Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

392

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม

Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
อัปเดตแนวโน้มการลงทุนในตลาดพันธบัตร
ปี 2024 นับเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างมาก อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่นอนในนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve หรือ Fed) และเงินเฟ้อ รวมถึงพลวัตทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ตลาดพันธบัตรได้เผชิญกับแรงเทขายอย่างหนัก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (yield) ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.74% สาเหตุหลักมาจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ 2% อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนมุมมองว่า Fed อาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เดิม (higher for longer scenario) อย่างไรก็ตาม เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงกลางปี ความกังวลดังกล่าวได้คลี่คลายลง ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้าสู่ตลาดพันธบัตร ผลักดันให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.62%

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องระหว่างความรู้สึกของตลาด (market sentiment) กับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ (economic reality) ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้บ่อยในตลาดการเงิน โดยในระยะสั้น การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์มักถูกขับเคลื่อนด้วย market sentiment แต่ในระยะกลางถึงยาว reality มักเป็นปัจจัยชี้ขาดที่กำหนดทิศทางของราคาสินทรัพย์ในที่สุด

เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 สถานการณ์กลับพลิกผันอีกครั้ง แม้ว่าตลาดจะคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในช่วงกลางปี แต่ความไม่แน่นอนใหม่ได้เกิดขึ้นเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นอีกครั้งสู่ระดับ 4.6% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์อาจนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าความวิตกดังกล่าวอาจเป็นการตอบสนองที่มากเกินไปของตลาด มีเหตุผลสำคัญหลายประการที่สนับสนุนมุมมองว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่กลับมารุนแรงในทันทีภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่อาจช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประการแรก หากพิจารณาพฤติกรรมของทรัมป์ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก จะพบว่าเขามักใช้กลยุทธ์ "บีบไปเจรจาไป" โดยแสดงท่าทีแข็งกร้าวเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการเจรจากับประเทศคู่ค้า ซึ่งในอดีต สงครามการค้าในปี 2018 แม้ว่าจะสร้างความตึงเครียดในระดับโลก แต่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (CPI) กลับไม่ได้เร่งตัวขึ้น โดยในความเป็นจริงกลับชะลอตัวลงจาก 2.9% (YoY) ในเดือนกรกฎาคม สู่ระดับ 1.9% (YoY) ในเดือนธันวาคม

ประการที่สอง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อน (mild recession) ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในหมวดสินค้าและบริการ นอกจากนี้ หมวด Shelter ที่มีน้ำหนักถึง 36.6% ในตะกร้า CPI ข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2024 แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในหมวดนี้ชะลอตัวลงเหลือ 4.7% YoY จากระดับ 6.1% YoY ในเดือนมกราคม ทิศทางการชะลอตัวนี้มีแนวโน้มดำเนินต่อเนื่องในเดือนต่อๆ ไป อันเป็นผลจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่อยู่อาศัย สะท้อนจากรายงานของ Redfin ที่ระบุว่าอัตราการดูดซับอพาร์ตเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 อยู่ที่ระดับ 50-55% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ปี 2020 การทยอยเข้าสู่ตลาดของอพาร์ตเมนต์ใหม่จะยิ่งเพิ่มอุปทานและสร้างแรงกดดันต่อราคาค่าเช่าอย่างต่อเนื่องในปี 2025
ประการที่สาม แม้ว่าขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ในปัจจุบันจะสูงถึง -6% ของ GDP แต่เรามองว่าตลาดพันธบัตรไม่น่าจะเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงตามที่หลายฝ่ายกำลังกังวล เนื่องจาก Fed จะยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะ Buyer of Last Resort หากเกิดความไม่แน่นอนในตลาด เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ที่ Fed มีศักยภาพและความสามารถในการแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ


สำหรับมุมมองทางด้านนโยบายทางการเงิน เราคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ท่ามกลางภาวะ mild recession และเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดพันธบัตรได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น
แม้เราจะยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดพันธบัตรตามเหตุผลข้างต้น แต่ต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นของตลาดในขณะนี้ยังโน้มเอียงไปในทิศทางที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็น soft landing พร้อมกับระดับเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวสูง อารมณ์การลงทุนเช่นนี้อาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2025 ซึ่งเป็นช่วงที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ


โดยสรุป แม้ตลาดพันธบัตรจะยังคงเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้น แต่โอกาสในการลงทุนยังมีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อ Fed มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อ ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างอ่อน ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้พันธบัตรมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในปี 2025 นอกจากนี้ พันธบัตรยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับ ผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดหุ้น


