Today’s NEWS FEED

News Feed

Krungthai COMPASS ส่องแนวโน้มธุรกิจเม็ดพลาสติกไทย ท่ามกลางปัญหาสินค้าจีนทะลัก และแรงกดดันด้าน ESG

340

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (14 มกราคม 2568)-------Key Highlights

=    Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2568-69 ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทยจะอยู่ที่ 10-11 ล้านตันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2560-62 ราว 15% โดยมีปัจจัยกดดันหลักมาจาก 1) ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มลดลงตามการผลิตรถยนต์ของไทย 2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการแข่งขันกับสินค้าจีนที่สูงขึ้น จากปัญหา Overcapacity และ 3) ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อเม็ดพลาสติกไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน

=     นอกจากนี้ ในระยะถัดไปยังมีปัจจัยท้าทายด้าน ESG ที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป และมาตรฐาน Thailand Taxonomy ซึ่งอาจกดดันต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันของ
ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย

=    Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพและเม็ดพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ (Specialty Polymers) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 9.5%CAGR และ 13.5%CAGR ตามลำดับ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับเม็ดพลาสติกทั่วไป (Commercial grade) และช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว นอกจากนี้ การติดตั้งเทคโนโลยี CCUS เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดแรงกดดันด้าน ESG และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593

 

ธุรกิจเม็ดพลาสติกถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของการผลิต การส่งออก และการใช้ภายในประเทศ โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมพลาสติกของไทยมีมูลค่ารวม 1.28 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของ GDP อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเม็ดพลาสติกที่สำคัญของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกเม็ดพลาสติกอันดับที่ 12 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันที่สูงจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดอาเซียน รวมถึงไทย นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้และอัตรากำไรของธุรกิจเม็ดพลาสติก บทความนี้จึงจะฉายภาพให้ทุกท่านได้เห็นถึงแนวโน้มธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยในปี 2568-69 พร้อมทั้งแนะนำแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน
 
โครงสร้างของธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยเป็นอย่างไร
ธุรกิจเม็ดพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเม็ดพลาสติกส่วนใหญ่ผลิตจากแนฟทา (Naphtha) ซึ่งได้จากการกลั่นน้ำมันดิบหรือแยกก๊าซธรรมชาติ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการแยกโมเลกุลเพื่อให้ได้สารประกอบขนาดเล็กแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1)    สายโอเลฟินส์ (Olefins) เช่น เอทิลีน (Ethylene) และโพรพิลีน (Propylene)
2)    สายอะโรเมติกส์ (Aromatics) เช่น เบนซีน (Benzene) และพาราไซลีน (Paraxylene)
ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกประเภทต่างๆ เช่น โพลิเอทิลีน (PE) โพลิโพรพิลีน (PP) โพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) เป็นต้น โดยเม็ดพลาสติกราว 50% จะถูกส่งออกไปต่างประเทศ และส่วนที่เหลือจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ (38%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (16%) ก่อสร้าง (16%) และรถยนต์ (7%) เป็นต้น
 

 
แนวโน้มธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยในปี 2568-69 จะเป็นอย่างไร
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2568-69 ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทยจะอยู่ที่ 10-11 ล้านตันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2560-62 เฉลี่ยที่ 12.3 ล้านตันต่อปี แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายตัวของการค้าออนไลน์ (e-Commerce) และการจัดส่งอาหาร (Food delivery) จะทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เม็ดพลาสติกมากถึง 38% ของปริมาณเม็ดพลาสติกทั้งหมด อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยหนุนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศอย่างไรก็ดี ในปี 2568-69 ปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และการแข่งขันกับเม็ดพลาสติกจากคู่แข่งที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เนื่องจากจีนสามารถผลิตเม็ดพลาสติกในปริมาณมากด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกจีนต่ำกว่าไทย ซึ่งอาจกดดันต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก
 


ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วง Pre-COVID กดดันต่ออัตราการใช้กำลังการผลิตของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกของไทย โดยคาดว่าในปี 2568-69 อัตราการใช้กำลังการผลิตเม็ดพลาสติกของไทยจะอยู่ที่ 82.1% และ 82.5% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งลดลงถึง 15% จากระดับ 96.6% ในปี 2560 นอกจากปัจจัยกดดันด้านปริมาณแล้ว ยังมีปัจจัยกดดันด้านราคาเม็ดพลาสติกที่มีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อาจกดดันต่อรายได้ของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกไทย โดยคาดว่าในปี 2568-69 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70.5 และ 69.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลง -11.4% และ -1.3% ตามลำดับ ทำให้ราคาแนฟทาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับความต้องการเม็ดพลาสติกที่อ่อนแอตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติกเฉลี่ยในกลุ่ม PE, PP และ PET ของตลาดอาเซียนมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ราว 956 และ 988 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตามลำดับ
 
