Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews:TPL เคาะIPO ที่ 3.30 บาท/หุ้น จองซื้อวันที่ 22 ,23 และ 26 มิ.ย. 66

2,014

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(20 มิถุนายน 2566)---- TPL เคาะราคาIPO ที่ 3.30 บาท/หุ้น จองซื้อวันที่ 22 ,23 และ 26 มิ.ย. 66 ขณะที่จองซื้อผ่านออนไลน์ของบล.ลิเบอเรเตอร์ 24 และ 25 มิ.ย. 66 เท่านั้น

บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน)TPL ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทย ทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัยเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 3.30 บาท/หุ้น โดยมีระยะเวลาการเสนอขาย วันที่ 22 ,23 และ 26 มิถุนายน 2566 สำหรับการจองซื้อผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่าย และผู้จัดจำหน่ายทุกราย ตามเวลาและสถานที่ที่เปิดให้จองซื้อด้วยวิธีการต่างๆ ของผู้จัดการการจัดจำหน่ายและผู้จัดจำหน่ายแต่ละราย

สำหรับการจองซื้อผ่านระบบออนไลน์ของบริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จํากัด วันที่ 24 และ 25 มิถุนายน 2566 เท่านั้น


TPL จะเสนอขายหุ้นIPO จำนวน 120.00 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 22.90 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทสัดส่วนการเสนอขายหุ้นแบ่งเป็น
- เสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 96,000,000 หุ้น ร้อยละ 80
- เสนอขายต่อนักลงทุน สถาบัน 6,000,000 หุ้นร้อยละ 5
- เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 18,000,000 หุ้นร้อยละ 15


สำหรับที่มาของการกำหนดราคาเสนอขายและข้อมูลทางการเงินเพื่อประกอบการประเมินราคาหุ้นที่เสนอขาย การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ในครั้งนี้ กำหนดตามมูลค่าเชิงเปรียบเทียบกับมูลค่าของบริษัทเทียบเคียงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) และ ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย ที่สามารถอ้างอิงได้ (Market Comparable) โดยพิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท (Price to Earnings Ratio : P/E)

อย่างไรก็ดี เนื่องจากใน SET และ Mai ไม่มีบริษัทจดทะเบียนรายใดที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่สามารถเทียบเคียงกันได้กับการประกอบธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 1 แห่งซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนซึ่งใกล้เคียงกับธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าสำหรับลูกค้าบุคคลทั่วไปของบริษัท แต่เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวมีผลประกอบการขาดทุน จึงไม่สามารถคำนวณอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท (Price to Earnings Ratio : P/E) เพื่อใช้ในการเทียบเคียงได้ ดังนั้น บริษัทจึงพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในทวีปเอเชียที่ให้บริการจัดส่งสินค้าและพัสดุที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจของบริษัท โดยพิจารณาผู้ประกอบการที่มีธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าสำหรับลูกค้าภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปเช่นเดียวกันกับบริษัท รวมถึงพิจารณาข้อมูลของกลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ (TRANS) ใน SET และกลุ่มธุรกิจบริการ (Service) ใน Mai ประกอบ


ทั้งนี้ ราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 3.30 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 47.14 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.07 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 27.82 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทก่อนการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ จำนวน 404.00 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution) และคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ 66.00 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.05 บาทต่อหุ้น หากพิจารณากำไรสุทธิต่อหุ้นที่คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 524.00 ล้านหุ้น (Post-IPO Dilution)


สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด Silent period : จำนวน 44.80 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 8.55 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้


วัตถุประสงค์การใช้เงิน บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งนี้จำนวนประมาณ 396.00 ล้านบาท (ก่อนหักค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง) เพื่อไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังนี้
1.ซื้อที่ดินและก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าและ/หรือจุดให้บริการ จำนวน 80.00 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินโดยประมาณภายในปี 2567
2.ซื้อยานพาหนะ สถานีชาร์จไฟและอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 260.00 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินโดยประมาณภายในปี 2567
3.ลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 6.00 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินโดยประมาณ ภายในปี 2567
4.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัท จำนวน 20.00 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินโดยประมาณ ภายในปี 2566
5.ชำระหนี้คืนแก่สถาบันการเงิน จำนวน 30.00 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงินโดยประมาณ ภายในปี 2566


บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของจากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ให้สามารถประกอบธุรกิจขนส่งได้ โดยลักษณะการให้บริการหลักของบริษัท ได้แก่ การรับสินค้าหรือสิ่งของจากจุดบริการทั่วประเทศหรือรับจากลูกค้าโดยตรง แล้วรวบรวมมาคัดแยกที่จุดคัดแยกเพื่อนำไปส่งที่จุดหมายปลายทางซึ่งมีทั้งคลังสินค้า โรงงาน ร้านค้า หรือบ้านของลูกค้า รวมถึงสาขาของบริษัท และมีการให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง (Cash on Delivery: COD) โดยลูกค้าที่ใช้บริการกับบริษัทสามารถติดตามสินค้าที่จัดส่งได้จากระบบของบริษัท (Parcel Tracking)ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการขนส่งที่บริษัทพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยบริหารจัดการการจัดส่งสินค้า โดยครอบคลุมตั้งแต่การรับสินค้า การออกบาร์โคด (barcode) สำหรับตรวจสอบสถานะการจัดส่ง การบันทึกการจัดรถเพื่อรับและส่งสินค้า การบันทึกข้อมูลลูกค้าปลายทางและข้อมูลการเก็บเงินปลายทาง นอกจากนี้ บริษัทยังมีการให้บริการเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า ได้แก่ บริการจัดส่งคืนเอกสารการจัดส่งสินค้าสู่ลูกค้าต้นทาง (Proof of Delivery: POD) บริการห่อหุ้มสินค้า (Packing) และบริการจัดชุดสินค้าเพื่อเตรียมกระจาย (Fullfillment) ซึ่งเป็นการให้บริการเสริมให้แก่กลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจเท่านั้น

สำหรับโครงสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัทสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการจัดส่ง ได้แก่ 1) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (Business to Business: B2B) 2) การจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (Customer to Customer: C2C) และ 3) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (Business to Customer: B2C)


ผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 - 2565 บริษัทมีรายได้จากให้บริการ จำนวน 703.22 ล้านบาท 525.12 ล้านบาท และ 480.75 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิจำนวน 127.66 ล้านบาท 21.32 ล้านบาท และ 21.11 ล้านบาท โดยในปี 2563 บริษัทมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการสูงมาก โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากลูกค้ากลุ่ม B2C เป็นหลัก ประกอบกับบริษัทได้ประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำที่สุดในช่วงปี 2563-2565 ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นสูงถึง 236.24 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึงร้อยละ 33.59 และส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 127.66 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูงถึงร้อยละ 17.99 ในช่วงเวลาดังกล่าว


ในปี 2564 บริษัทต้องเผชิญกับปัจจัยเชิงลบทางด้านรายได้โดยมีอัตราการลดลงของรายได้เท่ากับร้อยละ (25.33) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวและการแข่งขันในธุรกิจขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่ม B2C อย่างไรก็ดี ทางบริษัทได้พยายามลดผลกระทบดังกล่าวโดยการกระจายฐานลูกค้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ภาคธุรกิจและเพิ่มจุดให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยโดยผ่านพันธมิตรแฟรนไชส์ ส่งผลให้บริษัทยังคงมีอัตราการเติบโตของรายได้ในกลุ่มลูกค้า B2B และ C2C โดยกลุ่มB2B มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.82 เมื่อเทียบกับปี 2563และกลุ่ม C2C มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.12 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งช่วยลดผลกระทบได้บางส่วนจากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของลูกค้ากลุ่ม B2C ดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ดี บริษัทยังต้องเผชิญกับปัจจัยเชิงลบด้านต้นทุนเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่าในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนเนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันเฉลี่ยต่อลิตรเท่ากับ 20.87 – 25.84 บาทต่อลิตร ในปี 2563 เป็น 24.96-29.72 บาทต่อลิตร ในปี 2564 ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นและอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 96.96 ล้านบาทและร้อยละ 18.46 ซึ่งบริษัทได้พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารเพื่อลดผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงและต้นทุนบริการที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัยเชิงลบทั้งทางด้านรายได้และต้นทุนดังที่กล่าวมา บริษัทยังคงมีกำไรสุทธิ 21.32 ล้านบาทและมีอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 3.99


สำหรับในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการลดลงเท่ากับร้อยละ (8.45) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 โดยเป็นการลดลงของรายได้จากทุกกลุ่มลูกค้าเนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นและการลดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Platform Online ในกลุ่มลูกค้า B2C สำหรับกลุ่มลูกค้า C2C บริษัทได้มีการปรับเพิ่มราคาให้บริการเนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันเฉลี่ยต่อลิตร เท่ากับ 24.96 - 29.72 บาทต่อลิตรในปี 2564 เป็น 29.32-35.02 บาทต่อลิตร ในปี 2565 ซึ่งส่งผลให้ลูกค้ามาใช้บริการน้อยลง และประกอบกับความต้องการใช้บริการขนส่งของลูกรายใหญ่กลุ่ม B2B ลดลง ส่งผลให้ภาพรวมของรายได้ของบริษัทลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2564 ในขณะที่บริษัทยังคงเผชิญกับปัจจัยลบด้านราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากในปี 2564


อย่างไรก็ดีบริษัทได้มีการเจรจากับลูกค้าเพื่อปรับเพิ่มราคาขายให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และบริษัทยังได้มีการบริหารจัดการบุคลากรและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นส่งผลให้ต้นทุนบริการลดลง 40.65 ล้านบาท และร้อยละ 9.50 ส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.39 แม้ว่ากำไรขั้นต้นจะลดลงเป็น 93.24 ล้านบาท บริษัทมีกำไรสุทธิ 21.11 ล้านบาทและมีอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 4.34 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564


ในงวด 3 เดือนสิ้นสุด 31 มีนาคม 2566 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 9.77 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้จากกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่ม B2B และกลุ่ม B2C โดยกลุ่มB2B มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565และกลุ่ม B2C มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากบริษัทได้พยายามกระจายฐานลูกค้าภาคธุรกิจสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งได้แก่กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตของรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของลูกค้ารายใหญ่ B2C ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ส่งผลให้ลูกค้ารายใหญ่ดังกล่าวใช้บริการมากขึ้น สำหรับกลุ่มลูกค้า C2C บริษัทยังคงพบกับสถานการณ์ด้านการแข่งขันราคาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีบริการจัดส่งพัสดุด่วน ในขณะที่บริษัทยังคงมุ่งเน้นการจัดส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก และมีรูปทรงหลายหลาย ซึ่งใช้ระยะเวลาการจัดส่งตามรอบเดินรถปกติของบริษัท ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้า C2C ของบริษัทลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ทั้งนี้ บริษัทไม่มีนโยบายการแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการรายอื่นแต่มุ่งเน้นการปรับปรุงการให้บริการแบบเฉพาะกลุ่มลูกค้า เช่นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษให้แก่เฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีแนวโน้มการส่งสินค้าอย่างสม่ำเสมอและเพิ่มช่วงเวลาในการเปิดให้บริการบางสาขาเป็น 7 วันต่อสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 สำหรับในด้านของต้นทุนบริการนั้น บริษัทยังคงเน้นการควบคุมต้นทุนพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 21.09 ล้านบาทเป็น 24.26 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากร้อยละ 18.04 เป็นร้อยละ 18.90 ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.41 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยเป็นผลจากการมีกำไรจากการจำหน่ายยานพาหนะเก่าสูงถึง 5.73 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ประกอบกับการที่บริษัทมีกำไรขั้นต้นและอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากทั้งด้านการเติบโตของรายได้ในทุกกลุ่มลูกค้าและการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565

 

บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้และเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภท ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินปันผลจะต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการ และในกรณีที่งบการเงินเฉพาะกิจการมีผลขาดทุนสะสมอยู่ บริษัทจะไม่มีการพิจารณาจ่ายเงินปันผล

 

----จบ----

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้