สรุปภาพตลาดวานนี้ SET ส่งท้ายปีที่ 1400 แบบสู้ชีวิตมาก เพราะมีแรงขายออกมาช่วงบ่าย โดยเฉพาะหุ้นใหญ่ที่บวกอยู่ดีๆ ก็เหมือนโดน นลท. ล้างพอร์ตดัก เช่น DELTA AOT ADVANC GULF เป็นต้น แต่ก็มีแรงซื้อดันดัชนีไว้ จากหลายกลุ่มที่ทำ Window Dressing เช่น BTS-VGI และธนาคาร ไฟแนนซ์

แนวโน้มตลาดวันนี้
แรงขาย LTF!? วนมาถกกันทุกต้นปี
เหมือนทุกต้นปี ที่นักลงทุนจะเริ่มตั้งคำถามว่า กองทุนรวมลดหย่อนภาษีอย่าง LTF ที่หมดอายุจะขาย และไถ่ถอน จนกดดันให้หุ้นไทยตกหรือไม่
จากที่เราเก็บข้อมูลจะพบว่า ตลอด 5 ปีปฏิทินที่ผ่านมากอง LTF ที่ครบอายุจะมีแรงขายเฉลี่ยราวปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท และเห็นว่าแนวโน้ม การขายลดลงเรื่อยๆในทุกๆปี จนตอนนี้เหลือค้างอยู่ในระบบราว 2.3-2.5 แสนกว่าล้านบาท โดยล่าสุดใน ม.ค. 2024 มี NAV ที่ลดลงราว 1.6 หมื่นล้านบาท (แรงขายผสมกับ SET ที่ลง)

ส่วนปี 2025 นี้ ตลาดหุ้นเราได้มีกองทุนใหม่เพื่อลดหย่อนภาษีมาเพิ่มทางเลือกให้ นักลงทุนที่ต้องการประหยัดภาษีได้ เข้าลงทุนแทน LTF เราคาดว่า แม้จะมีแรงขายกอง LTF ออกมาบ้างแต่ เชื่อว่า เม็ดเงินฝั่งซื้อกองฯ ใหม่น่าจะชดเชยแรงขายดังกล่าวได้ แต่ฝั่ง นลท.ที่มองตลาดเป็นขาลง (หมี) อาจให้เหตุผลว่า แรงซื้อกองใหม่นั้นไม่ฮิต และไม่น่าจะเยอะพอชดเชยแรงขาย LTF

แต่เรามองในอีกมุม หากตรงข้าม-กองทุนฯเตรียมเงินไว้รองรับการไถ่ถอนช่วงต้นปีไว้เพียงพออยู่แล้ว จากการขายสุทธิในช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อพบการไถ่ถอนไม่มากอย่างที่ประเมิน เราเชื่อว่า อาจจะเป็นการเพิ่มแรงซื้อฝั่งกองทุนในช่วง ต้นปี บวกกับเงินใหม่จากการเร่งซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในสัปดาห์ทำการสุดท้าย เข้ามาเก็บหุ้นไทยในช่วงต้นปี แม้ว่านโยบายลงทุนบางส่วนอาจเล็งไปที่หุ้นต่างประเทศ แต่เราเชื่อว่า หุ้นไทยยังมีโอกาสรับเม็ดเงินลงทุน จากความถูกของราคาหุ้นไทยหลายตัว เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ

คาดกรอบตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ที่ 1,385-1,407 จุด

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกสะสมหุ้นกลุ่มเด่นที่เราคาดว่าจะมี Flows หมุนเข้ามาเล่น และหุ้นรายตัวที่มีประเด็นสนับสนุน

วิเคราะห์ทางเทคนิค
ภาพรวมเดือนธ.ค. SET Index closed 1,400 จุด ขณะที่ผลตอบแทนรายเดือน -2.3% MoM ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 (ภายหลังปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน) วอลุ่มซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง ต่ำสุดในรอบปีที่ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยดัชนีทำจุดสูงสุดที่ 1,457 และจุดต่ำสุดที่ 1,361 จุด….ปิดกลางๆ!

“แนวโน้มตลาด”: SET Index ภาพรายเดือนย่อ แต่!ลงไม่ลึก จับตา MACD รายเดือน cross เส้น signal สำเร็จ! ฟื้น..ขึ้นจากโซนล่าง แต่! เทรดต่ำกว่าเส้น 0 บ่งชี้สัญญาณรีบาวด์

“ธีมการลงทุนเดือนม.ค.” แม้ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยปีที่แล้วจะไม่ดี! เกาะกลุ่มท้ายเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตามข้อดีคือดัชนีลงมาแล้ว หากมีปัจจัยบวกสะกิดนิดหน่อย น่าจะทำให้ตลาดฟื้นตัวได้ไม่ยาก มองโซนรับรายเดือนอยู่ที่ 1,370 จุด (higher low) ต้าน 1,460 จุด

