สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 25 ตุลาคม 2567)-- ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ‘A+(tha)’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทฯ ที่ ‘F1(tha)’
การประกาศคงอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า สถานะทางการเงินของ TOP จะยังคงสอดคล้องกับการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ต่ำกว่า 4.5 เท่า TOP มีความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบอันดับเครดิต ที่สูง โดยมี EBITDA Net Leverage ที่ 3.4 เท่า ณ สิ้นครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งจะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูง และรายได้ที่ลดลงในปี 2567 และ 2568 ฟิทช์คาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินจะเริ่มปรับตัวลดลงในปี 2569 เป็นต้นไป จากการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากกำลังการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และกระบวนการกลั่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ลดลง หลังจากที่โครงการ Clean Fuel (CFP) มีการดำเนินงานเต็มรูปแบบ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การดำเนินการเต็มรูปแบบของโครงการ CFP ในปี 2569: TOP ได้เริ่มดำเนินการหน่วยแรกของโครงการ CFP ในปี 2567 และมุ่งหวังที่จะดำเนินการเต็มรูปแบบภายในต้นปี 2569 TOP ได้เริ่มดำเนินการหน่วย Hydrodesulphurisation สำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อช่วยผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐฯ และมีส่วนต่างราคาที่มากกว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 บริษัทฯ มีแผนที่จะดำเนินการหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่หมายเลข 4 (New Crude Distillation No. 4 หรือ CDU-4) ในปี 2568 ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการกลั่นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน ฟิทช์คาดว่าการดำเนินการเต็มรูปแบบของโครงการ CFP จะเพิ่มค่าการกลั่นตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป การก่อสร้างโครงการ CFP มีความคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 97 ณ เดือนกรกฎาคม 2567
รายได้ที่ลดลง: ฟิทช์คาดการณ์ว่า EBITDA ของ TOP จะลดลงเหลือประมาณ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2567 และ 2568 จาก 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ฟิทช์คาดว่าค่าการกลั่นของ TOP จะลดลงจากระดับสูงในปี 2565 และ 2566 และกลับสู่ระดับปกติในปี 2568 เมื่อสถานการณ์ในอุตสาหกรรมกลับสู่วัฏจักรปกติ อย่างไรก็ตาม การขยายกำลังการกลั่นและการปรับปรุงความซับซ้อนของโรงกลั่นจากโครงการ CFP จะทำให้ค่าการกลั่นและ EBITDA ปรับตัวเพ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนยังคงสูง: ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่จำเป็นและไม่สามารถเลื่อนได้ของ TOP จะยังคงสูงในปี 2567-2568 เนื่องจากโครงการ CFP บริษัทฯ มีแผนที่จะใช้จ่ายประมาณ 1.2-1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567-2568 (ไม่รวมเงินที่คาดว่าจะได้จากการขายหน่วย Energy Recovery (ERU)) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ CFP ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในปี 2565-2566 อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ฟิทช์คาดไว้และคาดว่าจะถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2567 และ 2568
อัตราส่วนของหนี้สินที่สูงขึ้นแต่ยังคงแข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า EBITDA Net Leverage ของ TOP จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.2-4.4 เท่า ในปี 2567 และ 2568 (2566: 3.9 เท่า, ครึ่งแรกของปี 2567: 3.4 เท่า) แต่ยังคงต่ำ 4.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต เนื่องจากค่าการกลั่นที่น่าจะปรับตัวลดลงในปี 2567 และ 2568 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนของหนี้สินจะลดลงเป็นประมาณ 4.0 เท่า จากผลประโยชน์ของโครงการ CFP ในปี 2569
การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อน้ำมันดิบกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (มีอันดับเครดิตที่ BBB+/AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นั้น จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน และเสริมสภาพคล่องให้กับ TOP ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สินในช่วงที่มีการลงทุนสูง ฟิทช์คาดการณ์ว่า TOP จะยังคงรักษาเทอมการชำระเงินดังกล่าวที่ 90 วันในปี 2567-2569 และค่อยๆ ปรับลดลงเหลือ 30 วันในปี 2571 หลังจากโครงการ CFP ดำเนินงานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในทุกหน่วยการผลิต
CFP เพิ่มศักยภาพธุรกิจ: CFP จะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของ TOP และความสามารถในการผลิตน้ำมันที่มีมูลค่าสูงได้มากขึ้น และทำให้บริษัทฯ สามารถกลั่นน้ำมันดิบชนิดหนักมากขึ้นได้ กระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และอัตราการใช้กำลังการกลั่นที่สูงของ TOP ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุน เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดหาน้ำมันดิบ และช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีอัตราส่วนกำไรที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน และสูงกว่าเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในประเทศ
การขยายกิจการเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี: การลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการกระจายแหล่งที่มาของกำไรที่ปัจจุบันมาจากธุรกิจน้ำมันเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม TOP มีความสามารถในการเข้าถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ CAP ในระดับจำกัด ซึ่งจะอยู่ในรูปของเงินปันผลรับ ในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
อย่างไรก็ตาม TOP จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายวัตถุดิบ (Feedstock sales and purchase agreement) กับ CAP ซึ่งจะช่วยรองรับการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied petroleum gas) และแนฟทา (Naphtha) จากโครงการ CFP แม้ว่าข้อตกลงเรื่องราคาและข้อตกลงอื่นๆ เป็นไปตามเงื่อนไขการค้าที่ยุติธรรม (Arm’s length) การลงทุนเพิ่มเติมจำนวน 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน CAP ได้มีการเลื่อนออกไป เนื่องจาก CAP ได้เลื่อนการตัดสินใจในการลงทุนขยายกำลังการผลิตในโครงการ CAP2 ออกไปก่อน
