" โอกาสลดดอกเบี้ย US ก.ย. สูงขึ้น"
คาด SET วันนี้ “ฟื้นตัว” ในกรอบ 1320-1340 จุด เงินเฟ้อ US มิ.ย.อ่อนแอกว่าคาด กระตุ้นโอกาสลดดอกเบี้ย US เดือน ก.ย. สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้ง DXY ที่อ่อนค่า และ US Bond Yield ชะลอ หนุนโอกาสหุ้นไทยฟื้น เป็นโอกาสสะสม เน้นกลุ่มพื้นฐานดี แนวโน้มกำไรเติบโต โดยสำหรับวันนี้แนะสะสม “SGC”
วานนี้สหรัฐฯรายงานตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน มิ.ย. ชะลอตัวมากกว่าคาด โดย US CPI +3.0%y-y, -0.1%m-m ต่ำกว่าคาดที่ +3.1%y-y, +0.1%m-m และ US Core CPI ที่ +3.3%y-y, +0.1%m-m ต่ำกว่าคาดเช่นกันที่ +3.4%y-y, +0.2%m-m ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ผสานกับราคารถยนต์ การแพทย์ และการขนส่ง ที่ชะลอตัวเช่นกัน
จากรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯที่อ่อนแอกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดประเมินโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ย US เดือน ก.ย. สู่ระดับ 93.5% เร่งขึ้นจากช่วงต้นสัปดาห์ที่ระดับ 70% สอดคล้องกับแนวโน้มค่าเงิน โดย Dollar Index อ่อนตัวทดสอบระดับ 104 ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผสานกับคาด BOJ มีการแทรกแซงค่าเงินเยน ส่งผลให้ DXY อ่อนมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินเอเชียแข็งขึ้นรวมถึงค่าเงินบาทที่กำลังทดสอบบริเวณแนวสำคัญที่ 36 บาทต่อดอลล่าร์
ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มเห็นการ Sell on fact โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ Valuation อยู่ในโซนสูง จากราคาที่ขยับขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า จุดนี้อาจสะท้อนความหวังเชิงบวกต่อทิศทางกระแสเงินทุนอาจเล็งในตลาดที่มี Valuation ที่ดึงดูดมากขึ้น ซึ่งสำหรับ SET ก็คาดได้อานิสงส์เชิงบวก เนื่องจากภาพเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผสานกับ Valuation ไม่แพง และยังปรับขึ้นช้ากว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ดังนั้นเรายังมองเป็นจังหวะสะสมหุ้นไทย โดยเน้นกลุ่มพื้นฐานดี แนวโน้มกำไรเด่น และมี Valuation ที่ไม่แพง
Daily Pick : SGC
ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ( 2.04 บาท)
คาดแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ Turnaround กลับมามีกำไร 151 ล้านบาท จากโอกาสการเติบโตของโครงการ SGF+ และการลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และจะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2025 สู่ระดับ 1475 ล้านบาท
ประเมินมูลค่าพื้นฐานแบบอนุรักษ์นิยม โดยอิง Forward PE 10 เท่า และรวมผลของการ Dilution ของหุ้น RO และ SGC-W1 จะได้มูลค่าพื้นฐานที่ 2.04 บาทต่อหุ้น
Pic of the day
ตลาดให้โอกาสลดดอกเบี้ย US เดือน ก.ย. สูงถึง93.5%
Eyes On
12 ก.ค. ดัชนี US PPI,
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก ม.มิชิแกน,
ยอดส่งออกจีน, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของ
ญี่ปุ่น
วิจิตร อารยะพิศิษฐ
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน #44799
Wijit.A@liberator.co.th