AT THE OPEN (#ATO)
SET Index ยังพักตัว
เลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว
Market Strategy
SET Index คาดแกว่งพักตัวตามกรอบ 1370-1390 จุด ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ด้านปัจจัยภายในยังกังวลต่อแรงขาย LTF และประเด็น GMT แต่จะกระทบบางบริษัทเท่านั้น กลยุทธ์วันนี้เลือกหุ้น CBG และ SPRC
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วานนี้ปรับลงเฉลี่ยในช่วง -0.2% ถึง -0.4% แรงกดดันจาก U.S. Bond Yield 10 ปีที่ทรงตัวในระดับสูงที่ 4.57% จากความกังวลต่อ FED ลดดอกเบี้ยช้า ซึ่งอิง FEDWATCH Tool ตลาดคาดการปรับลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้งในช่วง 2Q68 โดยประเด็นที่สนับสนุนมุมมองคือการรายงาน Initial Jobless Claim วานนี้เพิ่มขึ้น 2.11 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าตลาดคาด 2.25 แสนตำแหน่ง สะท้อนตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังอยู่ในจุดที่ดี เป็นแรงกดดันต่อทิศทาง Fund Flow ที่จะไม่ไหลกลับ
สำหรับในประเทศประเด็นเรื่อง Global Minimum Tax (GMT) 15% ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.68 โดยจะบังคับใช้กับบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ต่อปีเกิน 750 ล้านยูโร (ประมาณ 28,500 ล้านบาท หรือ 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมี Effective Tax Rate (ETR) ต่ำกว่า 15% บริษัทเหล่านี้จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมให้กรมสรรพากรและ BOI เพื่อให้ ETR รวมของบริษัทแม่อยู่ที่ 15% ซึ่งทาง BOI มีแนวทางลดผลกระทบส่วนหนึ่งผ่านการคืนเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทาง R&D และพัฒนาบุคลากรตามเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับผลต่อบริษัทจดะเบียนที่กระทบ กลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ DELTA ที่ ETR อยู่ที่ 3% ทำให้ต้องมีการเสียภาษีเพิ่มขึ้นในปีนี้ 12% ซึ่งในสมมติฐานปี 68 ETR เราอยู่ที่ 11% Downside ต่อประมาณการอยู่ที่ 4% ขณะที่ CCET อาจมีผลกระทบ ETR ที่บางไตรมาสจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วง 4-5% แต่สมมติฐานปี 68 ETR เราทำไว้ที่ 17% จึงไม่กระทบต่อประมาณการ ขณะที่ KCE และ HANA รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ GMT ส่วนกลุ่มอื่นๆ TU ปัจจุบัน ETR อยู่ประมาณ 9% ทำให้เสียภาษีเพิ่มปีนี้ 6% แต่เราใส่ ETR ที่ 15% จึงไม่สร้าง Downside ต่อประมาณการของเรา ส่วน CPF การจ่าย ETR มากกว่า 15% จึงไม่มีผลกระทบต่อประมาณการใดๆ
Market Summary
SET Index ปรับลงแรง 20 จุด แรงกดดันหลักมาจาก DELTA ที่ -8.9% กระทบดัชนีไป -13.5 จุด จากความกังวลต่อผลกระทบการเริ่มใช้ GMT ในปีนี้ เช่นเดียวกับ TU -1.5% ส่วนบริษัทอื่นที่กดดันจะเป็นหุ้นที่ปี 67 ปรับขึ้นแรงอย่าง GULF -4.6% INTUCH -3.4% กลุ่มที่ Outperform กลุ่มปิโตรฯ PTTGC +5.5% PTTEP +4.6% ที่ฟื้นตัวตามราคาน้ำมันดิบ กลุ่มโรงพยาบาล BDMS +0.4% BH +1.8% รีบาวน์หลังปรับฐานจน Valuation น่าสนใจ
ATO Daily Stock Picks
แนะนำ CBG SPRC
SPRC
Valuation อยู่ในระดับ
น่าสนใจ
SPRC จะได้ประโยชน์จากทิศทางค่าการกลั่น ที่กลับฟื้นตัวมาตัว โดย 4QTD ค่า GRM เฉลี่ยอยู่ที่ 5 เหรียญฯ เพิ่มขึ้น 38%QoQ และน่าจะดีต่อเนื่องไปถึง 1Q68 ตามปัจจัยทางฤดูกาล
