Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารยูโอบี (ไทย) ที่ ‘A-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AAA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

185

 

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (28 มีนาคม 2567)-----ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ ธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBT ที่ ‘A-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (Shareholder Support Rating: SSR) ที่ 'a-' อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ UOBT ที่ ‘F1’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ ‘bbb-’

 

สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

 

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

 

อันดับเครดิตพิจารณาจากปัจจัยด้านการสนับสนุน: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOBT พิจารณาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (SSR) ของธนาคาร ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งคือ United Overseas Bank Limited (UOB; AA-/Stable/aa-) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ UOBT ได้รับการจัดอันดับที่ 'F1' ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับ 'F2' เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มในการสนับสนุนของผู้ถือหุ้นมีความแน่นอนมากกว่าในระยะสั้น

 

อันดับเครดิตภายในประเทศของ UOBT สะท้อนถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารที่พิจารณาจากการสนับสนุนของผู้ถือหุ้นเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิต 'AAA(tha)' ของ UOBT สะท้อนถึงระดับของโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทรายอื่นในประเทศไทย

 

อันดับเครดิตถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศ: เพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ที่ 'A-'  เป็นปัจจัยที่จำกัดความสามารถของ UOBT ในการรับการสนับสนุนจาก UOB และเป็นปัจจัยที่จำกัดอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOBT

 

มีความเชื่อมโยงและการผสานการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ: UOBT และ UOB มีความเชื่อมโยงกันในด้านบริหารจัดการและการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกันอย่างมาก โดย UOB มีสัดส่วนการถือหุ้นใน UOBT ที่ 99.7% และมีอำนาจในการควบคุมการบริหารงานในคณะกรรมการธนาคาร และเป็นผู้ดูแลทิศทางกลยุทธ์ของ UOBT นอกจากนี้ UOBT และ UOB ยังมีการร่วมมือกันทางด้านการตลาดและด้านการดำเนินธุรกิจ เช่นธุรกิจระหว่างประเทศ หรือในด้านของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ฟิทช์ยังมองว่าการใช้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่ม น่าจะเป็นสัญญาณได้ว่ากลุ่มธนาคารแม่อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียงอย่างมากหาก UOBT ต้องประสบปัญหาทางการเงิน

 

สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากโรคระบาดโควิดเป็นไปอย่างช้าๆ โดย มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 1.9% ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ที่ปรับตัวที่สูงขึ้น น่าจะส่งผลให้โอกาสทางธุรกิจของธนาคารปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงมีความกังวนกับระดับหนี้สินที่ค่อนข้างสูงของระบบเศรษฐกิจ โดยมีอัตราส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 และมีการออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macro-prudential measures) มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การควบคุมอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะจำกัดโอกาสที่ผลประกอบการของธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยจะปรับตัวดีกว่าที่คาด

 

เครือข่ายทางธุรกิจในประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง: UOBT เป็นธนาคารขนาดกลางในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากประมาณ 4% การเข้าซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจธุรกิจสินเชื่อรายย่อยจาก Citibank ของ UOBT (ในเดือน พฤศจิกายน 2565) จะช่วยให้เครือข่ายธุรกิจของธนาคารเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่ประโยชน์จากการผลสานการดำเนินงานจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันในประเทศของธนาคารอย่างมาก อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารซึ่งคิดเป็นประมาณ 38% ของสินเชื่อรวม

 

คุณภาพสินทรัพย์มีเสถียรภาพ: อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของ UOBT อยู่ที่ 3.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 (ธันวาคม 2565: 3.4%) ซึ่งอยู่ในระดับทรงตัวนับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาด และยังคงอยู่ในระดับคะแนน 'bbb' สำหรับคุณภาพสินทรัพย์  ฟิทช์คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในอีกสองปีข้างหน้า เนื่องจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวลดลง

 

แรงกดดันต่อกำไรในระยะสั้น: อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยง ของ UOBT ปรับตัวลดลงอย่างมากเป็น 0.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 (ธันวาคม 2565: 1.3%) โดยมีสาเหตุหลักมาจากใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญ จากลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ ในลักษณะคล้ายกับธนาคารอื่น ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรมีที่จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากแรงกดดันในการตั้งสำรองน่าจะลดลง และค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อกิจการจาก Citibank ในปี 2566 จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารน่าจะได้รับประโยชน์จากพอร์ทสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันส่วนที่เพิ่งซื้อเข้ามาใหม่ และจากการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา

 

ฐานะเงินกองทุน ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป: อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของ UOBT ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการเข้าซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจสินเชื่อ (มิถุนายน 2566: 10.7%, 2564: 17%) ฟิทช์คาดว่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของจะปรับตัวดีขึ้นจากการสะสมกำไร แต่อัตรา CET1 ของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภาคธนาคารไทย (มิถุนายน 2566: 15.4%) ในระยะปานกลาง แม้ว่าคะแนนด้านฐานะเงินกองทุนของ UOBT จะอยู่ในกลุ่ม 'bb' แต่ฟิทช์มีการปรับเพิ่มระดับคะแนนขึ้นเป็น bbb- เนื่องจากฟิทช์รวมการพิจารณาถึงการสนับสนุนด้านเงินกองทุนและความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากกลุ่ม UOB ในกรณีที่มีความจำเป็น

สภาพคล่องได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนของกลุ่ม: ฟิทช์มองว่าสถานะสภาพคล่องของ UOBT อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของ UOBT ที่ 96.6% ในเดือนมิถุนายน 2566 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่ 93.9% อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการระดมเงินทุนของธนาคารจะได้รับประโยชน์ จากการสนับสนุนจากธนาคารแม่ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเข้าถึงวงเงินกู้ระหว่างธนาคารและ การระดมทุนในตลาดการเงินได้ดีขึ้น

