCET และกลุ่ม BTS-VGI โดนทิ้ง จากนั้นการลงก็กระจายไปหลายกลุ่มทั้งคอมเมิร์ช CPAXT CRC HMPRO นอกจากนี้ มีหุ้นกลาง-เล็กลงแรง เช่น LTS AU KGEN MEB SISB NSL EE MONO ITEL เป็นต้น

แนวโน้มตลาดวันนี้
ยังเร็วไปที่จะถอดใจ
แม้ดัชนีฯจะไหลลงต่อ จากแรงขายกระจุกตัวในหุ้น PTT (กลัวโดนภาระแบกรับต้นทุนค่าก๊าซเพื่อช่วยค่าไฟ) DELTA (มีบิ๊กล็อตต่ำกว่ากระดาน และการออก Exchangeable bond กังวลแรงขายที่เกิดจากการแปลงสภาพฯ) แต่ราคาหุ้นอื่นที่ลง ดูจะไม่ได้กระจาย และปริมาณการซื้อขายเบาบางลง หากตัดบิ๊กล็อต DELTA ออก
เราประเมินการปรับฐานรอบนี้น่าจะเป็นช่วงท้ายๆ ของการลงสร้างฐาน เพื่อรอจังหวะเล่นเด้ง ซึ่งหุ้นที่แข็งกว่าตลาดยังคงเป็นกลุ่มธนาคาร และพบมีแรงซื้อเก็งกำไร-ซื้อคืน หุ้นที่ลงแรงก่อนหน้านี้ สวนตลาดขึ้นมา เช่น TRUE TOP TU ITC และหุ้นกลางเล็ก เช่น DITTO MEDEZE
ซึ่งถ้าประเมินว่า หุ้นไทยลงรอบนี้ตามตลาดต่างประเทศ เพราะ เฟดเปลี่ยนท่าทีไม่ลดดอกเบี้ย จนเกิดการแรลรี่ของค่าเงินดอลล์ และบอนด์ยิลด์ (เราเห็นว่าตลาดรับรู้ไปแล้วระดับหนึ่ง ยกเว้นเงินเฟ้อ CPI คืนนี้จะพุ่งขึ้นเกินคาด), รอดูแถลงนโยบายรับตำแหน่งของ ปธน.ทรัมป์ ว่าจะเร่งนโยบายกำแพงภาษีหรือไม่ (ซึ่งคงต้องไปรอพร้อมกันแต่ตลาดหุ้นก็ไหลลงเพราะเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง)
ส่วนเรื่องในประเทศ เช่น กลัวงบ 4Q แย่, การเมืองฯ เราเห็นว่ายังเร็วไปที่จะใส่ปัจจัยนี้ไปในตลาดหุ้น เพราะ งบที่ออกจะมีปันผลระหว่างกาลช่วยค้ำ (ยกเว้นจะแย่จนรับไม่ได้) รวมไปถึงการเมืองที่เริ่มเห็นการจุดกระแสชุมนุม หรือต่อต้านรัฐบาล (ตอนนี้ยังไม่น่าจะเป็นช่วงที่สุกงอมจนต้องออกมาลงถนน)

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกสะสมหุ้นกลุ่มเด่นที่เราคาดว่าจะมี Flows หมุนเข้ามาเล่น และหุ้นรายตัวที่มีประเด็นสนับสนุน

วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET Index หลุด low ผิดคาด! ขณะที่ DELTA & PTT กดดัชนีรวมกันทั้งสิ้น -7.5 จุด (มากกว่าครึ่ง) ปัจจุบันดัชนีหลุดตำแหน่ง Fibonacci retracement 61.8% กำลังเคลื่อนเข้าสู่เขตแดน oversold จับตา RSI เกิดภาพ divergence! เตือนปลายทางขาลง (รูปแบบคล้ายเดือนส.ค. 2567)

สรุป: แนวโน้มตลาดลงต่ำคาด แต่หุ้นแนะนำ หุ้นที่เลือก เช่น กลุ่มธนาคาร (KTB, BBL, KBNAK) สื่อสาร (INTUCH) ค้าปลีก (CPAXT) ถือว่าสู้กับตลาดขาลงได้อย่างแข็งแกร่ง ติดตามแผนเทรดในหน้าถัดไป
Note: SET รอและลุ้นการรีบาวด์ในช่วง 1-2 วันข้างหน้าครับ

 


What to watch
ตัวเลขเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ คาดรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ CPI และ PPI ยังทรงตัวในระดับสูง, GDP จีน ยังขยายตัว 5%, ธนาคารกลางเกาหลีใต้ คาดลดดอกเบี้ย
ครม.เห็นชอบ พรบ.คาสิโนฯ: รอกฤษฎีกาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 45 วัน เชื่อทันเข้าวาระพิจารณาในสภาฯ สมัยนี้
แนวทางเยียวยา และฟื้นฟู เศรษฐกิจสหรัฐ จากไฟป่าครั้งใหญ่ใน LA ซึ่งจะมีผลต่อหุ้นเชื่อมโยง อย่างสินค้าโภคภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และงานโครงสร้างพื้นฐาน