ขณะที่ทิศทางค่าการกลั่นปี 68 เราคาด GRM เฉลี่ยอยู่ที่ 6 เหรียญฯ ฟื้นตัวจากปี 67 ที่เฉลี่ย 5 เหรียญฯ โดยมีแรงหนุนจาก Supply Growth ที่เพิ่มขึ้น 0.6 mbpd ในอัตราที่น้อยกว่า Demand Growth ที่คาดเพิ่มขึ้นในช่วง 0.9 – 1 mbps ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนผลประกอบการ SPRC ซึ่งในปี 68 ต่อไป
ราคาหุ้นถูกอยู่มากสะท้อนจากการซื้อขายบน PBV ปี 67/68 ที่ 0.63/0.54 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี เกือบ 2 S.D. ขณะที่ระยะสั้นเรามองได้ Sentiment บวกจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงการเกิด Inventory Loss
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 11.10 บาท
CBG
ปรับคำแนะนำ
ขึ้นเป็น “ซื้อ”
เราได้ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” จากเดิม “ถือ” พร้อมปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 91 บาท โดยอิงจาก PER68 ที่ 29 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี -0.75 SD)
คาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของ CBG จะเพิ่มขึ้นต่อในปี 68 จากกลยุทธ์ด้านราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งที่ 10 บาท/ขวด ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 26% ณ สิ้นปี 67 เป็น 27.5% ในปี 68 (เทียบกับเป้าหมายที่ 29%) หนุนยอดขายในประเทศขยายตัว 7%YoY
ด้านยอดขายในต่างประเทศของ CBG คาดเติบโต 8% ในปี 68 จากยอดขายที่ฟื้นตัวในตลาด CLMV และยังเห็นโอกาสปรับประมาณการ EPS ปี 68-69 ขึ้น 3-8% จากการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงงานใหม่ในเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใน 2Q68 ทั้งนี้ปัจจุบันเราคาดการณ์กำไรหลัก CBG ปี 68 ขยายตัว 11%YoY เด่นกว่าคู่แข่งอย่าง OSP ที่คาดขยายตัวต่ำเพียง 3.6%YoY
เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 91.00บาท
KEY FACTOR
หลังผ่านพ้นช่วงวันหยุดปีใหม่ตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะเริ่มให้น้ำหนักการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. รวมถึงตัวเลขรายปี ทั้งของไทย นำโดย 1) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย ในเดือน ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 48.4 ชะลอตัวลงจาก 49.3 ในเดือน พ.ย. โดยภาพรวม มาจากแรงหนุนภาคบริการ กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม และ ร้านอาหาร ในขณะที่ต่างประเทศ นำโดย 2) ดัชนี HCOB PMI ของ Eurozone (ครั้งสุดท้าย) ภาคการผลิต ทรงตัวต่ำที่ระดับ 45.1 ใกล้เคียงคาดที่ 45.2 3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2.11 แสนราย ใกล้เคียงกับ Consensus คาดที่ +2.21 แสนราย 3) S&P PMI ของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. (ครั้งสุดท้าย) อยู่ที่ระดับ 49.4 ถูกปรับขึ้นจาก 48.3 ในประมาณการณ์ครั้งก่อน
โดยในวันนี้จะต่อเนื่องด้วย ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ แนวโน้มน่าจะทรงตัวที่ 45.2 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจากชุดข้อมูลดังกล่าวน่าจะยังจำกัด และค่อยๆ ยกระดับขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน ม.ค. ซึ่งจะทยอยมีตัวเลขสำคัญ นำโดย ตัวเลขภาคแรงงานเดือน
ธ.ค. ของสหรัฐฯ (วันที่ 8 ม.ค.) และ รายงานการประชุม FOMC เดือน ธ.ค. (วันที่ 9 ม.ค.)
EYES ON
3 ม.ค. ISM ภาคการผลิตสหรัฐฯ
นักกลยุทธ์ : ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์, ชาญชัย พันทาธนากิจ