 
 
3 ปัจจัยกดดันธุรกิจเม็ดพลาสติกไทย ในปี 2568-69 Krungthai COMPASS ประเมินว่า การจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศและส่งออกของไทยในปี 2568-69 เผชิญ 3 ปัจจัยกดดันหลัก ดังนี้
1.    ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง
ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีแนวโน้มลดลงตามปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกในประเทศของไทยในปี 2568-69 จะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ แต่ยังถูกกดดันจากปริมาณการผลิตรถยนต์ของไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่เพียง 1.47-1.53 ล้านคันต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2560-62 ที่ 2.06 ล้านคันต่อปี เกือบ 30% โดยปัจจัยกดดันมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่จำกัดจากหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากการที่ไทยเน้นผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นหลัก ขณะที่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ ICE ที่ผลิตในไทย โดยเฉพาะรถยนต์ EV ที่นำเข้าจากจีน ทำให้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ปริมาณการผลิตรถยนต์ ICE ของไทยยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย
 
 
2.    การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการแข่งขันกับสินค้าจีนที่สูงขึ้น
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดย IMF ประเมินว่า ในช่วงปี 2568-69 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 4.3% ต่อปี  ซึ่งลดลงจากขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ในช่วงปี 2560-62 ประกอบกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และจีนมีนโยบายพึ่งพาตนเอง (Self-Sufficiency) เพื่อลดการนำเข้า ทำให้ความต้องการนำเข้าเม็ดพลาสติกสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในจีนมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับข้อมูลของ Nexant ประเมินว่า ในปี 2568-69 ความต้องการเม็ดพลาสติก PE และ PP ในจีนเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 46 และ 39 ล้านตัน ตามลำดับ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปี ลดลงจากขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี ในปี 2560-66 ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 30% ของปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมด
 
 
นอกจากนี้ ยังมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (Over capacity) ในจีน ทำให้เม็ดพลาสติกจีนมีแนวโน้มเข้ามาตีตลาดอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา จีนมีการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก PP จากนโยบายพึ่งพาการผลิตในประเทศ ขณะที่ความต้องการเม็ดพลาสติกในจีนมีแนวโน้มลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้ผลิตจีนส่งออกเม็ดพลาสติกเข้ามาตีตลาดอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น สะท้อนจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของจีนในตลาดอาเซียนสูงถึง 21% จาก 7% ในปี 2562 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของไทยในตลาดอาเซียนลดลงเหลือเพียง 6% จาก 11% ในปี 2562 เช่นเดียวกับส่วนแบ่งตลาดของเม็ดพลาสติก PP ของจีนในไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33% จาก 13% ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลของ Nexant ประเมินว่า ในปี 2568-69 จะมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเม็ดพลาสติก PP ในจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 12 ล้านตันต่อปี ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกของไทยเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นกับเม็ดพลาสติกจีนทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
 
 
3.    ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกเม็ดพลาสติกไทย เมื่อเดือน พ.ค. 2567 สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25%-100% โดยครอบคลุมสินค้าต่างๆ ที่ใช้เม็ดพลาสติกเป็นส่วนประกอบ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และหน้ากาก เป็นต้น นอกจากนี้ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 60% อาจทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเม็ดพลาสติกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงที่เม็ดพลาสติกจีนจะทะลักเข้ามาในไทยและประเทศที่ไทยส่งออกอย่างกลุ่มอาเซียนมากขึ้น
 

 
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปของธุรกิจเม็ดพลาสติกไทย
1.    ประเด็นด้าน ESG ของประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นขึ้น
สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น กดดันต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย โดยปัจจุบัน สหภาพยุโรปออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 โดยสินค้าที่ถูกจัดเก็บภาษีคาร์บอนในระยะแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในกระบวนการผลิตอย่างไรก็ดี ในปี 2569 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อาจขยายขอบเขตของมาตรการ CBAM ไปยังสินค้ากลุ่มเม็ดพลาสติก ซึ่งอาจกดดันผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย โดยเฉพาะโพลิคาร์บอเนต (Polycarbonate: PC) และโพลิเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง (HDPE) ซึ่งมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 7.78 และ 6.71 kgCO2e ต่อหน่วย  ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับพลาสติกชนิดอื่น และสูงกว่าสินค้าที่ถูกจัดเก็บมาตรการ CBAM ในระยะแรกอย่างเหล็กและอะลูมิเนียมนอกจากนี้ สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย Clean Competition Act เพื่อจัดเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2569 ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้น
 

