Today’s NEWS FEED

News Feed

อธิบดีอรมน ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ชวนผู้ประกอบการ สานต่อนโยบาย 'ซอฟต์ พาวเวอร์' รัฐบาล

473

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (14 พฤษภาคม 2567)-------อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามรอยคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการ ชวนสานต่อนโยบาย 'ซอฟต์ พาวเวอร์' รัฐบาล ด้านเครื่องแต่งกายไทย พร้อมหารือธุรกิจค้าส่งค้าปลีกวางแนวทางสร้างความยั่งยืนให้ท้องถิ่น ขอให้เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้น พร้อมวอนเน้นจ้างงานคนในพื้นที่ กระตุ้นและสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจท้องถิ่นไปด้วยกัน

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ระหว่างวันที่ 12 - 14 พฤษภาคม 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้านำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและหาลู่ทางช่วยผู้ประกอบการท้องถิ่นขยายตลาด โดยการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการชุมชน สอดคล้องเป้าประสงค์ของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลภาคธุรกิจเข้าถึงและเข้าใจความต้องการผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด ส่งผลถึงรูปแบบและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างตรงจุด โดยให้ความสำคัญถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ หารือแนวปฏิบัติที่เห็นพ้องร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้าทิศทางเดียวกัน ทั้งการขยายช่องทางการตลาดให้ครอบคลุมและหลากหลาย ขจัดปัญหาอุปสรรคทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และสัมพันธ์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

 

ไฮไลท์สำคัญ คือ การชวนผู้ประกอบการท้องถิ่นสานต่อนโยบาย 'ซอฟต์ พาวเวอร์' ของรัฐบาล ด้านเครื่องแต่งกายไทย เพื่อยกระดับกลุ่มเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยการเพิ่มคุณค่า/มูลค่าทุนทางวัฒนธรรมและสร้างกระแสความนิยมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันเพื่อสร้างกระแสให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ หรือซีรีส์ ที่กำลังได้รับความนิยม และการพาออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้าตามงานต่างๆ เพื่อสร้างการจดจำ/การรับรู้ในผลิตภัณฑ์ และขยายช่องทางการตลาด ขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้มีความหลากหลาย  ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสืบสานและประยุกต์ทางวัฒนธรรมของขนมไทย/เครื่องแต่งกายไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยสมัยใหม่อย่างยั่งยืน สร้างรายได้ให้กลุ่มธุรกิจและประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมและหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเพื่อวางแนวทางสร้างความยั่งยืนให้ท้องถิ่นระยะยาว โดยขอให้เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นนำสินค้าชุมชนเข้ามาจำหน่ายในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้น พร้อมขอให้เน้นการจ้างงานคนในพื้นที่เป็นหลักเพื่อให้เกิดการจ้างงานท้องถิ่น เป็นการกระตุ้นและสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค จังหวัด และประเทศ

 

อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ กำหนดตรวจเยี่ยมและพบปะผู้ประกอบการ 2 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจเครื่องแต่งกายจากวัสดุธรรมชาติ (กลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่านศรนารายณ์) และ * ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (บริษัท สหไทยดีพาร์ทเม้นท์สโตร์กรุ๊ป จำกัด) โดยผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย เป็นธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สามารถจ้างงานคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในธุรกิจได้ และมีศักยภาพในการสานต่อนโยบาย 'ซอฟต์ พาวเวอร์' ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

 

ธุรกิจแรกที่ตรวจเยี่ยม คือ กลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่านศรนารายณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ผลิตเครื่องแต่งกาย (หมวก กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด และของที่ระลึก) จากวัสดุธรรมชาติ เป็นอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ผลิตภัณฑ์สะท้อนถึงความประณีตของฝีมือคนไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้สืบสานคงอยู่ตลอดไป โดยการรวมกลุ่มอาชีพเป็นการกระจายรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างทั่วถึงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถซักทำความสะอาดได้โดยที่สีไม่ตกและไม่ขึ้นรา มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ รวมทั้ง ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จากการพูดคุยพบว่า กลุ่มอาชีพสตรีฯ ได้มีการจำหน่ายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ (เว็บไซต์ www.sornnarai.com, Facebook : Araya by Nut ป่านศรนาราย์อารยา และ IG : araaby และออฟไลน์  (คิงพาวเวอร์ สนามบินสุวรรณ ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ และร่วมออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ) โดยตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน ปัญหาที่พบและกำลังเร่งแก้ปัญหา คือ การผลิตสินค้าที่ไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า คือ เส้นใยป่านกับเส้นใยเปลี่ยนผลิตไม่ทัน ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้ กลุ่มอาชีพสตรีฯ พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวต่างประเทศอยู่แล้ว ฉะนั้น การขยายตลาดไปยังลูกค้าประเทศอื่นๆ น่าจะมีโอกาสความเป็นไปได้มาก

 

และธุรกิจที่ 2 คือ บริษัท สหไทยดีพาร์ทเม้นท์สโตร์กรุ๊ป จำกัด เป็นธุรกิจค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ใน จ.เพชรบุรี เป็นกิจการของคนไทย 100และเป็นร้านค้าส่งที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ มีเครือข่ายที่เป็นร้านค้าปลีกและร้านโชห่วย ประมาณ 100 ร้านค้า จากการพูดคุยพบว่า ธุรกิจให้ความสำคัญกับการบริหารระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยนำระบบสารสนเทศมาช่วยในการ บริหารจัดการ เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การบริหารคำสั่งซื้อ การวิเคราะห์กระบวนการจัดส่ง และการกระจายสินค้า รวมถึง ธุรกิจได้จัดทำข้อมูลกลุ่มสมาชิกร้านค้าส่งค้าปลีกและโชห่วย เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายในการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ธุรกิจมีทักษะและประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างเป็นทางการมากขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ยังเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านโชห่วยที่เป็นเครือข่าย ทำให้มีลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย ทำให้เข้าใจร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น

 

นอกจากนี้ กรมได้ขอความร่วมมือให้ บ.สหไทยฯ เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้นำสินค้าชุมชนเข้าจำหน่ายในห้างฯ มากขึ้น ทั้งในรูปแบบการจัดสรรพื้นที่เพื่อวางจำหน่ายสินค้า หรือการจัดโปรโมชันพิเศษเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาแนะนำและให้ผู้บริโภคได้ร่วมทดลองบริโภคสินค้าเพื่อเปิดและขยายตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ รวมทั้ง ขอให้เน้นการจ้างงานคนในพื้นที่เป็นหลักเพื่อให้เกิดจ้างงานในท้องถิ่น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้เกิดการหมุนเวียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เศรษฐกิจภาพรวมในระดับมหภาพมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

หลังจากที่ได้พูดคุยรับฟังถึงรายละเอียดด้านต่างๆ จากผู้ประกอบการแล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมเดินหน้าให้การสนับสนุนและช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ รวมทั้งนำความต้องการและข้อเสนอแนะต่างๆ มาดำเนินการจัดทำแผนการขยายตลาดเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจ และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างราบรื่น เพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสแห่งความสำเร็จ โดยมีภาครัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่" อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้