กลยุทธ์เทคนิค: เลือกหุ้นโครงสร้างแกร่ง เลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่โมเมนตัมกำลังมา ส่งสัญญาณกลับตัว จุดเริ่มต้นของขาขึ้นรอบใหม่ หุ้นแนะนำประจำเดือน……BUY “KTB, BTS, VGI และ CBG”

 

 

What to watch
ครม.เคาะเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 4 ล้านคนแล้ว และมาตรการช้อปช่วยชาติ (Easy E-Receipt) รอบใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2025
ติดตามต่อ แนวทางเดินหน้าโครงการแจกเงินหมื่น เฟส 3 ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่เพื่อกระจายให้ประชาชนกลุ่มใหญ่
แรงขายไถ่ถอนกองทุน LTF ที่ครบอายุ (ยอดสะสมราว 2.3 แสนล้านบาท ณ พ.ย. 2024)

หุ้นแนะนำวันนี้
SCB คาดมีโอกาสเห็น Flows upgrade จากโบรกต่างชาติ ตาม JPM (S 116 R 120 SL 115)

 

รายงานพื้นฐานวันนี้

ADVANC
แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
แนวโน้มปี 2025 แข็งแกร่ง
คาดการณ์กำไรหลัก 4Q24 ที่ 8.9 พันล้านบาท เติบโต 24% YoY และ 6% QoQ ได้แรงหนุนจากรายได้บริการหลักที่เพิ่มขึ้น 11% YoY และ 1% QoQ จากธุรกิจมือถือและ FBB (Fixed Broadband) อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาท อาจทำให้เกิดผลขาดทุน FX โดยเราคาดการณ์กำไรสุทธิ (รวมรายการดังกล่าว) ที่ 8.8 พันล้านบาท เติบโต 26% YoY และ 1% QoQ
ในประเด็นย่อย รายได้มือถือ 4Q24 คาดเพิ่มขึ้น 4% YoY และ 1% QoQ แม้ ARPU (รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้) ที่ทรงตัว ส่วนรายได้ FBB คาดเพิ่มขึ้น 51% YoY (ผลกระทบเต็มไตรมาสจากการรวมกิจการ AWN-TTTBB) และ 2% QoQ โดยมี ARPU-FBB ที่ 508 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 4% YoY และ 1% QoQ
สำหรับปี 2025 คาดการณ์กำไรหลักที่ 3.62 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% YoY จากการเติบโตของรายได้ การแข่งขันที่ลดลงในตลาดมือถือและ FBB รวมถึงการลดต้นทุน เช่น ค่าไฟฟ้าและค่าใช้จ่าย SG&A ที่เบาลง นอกจากนี้ ยังมี Upside จากการประหยัดต้นทุนค่าคลื่น โดยหากปีนี้ ADVANC ชนะประมูลคลื่น 2100MHz ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ใน 15 ปี มาชดเชยที่ต้องเช่า NT ปีละ 3.5 พันล้านบาท ช่วยประหยัดต้นทุนปีละ 2.8 พันล้านบาท และเพิ่มกำไรระยะยาวได้ถึง 6-7%
Fundamental view: เรายังคงคำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 292 บาท

JTS & LTS
จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น
ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น
ประเด็นจับตาก่อนงาน Thai Corporate Day
ในช่วงวันที่ 13-16 ม.ค. เราจะมีจัดงาน BLS Thai Corporate Day 2025 ในธีม “3Ns”: New US Leadership, New Frontiers, and a New Landscape for Thailand ซึ่งมีทั้งบริษัทจดทะเบียนและ Special sessions จากผู้เชี่ยวชาญในหลายอุตสาหกรรม
โดยผู้บริหารของทั้ง LTS และ JTS จะเข้าร่วมงานของเรา เรามองว่าทั้ง 2 บริษัทถือว่าเป็นกลุ่มที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Gen AI ที่มีความแตกต่างในตลาด โดยเน้นไปที่ธุรกิจ GPU และ LLM ซึ่งประเด็นสำคัญของทั้ง 2 ธุรกิจคงหนีไม่พ้นฝั่งของตัว Demand ซึ่งจะสูงพอจะรองรับเม็ดเงินการลงทุนที่จะ เข้ามาขนาดไหน อีกทั้งการต่อยอดไปในส่วนของปลายน้ำทั้งการพัฒนา LLM และ Application ต่างๆ
นอกจากนี้ยังส่งสัญญานไปถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่าง Data center ที่ประกาศเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งหาก Demand จากการเปลี่ยนผ่านสู่ Gen AI โดยเฉพาะฝั่งของภาครัฐเข้ามาจริงน่าจะเป็นโอกาสของหุ้นที่ได้ประโยชน์ในหลายกลุ่ม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

เฟด คงดอกเบี้ย By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย พัก แบบปรับฐาน ในเช้าวันนี้ หลังจากวานนี้ ดัชนฯพุ่งแรง ประกอบกับ เฟด ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้