 
2.    Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ครอบคลุมกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น
Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบัน Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ โดยครอบคลุมอีก 4 ภาคเศรษฐกิจ เพิ่มเติมจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง ได้แก่ 1) ภาคเกษตร 2) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3) ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ และ 4) ภาคการจัดการของเสีย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “เจาะลึก Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ก้าวสู่มาตรฐานสีเขียวในภาคเกษตร การผลิต อสังหาริมทรัพย์ และการจัดการของเสีย”โดย Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตครอบคลุมการผลิตเคมีภัณฑ์อินทรีย์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกจากฟอสซิล อาจกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทย เนื่องจากธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกไทยต้องใช้เงินลงทุนที่สูง เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับเกณฑ์ ESG เช่น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนอกจากนี้ หากบริษัทผลิตเม็ดพลาสติกไทยไม่สามารถปรับตัวได้ตามมาตรฐาน Thailand Taxonomy อาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ลดลงหรือไม่ได้รับการสนับสนุนอีกด้วย
 

 
แนวทางในการปรับตัวของธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยให้เติบโตยั่งยืน
1.    ผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกจากทรัพยากรหมุนเวียนมากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกชีวภาพและเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากประเทศคู่ค้า โดย Market Research Future (2024) และ Grand View Research (2024) ประเมินว่า ในปี 2575 มูลค่าตลาดเม็ดพลาสติกจากวัสดุชีวมวลและเม็ดพลาสติกรีไซเคิลของโลกจะสูงถึง 46 และ 90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.5%CAGR และ 9.5%CAGR ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าเม็ดพลาสติกจากฟอสซิลที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.5%CAGR
 

 
2.    ต่อยอดสู่เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ (Specialty Polymers) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยสามารถต่อยอดสู่เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยภาครัฐออกนโยบาย 30@30 โดยมีเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573  ซึ่งจะทำให้ความต้องการเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Credence Research (2024) ประเมินว่า ในปี 2575 มูลค่าตลาดเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะสูงถึง 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 13.5%CAGR
เนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ต่อคัน  โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนัก และการเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ตัวถัง โครงสร้างรถยนต์ และส่วนประกอบของแบตเตอรี่ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสสำหรับเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษที่ใช้เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น PE  Compounds และ PP Compounds เป็นต้น เนื่องจากเป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติทนต่ออุณหภูมิสูง ทนทานต่อแรงกระแทก และน้ำหนักเบา ซึ่งนอกจากจะช่วยหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าเม็ดพลาสติกทั่วไป (Commercial grade) แล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดจากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยในระยะยาว
 
3.    ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งติดตั้งเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก เช่น การใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดการใช้ทรัพยากร ทั้งวัตถุดิบและพลังงาน รวมทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกใหม่ที่มีคุณภาพและยั่งยืนมากขึ้น


นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกไทยอาจพิจารณาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization, and Storage: CCUS) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าการลงทุนในเทคโนโลยี CCUS จะมีระยะเวลาคืนทุนราว 5-10 ปีขึ้นไป  ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับ โดยหากมีการขายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มต่างๆ เพื่อจำหน่าย เช่น เม็ดพลาสติกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2-Based Polymers) และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น จะสามารถลดระยะเวลาคืนทุนได้มากกว่าการกักเก็บคาร์บอนเพียงอย่างเดียวหรือไม่ได้มีการแปลงสภาพของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับ ทั้งนี้ การลงทุนในเทคโนโลยี CCUS จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาษีคาร์บอนของประเทศคู่ค้า รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593


 
Implication:
    Krungthai COMPASS มองว่า ธุรกิจเม็ดพลาสติกไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการแข่งขันกับเม็ดพลาสติกจีนที่สูงขึ้น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงแรงกดดันด้าน ESG ดังนั้น ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยควรปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ดังนี้
•    ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกไทยอาจร่วมมือกับพันธมิตรในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคุณภาพสูง รวมทั้งลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวมากขึ้น โดยอาจร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐในการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพและเม็ดพลาสติกรีไซเคิล รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของเม็ดพลาสติกให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น เม็ดพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าเม็ดพลาสติกทั่วไป และช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อาจลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเทคโนโลยี CCUS เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
•    ภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว เช่น การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพหรือการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี CCUS ให้มีต้นทุนที่ลดลง ควบคู่ไปกับการเร่งออกมาตรการสนับสนุนเชิงนโยบาย เช่น มาตรการภาษีพลาสติก (Plastic Tax) ข้อกำหนดสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิล (Recycled Content) ในผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติก การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิลและการจัดการขยะพลาสติก เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจนำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น
•    ภาคการเงินสามารถให้คำปรึกษา รวมทั้งพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ของไทยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างโครงการ “Financing the Transition” ของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารพาณิชย์ไทย ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loans) และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และจูงใจให้ธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

ดันต่อ By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง วันนี้ หุ้นใหญ่ หน้าเดิม ดันSET ฝ่า 1,200 จุด ต่อ การสลับหน้าที่กันไป ห้วงระหว่างอยู่ ผลการ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้