สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(18 กรกฎาคม 2567)-------นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธุรกิจไทยครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน 2567)
ปี 2567 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของแต่ละภูมิภาค โดย World Bank คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลก จะเติบโตประมาณ 2.6% ในปี 2567 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2566 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% ในปี 2568 ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies: EMDEs) คาดว่าจะเติบโตลดลงเล็กน้อยจาก 4.2% ในปี 2566 เป็น 4% ในปี 2567 และ 2568
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สามารถฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออก แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตประมาณ 2.5% ในปี 2567 โดยมีการขยายตัวของการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
ช่วงครึ่งปีแรก 2567 การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจมีจำนวน 46,383 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 145,079 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนครึ่งปีแรกไว้ที่ 44,000 - 47,000 ราย โดยมีสัดส่วนดังนี้ 1) ธุรกิจภาคบริการ มีจำนวนการจัดตั้ง 26,479 คิดเป็น 57.09% ของจำนวนการจัดตั้งครึ่งปีแรก 2567 2) ภาคขายส่ง/ขายปลีก จัดตั้ง 15,152 ราย คิดเป็น 32.67% และ 3) ภาคการผลิต จัดตั้ง 4,752 ราย คิดเป็น 10.25%
ธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจครึ่งปีแรก 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (2566) แยกตามภาคธุรกิจ ดังนี้
ภาคขายส่ง/ขายปลีก ได้แก่ 1) ธุรกิจขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์มีอัตราการเติบโตสูงสุด 90.91% 2) ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์เติบโต 75.00% และ 3) ขายปลีกนาฬิกา แว่นตา และอุปกรณ์ถ่ายภาพเติบโต 73.08%
ภาคการผลิต ได้แก่ 1) ธุรกิจผลิตโครงสร้างที่ใช้ในการก่อสร้างและเครื่องประกอบอาคาร เติบโตสูงสุด 106.67% 2) ธุรกิจผลิตกระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูกเติบโต 104.00% และ 3) ธุรกิจผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เติบโต 96.77%
ภาคบริการ ได้แก่ 1) ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีฯ เติบโตสูงสุด 132.35% 2) ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางรถโดยสารประจำทางอื่นๆ เติบโต 95.24% และ 3) ธุรกิจก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาอื่นๆ เติบโต 85.71%
แยกตามขนาดธุรกิจ ธุรกิจขนาดเล็ก S มีสัดส่วนการจัดตั้งสูงสุด 99.64% ของจำนวนการจัดตั้งครึ่งปีแรก 2567 หรือ 46,214 ราย ธุรกิจขนาดกลาง M สัดส่วนของจำนวนการจัดตั้ง 0.30% หรือจำนวน 142 ราย และธุรกิจขนาดใหญ่ L สัดส่วนของจำนวนการจัดตั้ง 0.06% หรือจำนวน 27 ราย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่าธุรกิจขนาดเล็ก S และขนาดใหญ่ L มีอัตราการเติบโตลดลง 1.91% และ 34.15% ขณะที่ขนาดกลาง M เติบโตเพิ่มขึ้น 10.08%
แยกตามการจัดตั้งรายพื้นที่ มีการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 29.79% จำนวน 13,819 ราย และส่วนภูมิภาค 70.21% จำนวน 32,564 ราย โดยกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอัตราการเติบโตของจำนวนการจัดตั้งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ครึ่งปีแรก 2566) โดยมีการเติบโตอยู่ที่ 0.93%, 2.52% และ 3.31% ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก มีอัตราการเติบโตลดลง 7.34%, 9.69%, 9.30% และ 1.09% ตามลำดับ
ทั้งนี้ จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจครึ่งปีแรก 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ม.ค.-มิ.ย.2566) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2566 มีจำนวนค่อนข้างสูง โดยปี 2566 เป็นปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังผ่านช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้นักลงทุนที่ชะลอดูสถานการณ์กลับมาเริ่มต้นธุรกิจและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2566 บวกกับหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น และภาครัฐมีนโยบายเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการจัดตั้งเพื่อรองรับความต้องการในช่วงเวลานั้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ตัวเลขในปี 2566 ค่อนข้างสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีอัตราการเติบโตในครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกปี 2565 ถึง 17.33%
ธุรกิจไทยครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม - ธันวาคม 2567)
เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกันที่ 2.7% โดยมุมมองเศรษฐกิจในปี 2567 ของ SCB EIC มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี อีกทั้งเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกันจากภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศจะปรับสูงขึ้นจากผลการเลือกตั้งเกือบทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจปี 2567 ยังคงคาดการณ์การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่ 5 - 15% (90,000 - 98,000 ราย) จากปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้ง การลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
การดำเนินการของภาครัฐทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ ซึ่งจากแผนงานของภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลังในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วง High Season ฤดูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนไทยสูงสุดของปี ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็นิยมท่องเที่ยวช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน น่าจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และธุรกิจอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย และคาดว่าจะมีนักลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยท้าทาย เช่น ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เนื่องจากมีผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและกระทบมาถึงเศรษฐกิจของไทย รวมทั้ง การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SME โดยตรง โดยหากงบประมาณลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคโดยทันทีเช่นเดียวกัน