สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(4มกราคม 2566)--------- (สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน) IAA เผยผลสำรวจกูรู ส่วนใหญ่ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ SETเฉลี่ยอยู่ที่ 1,694 จุด พร้อมแจก 5หุ้นเด่น ADVANC, AOT, BBL, COM7, CPALL
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) โดยครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 26 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 22 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 3 บริษัท และบริษัทโกลด์ฟิวเจอร์ส 1 บริษัท ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
สมมติฐาน GDP ปี 66 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวก ผู้ตอบที่ให้ตัวเลขต่ำสุดคือ 2.90% ส่วนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.60% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน (ต.ค.65) ซึ่งเคยใช้สมมติฐานที่ 3.86%
ทางด้านสมมติฐานราคาน้ำมัน มีค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามที่ 87.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยแยกตามกลุ่ม มีผู้ตอบดังนี้
• 80 – 89.99 เหรียญสหรัฐ มีผู้ตอบร้อยละ 38.46
• 90 – 99.99 เหรียญสหรัฐ มีผู้ตอบร้อยละ 61.54
ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนร้อยละ 69.23 มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 มีแนวโน้มไปในทิศทางบวก ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 15.38 เท่ากัน ที่มองไปในทิศทางลบ และมองว่ามีแนวโน้ม Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากไตรมาส 4 ปี 2565
ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยดัชนีหุ้นไทยสิ้นไตรมาสที่ 1 นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดว่า จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,694 จุด
เมื่อให้มองยาวไปจนถึงสิ้นปี 2566 ปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในปี 2566 ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้ตอบแบบสำรวจ 96.15% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 80.77% ผลประกอบการ บจ.ปี66 และ Fund Flows จากต่างประเทศสู่ตลาดหุ้นไทย มีผู้ตอบ 76.92% ขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ มีผู้ตอบว่าเป็นผลบวก 73.08%
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดทุนไทยในขณะนี้จนถึงสิ้นปี 2566 ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศทั้ง อเมริกา ยุโรป เอเชีย ผู้ตอบทั้งหมด เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลลบ รองลงมาการลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก มีผู้ตอบ 62.96% ตามมาด้วยปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 53.85% ตามลำดับ
ปัจจัยที่ควรจับตามองที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 1 ผู้ตอบส่วนใหญ่มองว่าการกลับมาเปิดประเทศของจีน และการเลือกตั้งภายในประเทศ
สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่าพรรคการเมืองควรมีนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับผลกระทบทางงบประมาณ ส่วนใหญ่เสนอให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นร้อยละ 52.38 ของผู้ตอบให้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ถัดมาจำนวนร้อยละ 33.33 ของผู้ตอบ เสนอนโยบายที่เพิ่มกำลังซื้อแก่ประชาชน เพื่อกระตุ้นการบริโภค ได้แก่ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ชะลอการเก็บภาษีหุ้น อีกทั้งพัฒนาฝีมือแรงงาน / ระบบการศึกษาไทย และผู้ตอบร้อยละ 23.81 เสนอด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ นโยบายกระตุ้นการลงทุน สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ขยายตลาดส่งออก
ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในปี 2566 มีนักวิเคราะห์ถึง 46.15% ที่คาดว่าจะปรับขึ้น 0.50% ส่วนที่เหลือนั้น มี 42.31% ที่มองว่าปรับขึ้น 0.75% ผู้ตอบ 7.69% ที่มองว่าจะปรับขึ้น 0.25% และมี 3.85% ที่มองว่าปรับขึ้น 1% หรือมากกว่า ตามลำดับ
คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2566 ของตลาดเฉลี่ยที่ 105.34 บาท เพิ่มขึ้นกว่าผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 100.36 บาทต่อหุ้น โดย แยกตามกลุ่มมีผู้ตอบดังนี้
• 90 – 99.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 15
• 100 – 109.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 75
• 110 – 119.99 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 10
EPS Growth ของปี 2566 คาดว่า EPS Growth เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.06 เมื่อแยกตามช่วงระดับการเติบโต จะอยู่ระหว่างร้อยละ
• 1 - 9.99 มีผู้ตอบร้อยละ 70
• 10 - 19.99 มีผู้ตอบร้อยละ 30
สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ตลอดปี 66 เฉลี่ยที่ระดับ 1,773 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 64.71 ที่คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,701 – 1,800 จุด รองลงมาผู้ตอบร้อยละ 23.53 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,801 – 1,900 และผู้ตอบร้อยละ 11.76 มองว่า จุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,601 – 1,700 ตามลำดับ
เมื่อมองจุดต่ำสุดของปี 2566 นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน คาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ปี 2566 มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุดที่ 1,554 จุด
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2566 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,741 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 56 จุดจากระดับคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน อยู่ที่ 1,685 จุด
ความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการลงทุน แนะนำ ให้มีเงินสด / เงินฝากระยะสั้นร้อยละ 12 ของพอร์ต และมีกองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 20.12
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย ร้อยละ 28.52 รองลงมา ลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ร้อยละ 23.60 ตามมาด้วยการแบ่งเงินลงทุนไว้ในทองคำ ร้อยละ 7.92 และกองทุนอสังหา/REIT ร้อยละ 7.52 และสินทรัพย์อื่นๆ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน น้ำมัน ร้อยละ 0.32
โดยความเห็นต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศ / กองทุนหุ้นต่างประเทศ แนะนำกองทุนหุ้นจีน และเวียดนาม จากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาปกติอีกครั้ง
หมวดธุรกิจที่แนะนำเพิ่ม- ลดน้ำหนักการลงทุนในไตรมาส 1
สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก ธนาคาร การท่องเที่ยว
ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดธุรกิจปิโตรเคมี พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
หุ้นเด่น
รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 4 สำนักขึ้นไป มีดังนี้ (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)
1. ADVANC เป็นหุ้น Defensive ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จ่ายเงินปันผันสม่ำเสมอราว 4% ต่อปี และประมาณการณ์กำไรมี Upside จากการต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจการเงิน คือ Virtual Bank
2. AOT มองว่าผลประกอบการจะพลิกเป็นกำไรหลังการท่องเที่ยวฟื้นตัว
3. BBL โดยมองว่าได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ภาคธุรกิจ
4. COM7 ปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยที่สูงขึ้น 2) การครอบครองมือถือ 5G ที่สูงขึ้น และ 3) เดินหน้าขยายสาขา 150 แห่งตามแผนต่อเนื่อง (ปี 2022 ขยายไปแล้ว 113 สาขา)
5. CPALL ปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคฟื้นตัวต่อรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนุนการขยายตัวของ Same Store Sales Growth (SSSG)
----จบ---