ความสัมพันธ์กับปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TOP ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับ จากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของบริษัท ที่อยู่ที่ ‘a-(tha)’ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ TOP ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง TOP เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญต่อ ปตท. ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ฟิทช์พิจารณาว่า แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ TOP ในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางการสนับสนุนด้านดำเนินงาน (Operational incentive) อยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่แรงจูงใจทางกฎหมาย (Legal incentive) อยู่ในระดับต่ำ
TOP เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของ ปตท. อีกทั้ง TOP มีแนวโน้มที่จะเป็นบริษัทหลักของ ปตท. ในการธุรกิจการกลั่นน้ำมัน โดย TOP เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปให้กับ ปตท. คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดที่ ปตท. จัดจำหน่าย นอกจากนี้ ปตท. ยังขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ TOP เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูง และรับซื้อหุ้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่ BBB-/A+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการของ TOP
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ TOP ที่ ‘a-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและโรงกลั่นที่มีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์ของบริษัท สถานะทางธุรกิจของ TOP แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต
TOP มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘a+(tha)’) ซึ่ง PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า เนื่องจากมีการดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าและตัวชี้วัดเครดิตที่ดีกว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การจัดอันดับเครดิตของ TOP ต่ำกว่าของ PTTGC
บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC, อันดับเครดิต A(tha)/แนวโน้มมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง: bbb+(tha)) เป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดและเป็นหน่วยดำเนินการหลักด้านเคมีภัณฑ์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC, A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย TOP มีสถานะทางธุรกิจที่คล้ายคลึงกับ SCGC โดยมีขนาดที่เทียบเคียงกันได้ โดยวัดจาก EBITDA ที่ประมาณ 2.5 - 3.0 หมื่นล้านบาท ทั้งสองบริษัทเผชิญกับอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนของการกลั่นและเคมีภัณฑ์และมีอัตราส่วนของหนี้สินอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ TOP มีการกระจายผลิตภัณฑ์/ธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นในด้านการกลั่นและพลังงานหมุนเวียน ด้วยสถานะทางธุรกิจที่เทียบเคียงได้และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า TOP จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตสูงกว่า SCGC หนึ่งอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ:
- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567, 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569 และ 2570 ,และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2571 และหลังจากนั้น โดยมีการปรับด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ TOP
- CFP จะเริ่มเปิดดำเนินการ CDU-4 ในครึ่งหลังของปี 2568 ส่งผลให้กำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และดำเนินงานเต็มรูปแบบหลังจากหน่วย Residue Hydrocracking เริ่มดำเนินการในปี 2569
- ค่าการกลั่นที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ปรับตัวลดลงสู่ระดับปกติในปี 2567 และ 2568 และจะเพิ่มขึ้น เมื่อ CFP ดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี 2569
- การใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ร้อยละ 109 ในปี 2567, ร้อยละ 87-95 ในปี 2568-2571 เมื่อโครงการ CFP เริ่มดำเนินการ
- การใช้กำลังการผลิตธุรกิจอะโรเมติกส์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปี 2567 ในขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในปี 2567 และ 2568 จะสอดคล้องกับครึ่งแรกของปี 2567
- ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจะลดลงตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 950 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567-2569 CFP ซึ่งพิจารณารวมถึงเงินที่ได้จากการขาย ERU ของ TOP ในปี 2568 และค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา
- เงินลงทุนเพิ่มเติมจำนวน 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการเข้าซื้อหุ้น CAP ในปี 2569
- อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 45
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- อัตราส่วน EBITDA Net Leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยลบ:
- มีปัญหาที่ท้าทาย หรือเกิดความล่าช้าที่ทำให้โครงการ CFP ดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบในทุกหน่วยการผลิตได้หลังจากปี 2569
- การที่บริษัทฯ ไม่สามารถรักษาอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4.5 เท่า
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่ลดลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ TOP อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับหนี้สินจากเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 3.6 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวจำนวน 3.4 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้าจากเดือนมิถุนายน 2567 สภาพคล่องยังได้รับการสนับสนุนโดยวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่ (การขยายระยะเวลาเทอมการชำระเงิน) กับปตท. ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และวงเงินกู้ประเภท Committed จำนวน 196 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และวงเงินกู้ทั่วไปจำนวน 304 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากสถาบันการเงิน TOP มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ที่เพียงพอเนื่องจากบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนและมีความเกี่ยวข้องกับปตท. และเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย