สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(28 สิงหาคม 2567)-------บริษัท พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด (มหาชน)PMC ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์เปล่า (Sticker) หรือฉลากกาว (Self-Adhesive Label) ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับการผลิตฉลากสินค้าและฉลากบรรจุภัณฑ์ โดยจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้สรุป ราคาไอพีโอที่ 1.82 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par Value)1.00 บาทต่อหุ้น มูลค่าตามบัญชี (Book Value) : 1.2324 บาทต่อหุ้น คำนวณจากส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งเท่ากับ 332.7 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ก่อนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 270,000,000 หุ้น โดยมูลค่าการเสนอขายรวม 210,601,300 บาท
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทฯ (Price to Earnings หรือ P/E Ratio) โดยราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 1.82 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Trailing 12-month P/E Ratio) เท่ากับ 12.18 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นที่ 0.1494 บาท ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ 40.4 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 270,000,000 หุ้น (Pre-IPO Dilution) และคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 17.40 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นที่ 0.1046 บาท หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 385,715,000 หุ้น (Post-IPO Dilution หรือ Fully-Diluted)
สัดส่วนการเสนอขายหุ้น : จำนวนหุ้นและสัดส่วนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนแต่ละประเภท เป็นดังนี้
เสนอขายต่อ จำนวนหุ้น ร้อยละ
(1) ผู้ถือหุ้นของ SELIC เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น /1 34,715,000 30.00
(2) บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ /2 71,000,000 61.36
(3) ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ 10,000,000 8.64
รวม 115,715,000 100.00
****************************
ระยะเวลาการเสนอขาย
(1) สำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) (SELIC) เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น ระหว่างวันที่ 29 - 30 สิงหาคม 2567 และวันที่ 2 กันยายน 2567 (กรณีการจองซื้อโดยกรอกใบจองซื้อ) และระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2567 – 2 กันยายน 2567 (กรณีการจองซื้อผ่านระบบออนไลน์)
(2) สำหรับบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ ระหว่างวันที่ 3 – 5 กันยายน 2567
สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด Silent Period
จำนวน 57,856,750 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 15.00 ของจํานวนหุ้นที่ออกและชําระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนในครั้งนี้ ทั้งนี้ การคำนวณจำนวนและสัดส่วนหุ้นของผู้มีส่วนร่วมในการบริหารที่ไม่ติด Silent Period ดังกล่าว จะไม่นับรวมจำนวนหุ้นที่ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารได้รับจัดสรรในฐานะผู้ถือหุ้นของ SELIC เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นของบริษัทฯ
นอกจากนี้ บมจ. ซีลิค คอร์พ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ได้ตกลงที่จะไม่ขายหุ้นส่วนที่ไม่ติด Silent Period ซึ่งมีจำนวนรวม 57,856,750 หุ้น เป็นเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกที่หุ้นสามัญของบริษัทฯ เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Voluntary Share Lockup) โดย SELIC จะนำหุ้นดังกล่าวฝากในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
วัตถุประสงค์การใช้เงิน
จำนวนเงินสุทธิที่บริษัทฯ จะได้รับจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ภายหลังหักค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีจำนวนประมาณ 200 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์การใช้เงิน ดังนี้
วัตถุประสงค์การใช้เงิน จำนวนเงิน โดยประมาณ
(ล้านบาท) ระยะเวลาการใช้เงินโดยประมาณ รายละเอียด
1. ลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตใหม่ (1) และชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 180.0 – 190.0 ปี 2567 บริษัทฯ อยู่ระหว่างการลงทุนขยายกำลังการผลิตสติ๊กเกอร์ โดยการติดตั้งสายการผลิตใหม่ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าของบริษัทฯ จากเดิม 75 ล้านตรม. เป็น 185 ล้านตรม. ต่อปี มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 230 ล้านบาท โดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมสถาบันการเงินร้อยละ 77 และกระแสเงินสดภายในกิจการร้อยละ 23 ตามลำดับ บริษัทฯ ได้ลงทุนไปแล้วโดยส่วนใหญ่ บริษัทฯ จะใช้เงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ชำระค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ส่วนที่เหลือ และชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตใหม่ และ/หรือ ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ตามที่บริษัทฯ เห็นสมควรและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ ณ ช่วงเวลานั้นๆ
2. ลงทุนขยายธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการขยายศูนย์กระจายสินค้าในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม (1)(2) 10.0 – 20.0 ปี 2568 –
ปี 2570 บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนให้ครบ 5 แห่ง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเติมในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม เพื่อสร้างความสามารถในการเข้าถึงลูกค้ารายใหญ่ในภูมิภาค โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 – 10 ล้านบาทต่อแห่ง (ไม่รวมเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อสินค้า)
บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทที่กฎหมายและบริษัทฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี
สำหรับผลประกอบการ ในปี 2563 – 2566 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งพิจารณาจากกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 93.5 ล้านบาท 87.2 ล้านบาท 63.8 ล้านบาท และ 60.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA Margin) เท่ากับร้อยละ 13.2 ร้อยละ 10.4 ร้อยละ 7.3 และร้อยละ 7.3 ตามลำดับ โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิในปี 2563 – 2566 จำนวน 40.5 ล้านบาท 41.1 ล้านบาท 18.0 ล้านบาท และ 17.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 5.7 ร้อยละ 4.9 ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 24.0 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 5.6
ในปี 2564 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 41.1 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 4.9 ลดลงจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.7 การลดลงของอัตรากำไรในปี 2564 มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายเหตุการณ์ตามที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการจัดจำหน่าย จากการที่บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบุคลากรฝ่ายขายและการตลาดที่มีประสบการณ์ตรงในตลาดต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติม และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งสินค้า ซึ่งเพิ่มขึ้นตามยอดขายสินค้าในตลาดต่างประเทศและค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งสินค้าในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทฯ ในภาพรวมปรับตัวลดลง
ในปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 18.0 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 2.1 อัตรากำไรที่ปรับตัวลดลงในปี 2565 มีสาเหตุหลักจากการลดลงของอัตรากำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตสินค้าของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันหลายประการ เช่น ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก อัตราค่าระวางเรือที่ถึงแม้จะเริ่มปรับตัวลดลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยของอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในปี 2565 บริษัทฯ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้ที่ปรับตัวลดลง จากความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่อาจชดเชยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการได้ ส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทฯ ในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อน
ในปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 17.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 2.1 แม้ในปี 2566 บริษัทฯ จะมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวลดลง แต่บริษัทฯ ยังมี EBITDA Margin และอัตรากำไรสุทธิที่ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการส่งออกสินค้าที่ลดลงตามการลดลงของค่าระวางเรือ ประกอบกับความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 15.7 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 13.6 ในปี 2565 และร้อยละ 13.2 ในปี 2566 ตามลำดับ
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 24.0 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 5.6 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.1 โดยหลักเป็นผลจากอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัทฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามราคาวัตถุดิบและอัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ประกอบกับความสามารถของบริษัทฯ ในการเพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์กลุ่ม Premium ซึ่งได้แก่ สติ๊กเกอร์ฟิล์มและสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษได้ตามเป้าหมาย (สติ๊กเกอร์ฟิล์มและสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ใกล้เคียงกัน คิดเป็นประมาณ 1.5 เท่าของอัตรากำไรของสติ๊กเกอร์กระดาษ) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้เท่ากับร้อยละ 10.8 ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 – 2566 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15.7 ร้อยละ 13.6 และร้อยละ 13.2 ตามลำดับ