
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(29 พฤศจิกายน 2566)---บอร์ดกนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ระบุอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสม พร้อมปรับลด GDP ปีนี้เหลือโต 2.4% จากเดิม 2.8% คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.3%
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม
คณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง โดยในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.4 ( จากเดิมคาดการณ์ 2.8%) และ 3.2 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราการขยายตัวในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.4 ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว แต่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากร้อยละ 2.6 จากประมาณการครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน และราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.2 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจเริ่มทรงตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าสอดคล้องสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
กูรูฟินันเซีย ชี้กนง. ดอกเบี้ย 2.25%ตามคาดหมาย
กระทบต่อกลุ่มธนาคารฯ จำกัด/กลุ่ม finance ส่วนใหญ่ตอบรับข่าวแล้ว
บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า กลุ่มสถาบันการเงิน (Bank/Finance): มติ กนง. ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% เป็นไปตามคาดหมาย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมุมมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเห็นการทรงตัวที่ระดับปัจจุบันไปอย่างน้อยในช่วง 1H24 อย่างไรก็ตาม การที่ กนง. มีการปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 23-24 แม้จะเป็นไปตามที่คาดหมาย แต่ก็สะท้อนมุมมองลบต่อแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อของกลุ่มสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน
สำหรับผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารเชื่อว่ามีจำกัด เนื่องจากมีการคาดหมายล่วงหน้าและราคาหุ้นน่าจะสะท้อนทิศทางอัตราดอกเบี้ย และแนวโน้ม NIM ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบจากการปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วง 2Q-1H24 เป็นต้นไป (จากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ทยอยขึ้นแต่ yield ของเงินให้สินเชื่อจะเริ่มทรงตัว) เช่นเดียวกับกลุ่ม finance เชื่อว่าราคาหุ้นส่วนใหญ่ตอบรับ sentiment บวกของอัตราดอกเบี้ยตลาดที่จะเริ่มทรงตัวไปแล้วระดับหนึ่ง เนื่องจากช่วยคลายแรงกดดันต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เป็นขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กลุ่ม finance ยังมีประเด็นให้ติดตามเรื่องของหลักเกณฑ์การออกหุ้นกู้ใหม่ของ กลต. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำ public hearing แนวทางเบื้องต้นคือ 1) ต้องมี credit rating ระดับ A ขึ้นไป (จากเดิม BBB ขึ้นไป หรือ investment grade) และ 2) การเปิดเผย key financial ratio ที่สำคัญเพิ่มเติม ซึ่งจากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจน แต่หากเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการออกหุ้นกู้ใหม่ๆ แทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด ซึ่งเราประเมินว่าน่าจะมีความเป็นไปได้น้อย
สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารเราชอบ ธ.พ.ใหญ่ แม้แนวโน้ม NIM ปี 2024 จะเริ่มแคบลง แต่ด้วยการกระจายตัวของสินเชื่อที่หลากหลายกว่า ธ.พ.เล็ก ที่เน้นกลุ่มเช่าซื้อ และกลุ่ม high yield ซึ่งแนวโน้มสินเชื่อกลุ่มนี้จะเริ่มชะลอตัวลงเนื่องจากนโยบายเน้นคุมคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น หุ้น top picks แนะนำ KBANK (TP@160THB ) และ KTB (TP@THB23)
ส่วนกลุ่ม finance เราชอบหุ้นในกลุ่มสินเชื่อ title loans ซึ่งเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีกว่ากลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกและรถจักรยานยนต์ หุ้น top picks เลือก TIDLOR (TP@THB28) และแนะนำซื้อ SAWAD (TP@THB54) ส่วน MTC (TP@THB44) แนะนำซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันเกิน TP ไปแล้ว #FINANSIA #FSSIA
///จบ////