สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(16 พฤษภาคม 2567)-------------SCB WEALTH เผย ผลตอบแทนตลาดหุ้นย้อนหลัง 10 ปี (2555 – 2566) พบตลาดหุ้นสหรัฐสร้างผลตอบแทนดีที่สุดเฉลี่ย 15% ต่อปี มองทิศทางกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั่วโลก มีแนวโน้มเติบโตได้ดี แนะพอร์ตลงทุน ใน Core Portfolio เน้นลงทุนประมาณ 75 -100 % ควรมีสินทรัพย์ที่หลากหลายและมีสภาพคล่อง พร้อมมองหาโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนตลาดเกิดใหม่ ที่น่าสนใจ เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และจีน รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสงคราม และเงินเฟ้อ ส่วน Opportunistic Portfolio สัดส่วนลงทุน 0-25 % มุ่งเน้นไปยังตลาดที่มองเห็นโอกาสในระยะสั้น แนะลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เวียดนาม และตลาดหุ้นจีน H-Share
นายชาตรี โรจนอาภา CFA, FRM Head of Investment Consultant SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย ในงานสัมมนา Investment Talk ภายใต้หัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจโลก จับตาสงคราม วางกลยุทธ์ลงทุน” ที่จัดขึ้นให้แก่กลุ่มลูกค้า High Net Worth ว่า ในช่วงที่ผ่านมา จะมีสถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนหลายอย่าง ทั้งการแพร่ระบาดของโควิดที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส แต่การลงทุนในตลาดหุ้น ยังให้ผลตอบแทนที่ดี โดยหากพิจารณาผลตอบแทนเฉลี่ยของสินทรัพย์ต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2555-2566 พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนดีที่สุด 15% ต่อปี ส่วนตลาดหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี และตลาดหุ้นไทย ให้ผลตอบแทน 7.1% ต่อปี ดังนั้น SCB CIO จึงแนะนำให้ผู้ลงทุนเน้นมองการลงทุนเป็นเรื่องระยะยาว ที่ต้องใช้เวลา
สำหรับภาพรวมปัจจัยเศรษฐกิจที่มีผลต่อการลงทุนในเวลานี้ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์พอสมควร เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตแข็งแกร่ง ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ตัวเลขการจ้างงานภาคการเกษตร ดัชนีราคาผู้บริโภค และยอดขายปลีก ในเดือน มี.ค. ออกมาดีเกินคาด ขณะที่ การผลิตอุตสาหกรรมส่งสัญญาณฟื้นตัว ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่า 3% ต่อปี ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้อาจปรับลดดอกเบี้ยช้าลง และยังมีผลต่อดอกเบี้ยนโยบายของตลาดการเงินทั่วโลกอีกด้วย
เราคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วกว่า Fed โดยอาจปรับลดดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. นี้ และคาดว่าจะปรับลดประมาณ 3 ครั้ง ในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มเข้าสู่เป้าหมายที่ 2.3% ในปี 2567 และเข้าสู่ 2.0% ภายในปี 2568 ขณะที่ Fed จะผ่อนคลายนโยบายการเงินล่าช้ากว่าธนาคารกลางอื่น อาจเลื่อนปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปเป็นไตรมาส 3 และปรับลดรวม 2 ครั้งในปีนี้ ส่วนธนาคารกลางอื่นๆ อาจปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสที่ 3 สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยก่อน Fed เพื่อพยายามรักษาส่วนต่างดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ โดยน่าจะได้เห็นภาพการลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 3 เช่นกัน
ทั้งนี้ ผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลก สิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ติดลบมากที่สุดในรอบ 7 เดือน จากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาด จากการที่การจ้างงานในไตรมาสแรกยังออกมาแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ทิศทางกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่มีแนวโน้มเติบโตที่ดี นำโดยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เวียดนาม และประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด แต่สำหรับทิศทางกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจีน ทั้ง A-Share และ H-Share ยังมีแนวโน้มชะลอตัว
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่เคยเร่งตัวในช่วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าคาด ขณะที่ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่แรงกดดันเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายเริ่มผ่อนคลายลง จากรายงานการจ้างงานของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ที่เริ่มชะลอตัว รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงปรับลดลง แม้มีความเสี่ยงที่ราคาตราสารหนี้จะปรับลดลง แต่การลงทุนตราสารหนี้ในช่วงนี้ จะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยรับ (Coupon Yield) ที่สูงขึ้น สำหรับผู้ที่ถือตราสารหนี้จนครบกำหนดไถ่ถอน นอกจากนี้ เมื่ออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้มีแนวโน้มปรับลดลง ก็จะทำให้ราคาตราสารหนี้สูงขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสม แบ่งเงินสำหรับการลงทุนทั้งในระยะยาวและระยะสั้น เพื่อให้พอร์ตโดยรวมไม่ผันผวนมากเกินไป โดยในพอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ซึ่งลงทุนระยะยาว ควรลงทุนในสัดส่วนที่มาก เน้นกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนซึ่งมีผู้จัดการกองทุนช่วยดูแลปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่วนพอร์ตลงทุนเสริม (Opportunistic Portfolio) ก็อาจจะมีไว้เพื่อมองหาโอกาสการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา โดยตัวอย่างการจัดพอร์ตลงทุน 2 ส่วนนี้ ได้แก่ แบ่งเงินไว้ใน Core Portfolio 75-100% และลงทุนผ่าน Opportunisitc Portfolio 0-25% หมายความว่า กรณีรับความเสี่ยงได้ต่ำ อาจเน้นลงทุนบน Core Portfolio เพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่เมื่อรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ก็สามารถลดสัดส่วนบน Core Portfolio เพื่อไปลงทุนผ่าน Opportunistic Portfolio บ้าง