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตภายในประเทศ

 

อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ UOBT อาจถูกปรับลดอันดับเครดิตได้ หากสมมติฐานด้านความสามารถและโอกาสในการให้การสนับสนุนของธนาคารแม่แก่ธนาคารลูกในประเทศไทยมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (VR) ของ UOB ลงหลายอันดับจนมาอยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'A-' หรือต่ำกว่า อาจบ่งชี้ว่าความสามารถของธนาคารแม่ในการให้การสนับสนุนได้ปรับตัวลดลง และอาจส่งผลเสียต่ออันดับเครดิตสนับสนุนของ UOBT อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและ อันดับเครดิตภายในประเทศ

 

นอกจากนี้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตภายในประเทศยังอาจถูกปรับลดอันดับได้ หากฟิทช์ประเมินว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนแก่ UOBT มีการปรับตัวลดลง ซึ่งอาจสะท้อนโดยการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่ลงต่ำกว่า 75% ร่วมกับการลดระดับการควบคุมการบริหารงานและการเชื่อมโยงในด้านกลยุทธ์กับธนาคารแม่ อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนในระยะปานกลาง

 

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นอาจถูกปรับลดอันดับได้ หากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดลงเป็น 'BBB'  อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของ UOBT อาจถูกปรับลดอันดับลงไปที่ ‘F1(tha)’ หากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงไปที่ ‘A-(tha)’ หรืออาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีการปรับลดปัจจัยด้านการสนับสนุนจาก UOB

 

ทั้งนี้การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศยังจะต้องพิจารณาเทียบเคียงกับโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารและบริษัทอื่นๆในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

 

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ UOBT อาจถูกปรับลดอันดับได้ หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญมีการปรับตัวด้อยลงกว่าคาดการณ์ของฟิทช์ ตัวอย่างเช่น หากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4% (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566: 3.5%) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปรับลดลงของความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงทรงตัวที่ประมาณ 1% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจอาจบ่งชี้ถึงการประสบปัญหาที่ไม่คาดคิด หรือการเสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัดในธุรกิจหรือโครงสร้างความเสี่ยงของธนาคาร

 

การรักษาระดับอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ 11% (ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภาคธนาคารไทยค่อนข้างมาก) อาจส่งผลให้มีการทบทวนและปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ควบคู่กันไป

 

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตภายในประเทศ

 

อันดับเครดิตสนับสนุนผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ไม่มีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เว้นแต่จะมีการปรับเพิ่มเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นก็ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ถ้าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวไม่ได้มีการปรับขึ้นเป็น 'A'

 

ไม่มีโอกาสที่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับขึ้นอีก เนื่องจากเป็นอันดับที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

 

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

 

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับจากการพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ทั้งนี้อาจบ่งชี้ได้จากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ทรงตัวในระดับที่สูงกว่า 2% และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3%  ควบคู่ไปกับการมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้  อย่างไรก็ตามการปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวอาจไม่เพียงพอสำหรับการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินหากอัตราส่วนด้านเงินกองทุนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นในประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่กว่า

 

อันดับเครดิตหุ้นกู้

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ UOBT อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร

 

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 (Basel III-compliant Tier 2 subordinated notes) ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิง ซึ่งคืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 2 อันดับ อันดับเครดิตที่ต่ำกว่าอยู่ 2 อันดับสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันเนื่องจากสถานะด้อยสิทธิของตราสารดังกล่าว หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) จึงไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมสำหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) วิธีการจัดอันดับเครดิตเป็นไปตามเกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตของฟิทช์และสอดคล้องกับตราสารที่คล้ายคลึงกันสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่นๆซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์

 

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร 4 อันดับ โดยแนวทางในการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวสอดคล้องกับการจัดอันดับเครดิตสำหรับตราสารหนี้ประเภทเดียวกันในกรณีที่ออกโดยธนาคารแม่ ซึ่งคือ UOB และสอดคล้องกับแนวทางพื้นฐานสำหรับการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ประเภทดังกล่าวตามเกณฑ์ของฟิทช์ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ UOBT สะท้อนถึงความคาดหวังที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติจาก UOB  ฟิทช์ใช้อันดับเครดิตซึ่งรวมปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่ (support-driven rating) ของ UOBT เป็นอันดับเครดิตอ้างอิงสำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 แทนที่จะใช้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า UOB จะให้การสนับสนุนแก่บริษัทลูกในประเทศไทยล่วงหน้าเพื่อป้องกันภาวะวิกฤติ (pre-emptive) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk)

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

การปรับลดอันดับเครดิตของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวจะส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของหุ้นกู้ทั้งหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3  และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1

 

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีโอกาสปรับขึ้นอีกแล้ว เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิง ซึ่งก็คือ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวนั้นอยู่ในอันดับสูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสมมติฐานของฟิทช์เกี่ยวกับความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ซึ่งฟิทช์ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นในขณะนี้

 

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานอยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน ‘อันดับเครดิตของประเทศ’ (บวก)

 

คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านฐานะเงินกองทุนและหนี้สินอยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน ‘ความวามยืดหยุ่นของเงินทุนและการสนับสนุนตามปกติ (บวก)’

 

อันดับเครดิตที่เชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตของ UOBT มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ ธนาคารแม่ซึ่งคือ UOB ในประเทศสิงคโปร์

 

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสาหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้