สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(24มิถุนายน 2567)-------ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local Currency Issuer Default Rating) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SCBT ที่ ‘A-’ และมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุน: อันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT พิจารณาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (Shareholder Support Rating; SSR) ที่ ‘A-’ ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ว่ามีความ เป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารแม่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งคือ Standard Chartered Bank (Singapore) Limited (SCBS; อันดับเครดิตสากล ‘A+’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ / อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ‘a’) จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่ธนาคารลูกในไทยเมื่อเกิดสถานการณ์ที่มีความจำเป็น
อันดับเครดิตสากลระยะสั้น (Short-Term Issuer Default Ratings) ที่ ‘F1’ สะท้อนถึงโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนนั้นมีความแน่นอนกว่าในระยะสั้น
อันดับเครดิตในประเทศพิจารณาเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ: อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT นั้นยังพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตที่พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น เปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการ จัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์ ทั้งนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารที่ ‘AAA(tha)’ สะท้อนถึงโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศไทย
อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินไม่มีนัยสำคัญ: ฟิทช์ไม่ได้ให้อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) แก่ SCBT เนื่องจากเครือข่ายธุรกิจของตัวธนาคารเองอาจไม่เพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจโดยไม่พึ่งพาธนาคารแม่ โดย SCBT มีความเชื่อมโยงกับธนาคารแม่ในระดับสูง อีกทั้งโครงสร้างธุรกิจและการดำเนินงานของธนาคารลูกยังต้องพึ่งพาเครือข่าย ความเชี่ยวชาญ และระบบงานของกลุ่ม
อันดับเครดิตมีความเชื่อมโยงกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่: ฟิทช์ใช้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ของธนาคารแม่ (SCBS) เป็นอันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) สำหรับการจัดอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ SCBT แทนที่จะใช้อันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารแม่เป็นอันดับอ้างอิง สะท้อนถึงความไม่แน่นอนว่า SCBT จะได้รับประโยชน์จาก qualifying junior debt ของกลุ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารแม่อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน
บทบาทที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ของกลุ่ม: ฟิทช์มองว่า SCBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญต่อกลุยทธ์ของ SBCS โดย SCBT มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรและสถาบันการเงินของกลุ่ม และยังให้บริการทางธุรกิจระหว่างประเทศแก่ลูกค้าของกลุ่มในประเทศไทย โดย SCBT นั้นได้รับประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาคและความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินของกลุ่มซึ่งทำให้เกิดการต่อยอดทางการตลาดกับกลุ่ม (synergies) อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า SCBT ยังไม่จัดเป็นธนาคารลูกหลักของ SCBS เนื่องจากยังมีขนาดสินทรัพย์ที่ค่อนข้างเล็กและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักสำหรับกลุ่ม
การผสานการทำงานและความเชื่อมโยงระหว่างกันในระดับสูง: อันดับเครดิตของ SCBT ยังพิจารณาถึงการถือหุ้น 99.9% โดยธนาคารแม่และการมีอำนาจควบคุมการบริหารงานและการกำหนดกลยุทธ์ของธนาคารลูก นอกจากนี้ SCBT ยังมีการผสานการทำงานกับกลุ่มในระดับสูง ทั้งในด้านการดำเนินงานและกระบวนการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ ฟิทช์เชื่อว่า หาก SCBT มีการผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในด้านชื่อเสียงอย่างมากต่อเครือข่ายธุรกิจของกลุ่ม สืบเนื่องจากการใช้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการร่วมกัน ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างกันที่มีมาอย่างยาวนาน
บริษัทแม่มีความสามารถในการสนับสนุนที่แข็งแกร่ง: ความสามารถของ SCBS ในการสนับสนุน SCBT สะท้อนมาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่ที่ ‘a’ โดยฟิทช์เชื่อว่าการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลูกไม่น่าจะมีผลกระทบอย่าง มีนัยสำคัญต่อฐานะทางการเงินของธนาคารแม่ เนื่องจาก SCBT มีขนาดสินทรัพย์ที่ค่อนข้างเล็กที่น้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารแม่ ณ สิ้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อาจถูกจำกัดด้วยความเสี่ยงในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการแลกเปลี่ยนเงินตรา (transfer and convertibility risk) ซึ่งสะท้อนได้จากเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ที่ 'A-'
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลของ SCBT จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการปรับตัวด้อยลงของความสามารถของ SCBS ในการให้การสนับสนุนและโอกาสในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลูก
การปรับตัวลดลงของความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่ อาจบ่งชี้ว่าธนาคารแม่มีความสามารถในการสนับสนุนธนาคารลูกลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับลดอันดับ โดยอยู่บนสมมุติฐานว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนจากธนาคารแม่นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การปรับลดเพดานอันดับเครดิต (country ceiling) ของประเทศไทย อาจส่งผลให้และอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT ถูกปรับลดอันดับ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า SCBT มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งสนับสนุนจากธนาคารแม่ลดลง แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว
การปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของโอกาสที่ SCBS จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลูก ก็อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของ SCBT ได้รับการปรับลดอันดับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากธนาคารแม่มีการลดสัดส่วนการถือหุ้นลงต่ำกว่า 75% ควบคู่ไปกับการลดระดับอำนาจควบคุมการบริหารงาน การลดระดับการร่วมมือระหว่างกันและการสนับสนุนการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าโอกาสในการสนับสนุนธนาคารในกรณีดังที่กล่าวมาไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญในระยะสั้นถึงระยะกลาง
อันดับเครดิตสากลระยะสั้นของ SCBT อาจถูกปรับลดอันดับ หากอันดับเครดิตสากลระยะยาวถูกปรับลดอันดับลงไปที่ ‘BBB’ หรือต่ำกว่า
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อาจได้รับการปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศ ระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงไปต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+' อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ จะพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างเครดิตบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว จะไม่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังที่กล่าวมาของ SCBT อาจเกิดขึ้นได้ หากเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับ พร้อมทั้งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนให้แก่ SCBT หรือ หากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBS ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ
ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT หากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBS ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หรือ เมื่อฟิทช์เห็นว่าโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT นั้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และฟิทช์มองว่า SCBT ได้กลายเป็นธนาคารลูกหลักของ SCBS อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและระยะสั้นของ SCBT นั้นอยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้ว จึงไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับได้
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCBT มีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างเครดิตของ SCBS เอง ซึ่งบ่งชี้ได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิต ของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม ระดับคะแนน ESG ของฟิทช์ไม่ได้เป็นปัจจัยหนึ่งของกระบวนการพิจารณาอันดับเครดิต ระดับคะแนน ESG เป็นการคาดการณ์ถึงความเกี่ยวข้องและความสำคัญของระดับคะแนน ESG ที่อาจจะมีผลต่อการพิจารณาอันดับเครดิต สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก https://www.fitchratings.com/topics/esg/products#esg-relevance-scores.
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นคงอันดับที่ ‘a-’