ทั้งนี้ ในการกระจายเงินลงทุนบน Core Portfolio ผู้ลงทุน ยังต้องมีเงินสดไว้ใช้จ่าย หรือเป็นสภาพคล่อง มีตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ มีสินทรัพย์ผสม หรือกองทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เพื่อสร้างรายได้ที่เป็นกระแสเงินสดเข้ามา รวมถึงมีการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อคาดหวังการเติบโต ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ซึ่งเราแนะนำว่า ผู้ลงทุนควรมองหาโอกาสนอกประเทศไทย เน้นกระจายเงินลงทุนไปยังตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศหลักๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก รวมถึงลงทุนผ่านตลาดเกิดใหม่ ของประเทศที่เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูง เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และจีน ที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกัน ก็ควรมีสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงสงคราม และเงินเฟ้อ
”เรามอง ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงเดือน เม.ย. สะท้อนความเสี่ยงเงินเฟ้อ และการเร่งตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี พอสมควรแล้ว ขณะที่กำไรไตรมาสแรกดีกว่าคาด ทำให้ Valuation เริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ส่วนดัชนี STOXX600 ของยุโรป มีแนวโน้มที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาสแรกออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งมีแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนและจ่ายเงินปันผลมากขึ้น จึงมีความน่าสนใจ ส่วนดัชนี TOPIX ของญี่ปุ่น มีแนวโน้มรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปีงบประมาณ 2566 (ไตรมาสแรก ปี 2567 ตามปีปฏิทิน) ดีกว่าคาด แต่ยังมีความเสี่ยงถูกปรับลดประมาณการกำไรปีงบประมาณ 2567 หลังผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของญี่ปุ่น (Tankan) พบว่า บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นคาดการณ์กำไรสุทธิปีงบประมาณ 2567 ลดลง และมองเงินเยนสิ้นปีนี้แข็งค่ามากกว่าปัจจุบัน ตลาดจึงอาจปรับฐาน ซึ่งหากเกิดขึ้น ก็เป็นโอกาสลงทุนระยะยาว“ นายชาตรี กล่าว
ส่วนการลงทุนบน Opportunistic Portfolio ควรมุ่งเน้นไปยังตลาดที่มองเห็นโอกาสในระยะสั้น ซึ่งในเวลานี้ เราแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เวียดนาม และตลาดหุ้นจีน H-Share สำหรับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เรามองว่า มีพัฒนาการด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาสู่วัฏจักรการฟื้นตัว ประกอบกับการประกาศใช้นโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัทจดทะเบียน (Corporate Value Up) มีแนวโน้มส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น อีกทั้งยังเป็นตลาดหุ้นที่มีราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) อยู่ที่ 9 10 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว และต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ เพียงแต่ระยะสั้น ดัชนีฯ อาจเผชิญความผันผวนจากความเสี่ยงสงครามอิสราเอล-อิหร่านที่เพิ่มขึ้นบ้าง
ด้านตลาดหุ้นเวียดนาม เผชิญความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ได้แก่ สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดมากขึ้น ส่งผลลบต่อค่าเงินดองของเวียดนาม และยังมีข่าวผลกระทบจากการทุจริตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่กระทบต่อ Sentiment นักลงทุน แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น และความคืบหน้าในการยกระดับตลาดหุ้นเวียดนามจากตลาดชายขอบ (Frontier Market) สู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มีแนวโน้มดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอีกครั้ง
ขณะที่ ตลาดหุ้นจีน H-Share (ตลาดหุ้นฮ่องกง) ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน (Politburo) ออกมาส่งสัญญาณออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มเติม โดยเราคาดว่า หลังจากนี้ ทางการอาจเน้นบังคับใช้มาตรการผ่อนคลายที่มีอยู่มากขึ้น รวมทั้งในการประชุมคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 3 (3rd Plenum) ที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือนก.ค.นี้ เราคาดว่า อาจมีการเปิดเผยรายละเอียดมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับทิศทางการปฏิรูปของจีน โดยเฉพาะระบบการคลัง ระบบการเงิน และรัฐวิสาหกิจ ขณะที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของจีน มีมาตรการสนับสนุนการพัฒนาตลาดหุ้น H-Share ออกมาต่อเนื่อง อีกทั้งหุ้นจีนใน H-Share มีแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ผ่านการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น และการเพิ่มซื้อหุ้นคืน ซึ่งจะช่วยหนุนแนวโน้มการฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นของดัชนี H-Share
สำหรับผู้ลงทุนที่มีศักยภาพ มีเงินลงทุนสูง แต่ไม่ชำนาญในการจัดพอร์ตลงทุน หรือคัดเลือกผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง SCB WEALTH มีที่ปรึกษาทางการเงินคอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และคัดเลือกการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละท่าน เนื่องจากเรามีผลิตภัณฑ์การลงทุนในสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล เงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) ตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมตราสารอนุพันธ์ที่มาพร้อมคุณสมบัติรองรับการลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน นอกจากนี้ยังมีทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ตราสารหนี้นอกตลาด (Private credit) รวมทั้งบริการสินเชื่อ Lombard loan ที่สามารถนำสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น หุ้นกู้ และกองทุนรวม มาใช้เป็นหลักประกัน ขอวงเงินสินเชื่อไปลงทุน หรือบริการ Property backed loan ที่ให้นำที่ดิน อสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักประกันขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนได้อีกด้วย