หุ้นแนะนำวันนี้
BDMS ฟางเส้นท้าย หากหลุด 23 บาท เราแนะนำ Stop loss (S 23.2 R 24 SL 23)


รายงานพื้นฐานวันนี้

SCGP
เอสซีจี แพคเกจจิ้ง
โอกาสสะสมหุ้นรอการฟื้นตัว
เราคาดกำไรหลัก 4Q24 ที่ 191 ล้านบาท (-86% YoY, -72% QoQ) โดยได้รับผลกระทบจากธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous) ที่รายได้ลดลง การขาดทุนมากขึ้นของ Fajar และการชะลอตัวของธุรกิจรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Integrated Packaging (IP) ที่ปรับตัวดีขึ้น จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และอัตรากำไรที่สูงขึ้น ช่วยบรรเทาการหดตัวของกำไรได้บางส่วน
แนวโน้ม 1Q25 คาดกำไรจะฟื้นตัว QoQ จากทั้งธุรกิจ IP และ Fibrous โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณขายที่สูงขึ้น ราคาขายที่ดีขึ้น และการฟื้นตัวของดีมานด์ในจีน แต่ในแง่ YoY กำไรยังคงลดลงจากราคาขายสินค้าที่ต่ำลงและอัตรากำไรที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ในเชิง Valuation ราคาหุ้นซื้อ-ขายถูก โดย PER ปี 2025 ที่ 17.3 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 18.2 เท่า) และ PBV ปี 2025 ที่ 0.7 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 1.1 เท่า) สะท้อนถึงการรับรู้ถึงกำไรที่อ่อนแอใน 4Q24 ไปแล้ว
Fundamental view: เรามองว่านี่เป็นโอกาสสะสมหุ้นก่อนการฟื้นตัวของกำไรใน 1Q25 โดยกำนดราคาเป้าหมายที่ 22 บาท (ปรับลดลงจาก 30 บาท)

CRC
เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น
ประเด็นติดตามในงาน BLS Thai Corporate Day
CRC จะเข้าร่วมงาน Thai Corporate Day วันที่ 16 ม.ค. โดยผู้บริหารจะเปิดเผยกลยุทธ์สำคัญในการฟื้นตัวของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) และการบริหารต้นทุนที่โดดเด่น ซึ่งทำให้เราคาดการณ์กำไรหลักปี 2025 เติบโตถึง 15% YoY โดย CRC ยังคงเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มค้าปลีก โดยงานนี้ เราแนะนำติดตาม
1) แนวโน้มฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของ SSSG ธุรกิจในไทย หลังจากที่ SSSG ใน 4Q24 คาดหดตัวเพียง 1% ดีขึ้นจาก -3% ใน 3Q24 โดยธุรกิจในไทยมี SSSG พลิกกลับมาโต 1-2% หลังจากกลับมาเปิดสาขาหลัก
2) กลยุทธ์การบริหารต้นทุน-ค่าใช้จ่าย โดยใน 9M24 SG&A/Revenue ลงเหลือ 27.4% (จาก 28.3% ใน 9M23) ผ่านการจัดการสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น และค่าไฟฟ้าลดลง นอกจากนี้ หากรัฐบาลลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาท/หน่วยใน ปี 2025 คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรหลักได้ราว 5%
3) เป้าหมายและกลยุทธ์ปี 2025 ที่ผู้บริหาร CRC จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยหนุนกำไรเติบโต 15% YoY พร้อมอัปเดตแผนการพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ในการรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรม
Fundamental view: เราแนะนำ ซื้อ โดยคงราคาเป้าหมายที่ 38.00 บาท และยืนยันว่า CRC ยังคงเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มค้าปลีก


รายงานผลประกอบการวันนี้

TISCO
ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
TISCO รายงานกำไรสุทธิ 4Q24 ที่ 1.7 พันล้านบาท เป็นไปตามที่เราและตลาดคาด โดยลดลง 4% YoY (NIM อ่อนตัวลงและ credit cost สูงขึ้น) และ 1% QoQ (ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้น) ด้านคุณภาพสินทรัพย์ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน โดย NPLs/loans ratio ณ YE24 ปรับลดลงมาที่ 2.35% ขณะที่ loan-loss coverage ratio ก็ปรับลดลงมาที่ 155.3%
เราคาดกำไรสุทธิ 1Q25 จะลดลง 7% YoY และ 5% QoQ จากแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ฯ สูงขึ้น ทั้งนี้ เราคาดแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2025 ให้ลดลง 5% YoY กดดันจากแนวโน้ม credit cost ปรับสูงขึ้น เราจึงยังแนะนำขาย โดยในกลุ่มธนาคาร เราชอบ BBL, KBANK และ KTB


วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ประคับประคอง By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ บ่ายวันนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย คงประคับ ประคอง แกว่งตัวไปมา ท่ามกลาง บริษัทจดทะเบียนไทย...

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้