สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(16 มกราคม 2567)------(15 มกราคม 2567) ในงานเสวนา The JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ International Peace Foundation ได้เชิญนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก ศาสตราจารย์อีริก มัสกิน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2007 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ ทำไมโลกาภิวัฒน์ถึงล้มเหลวในการลดความเหลื่อมล้ำ
ศาสตราจารย์มัสกิน กล่าวถึงโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ว่าได้เปิดโอกาสให้เกิดการค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ตื่นตัวกับการค้าเสรีเป็นอย่างมาก สร้างความหวังว่ากลไกตลาดจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน แต่ในความเป็นจริงกลับเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทั้งในประเทศที่ร่ำรวยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging countries) ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Theory of Comparative Advantage) ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
ศาสตราจารย์มัสกินกล่าวย้อนถึงตำราเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่สมมติว่า แรงงานมี 2 ประเภท คือ แรงงานทักษะสูงและต่ำ ประเทศที่มีแรงงานทักษะสูงมาก ก็ควรจะผลิตสินค้ามูลค่าสูง ส่วนประเทศที่มีแรงงานทักษะต่ำมากกว่า ก็ผลิตสินค้าที่เน้นใช้แรงงาน แล้วนำมาค้าขายกัน จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งคู่
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์มัสกินได้ชี้ให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแรงงานมีระดับทักษะแตกต่างกันมากกว่าแค่ 2 ระดับ และงานก็มีทั้งงานที่ต้องการทักษะระดับสูง และงานที่ต้องการทักษะระดับต่ำกว่า ในแบบจำลองที่มีรายละเอียดมากขึ้นนี้ แรงงานที่มีทักษะสูงหรือปานกลางอาจจะได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ แต่แรงงานที่มีทักษะต่ำสุดจะไม่ได้อานิสงค์จากการค้าระหว่างประเทศ ยังคงมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ทำให้ความเหลื่อมล้ำก่อตัวขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา หรือแม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีคนตกงานจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศจีน และเกิดการประท้วงมากมายถึงทุกวันนี้
ความเหลื่อมล้ำในยุคหลังโลกาภิวัฒน์คงไม่มีทางกำจัดให้หมดไปได้ แต่หลายประเทศมีความพยายามที่จะลดความต่างระหว่างคนจนและคนรวย หนึ่งในนั้นคือการกระจายทรัพยากรใหม่ (Redistribution) ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ภาษี หรือการจัดหาสวัสดิการโดยรัฐ ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นการเก็บเงินคนรวยมาให้คนจน แต่มีข้อควรระวังคือ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดพึ่งพาสวัสดิการรัฐเพียงอย่างเดียว ไม่พยาพยามผลักดันชีวิตให้ดีขึ้น
ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าการดึงคนรวยลงมา คือการยกระดับคนจนขึ้นไปผ่านการสร้างทักษะความรู้ แต่คำถามสำคัญคือ ใครจะเป็นผู้แบกรับต้นทุนเหล่านี้ เมื่อคนจนไม่สามารถจ่ายไหว ส่วนนายจ้างไม่มีแรงจูงใจในการสร้างคน เพราะหากทุ่มเทอบรมพัฒนาคน แต่ลูกจ้างกลับลาออกก็เท่ากับสูญเปล่าทั้งเงินทุนและเวลา ศาสตราจารย์มัสกินจึงเน้นย้ำว่า รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาแรงงานท้องถิ่นทักษะต่ำเหล่านี้ ไม่ว่าจะผ่านการเทรนหน้างานหรือพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีขึ้น
“ยกตัวอย่างเกษตรกรในประเทศบราซิล แม้จะรู้ว่าต้องส่งลูกหลานเรียนสูง ๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน แต่ก็ต้องการให้ลูกหลานมาช่วยงานในไร่นาจึงไม่สามารถไปโรงเรียนได้ รัฐบาลบราซิลแก้ปัญหาด้วยการให้เงินอุดหนุน มีข้อแม้เพียงว่า จะให้เฉพาะบ้านที่ส่งลูกไปโรงเรียนเท่านั้น ในที่สุด แม้จะมีลูกหลานบางบ้านกลับไปทำเกษตรหลังเรียนจบ แต่ก็กลับไปพร้อมกับความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้นด้วย”
รศ. ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า เกษตรกรไทยเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระดับล่างสุดของความมั่งคั่ง แม้ว่าจะผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกให้กับประเทศมหาศาล แต่เป็นการประกอบอาชีพบนความไม่แน่นอนมาโดยตลอด ปัจจัย 3 ข้อสำคัญที่ฉุดรั้ง คือ การขาดที่ดินทำกินอย่างมั่นคงทำให้ไม่อยากลงทุนระยะยาว การขาดระบบจัดการน้ำที่ดีทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพสม่ำเสมอและไม่สามารถเลือกพืชมีโอกาสทางตลาดดีแต่ต้องการน้ำมาช่วยกระจายความเสี่ยงได้ การขาดความรู้และทักษะที่จะทำให้ได้อัตราผลผลิตต่อไร่มากขึ้นหรือต้นทุนต่ำลง ดังนั้น ในช่วงที่เกษตรกรกำลังปรับตัวทดลองไปสู่การผลิตรูปแบบใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ควรมีการอุดหนุนจากภาครัฐที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ (Area-based approach) และมีโฟกัส ไม่อุดหนุนด้วยการแจกเงินถ้วนหน้าอย่างที่แล้วมา เช่น บางพื้นที่อาจต้องการเงินทุน บางพื้นที่ต้องการแหล่งน้ำ แต่บางพื้นที่อาจต้องให้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ต้องการบุคลากรมาสอนการใช้งาน ให้เวลาเรียนรู้และติดตามผลร่วมกัน เพราะการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรจะสำเร็จได้ ต้องผ่านการออกแบบที่ตอบโจทย์ทั้งพื้นที่ ความต้องการของคน บริบทสังคม ให้ถูกที่และถูกเวลา
ในขณะที่ ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวลว่า คอนเนคชั่น เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการกระจายทรัพยากรไม่ทั่วถึงไปยังคนจน โดยหลักการแล้ว การมีคอนเนคชั่นเป็นเรื่องที่ดี เป็นการแสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ ช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบ ลดต้นทุนการทำธุรกรรมบางอย่าง เราจึงพบเห็นการสร้างคอนเนคชั่นทางธุรกิจหรือการเมืองอย่างกว้างขวางในประเทศไทย แต่สำหรับคนที่อยู่นอกวงกลับถูกเพิ่มต้นทุนหรือถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงโอกาสและทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การใช้เทคโนโลยีไม่ถูกกระจายอย่างเป็นธรรม แทนที่จะเปิดเผยข้อมูลแบบ open data ข้อมูลกลับถูกใช้เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ประโยชน์ของโลกาภิวัฒน์กำลังส่งผ่านให้กับคนเฉพาะกลุ่มที่มีช่องทางค้าขาย ได้ปริมาณการค้าขายที่มากขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นบน แต่ชนชั้นล่างที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในอุตสากรรมนำเข้าส่งออกกลับถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่ชนชั้นกลางก็ก้มหน้าก้มตาทำงานหาเลี้ยงชีพและจ่ายภาษี ความท้าทายจึงเป็นการสร้างความสมดุลในชนชั้นทุกกลุ่มให้เติบโตไปด้วยกัน