Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: TPCH มั่นใจปี 65 รายได้โต 30-40% /JDF ปิดจองซื้อ IPO เกลี้ยง เทรด SET 7 เม.ย.นี้

4,284


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(31 มีนาคม 2565)------------TPCH มั่นใจผลงานปี 65 เติบโตต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล-ขยะ 11 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์ เต็มปี ฟาก "กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี" ประธานคณะกรรมการบริหาร เผยเตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน-บันนังสตา ภายในไตรมาส 2/65 หนุนรายได้ปีนี้โต 30-40%

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 คาดว่า ยังมีการเติบโตที่ดี สามารถทยอยรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ รวม 11 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 ,TPCH 2 และโรงไฟฟ้าขยะ SP มีกำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์


“เราประเมินผลงานในปีนี้ คาดว่า ยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ที่ได้รับราคาค่าไฟค่อนข้างสูง รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมทั้ง 10 แห่ง ขณะเดียวกัน การเดินเครื่องของ โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ ,TPCH 1 , TPCH 2 , TPCH 5 มีความเสถียรมากขึ้น รวมทั้ง การเตรียม COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล อีก 2 แห่ง มั่นใจว่า จะช่วยสนับสนุนผลงานในปีนี้ให้เติบโตที่ 30-40% ได้” นางกนกทิพย์กล่าว

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า TPCH เตรียมพร้อมที่จะ COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก และคาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 2/65 อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 250 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566


“ในปี 65 นี้ TPCH ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการศึกษานโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยการนำพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ในปี 2565 ประมาณ 122 เมกะวัตต์ มาทำการซื้อขาย Carbon Credit ในรูปแบบของ I-REC (International Renewable Energy Certificate) ซึ่งเป็นการขอรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและนำ Carbon Credit มาขายเพื่อก่อให้เกิดรายได้จริงในปีนี้ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 เมกะวัตต์ จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 30,000-40,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ดังนั้นหาก บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้า ประมาณ 122 เมกะวัตต์ จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 400,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อปี และสามารถซื้อขาย I-REC ได้ประมาณ 700,000 I-REC ต่อปี อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจอื่นที่อาจก่อให้เกิดรายได้นอกเหนือจากการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด


อนึ่ง ภาพรวมผลการดำเนินงานของปี 2564 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) มีรายได้รวม 2,470.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.0% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 1,777.37 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 135.40 ล้านบาท ขณะที่งวดไตรมาส 4/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 600.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 471.99 ล้านบาท


นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดปี 2564 เป็นเงินสดอีก 0.053 บาท/หุ้น กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date)ในวันที่ 28 เมษายน 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในงวด 9 เดือนแรก ในอัตรา 0.343 บาท/หุ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 21 เมษายน 2565

 

 


กระแสตอบรับดีเยี่ยม! สำหรับหุ้นไอพีโอน้องใหม่ป้ายแดง "เจดีฟู้ด" หรือ JDF โดย IPO 150 ล้านหุ้น มีนักลงทุนจองซื้อเข้ามาอย่างล้นหลาม สะท้อนความเชื่อมั่นในฐานะ Food Tech สุดแข็งแกร่ง และมั่นใจจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่อเนื่อง ในวันที่เข้าซื้อขายวันแรกใน SET วันที่ 7 เมษายนนี้ ด้าน 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ เผย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมโยน Big Lot บนกระดานในวันเทรด จำนวน 11 ล้านหุ้น หรือ 1.85% ให้กรรมการและผู้บริหาร เพื่อสร้างแรงจูงใจและเติบโตไปพร้อมกัน

นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของ บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF เปิดเผยว่า ในช่วงเปิดจองซื้อหุ้น IPO ของ JDF ระหว่างวันที่ 29 - 31 มีนาคมที่ผ่านมา มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาจองซื้อเต็มจำนวน สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ JDF ทั้งศักยภาพการเติบโตในอุตสาหกรรมอาหาร แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่บริษัทฯ ก็ยังบริหารธุรกิจและจัดการความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี จึงมั่นใจว่า JDF จะได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่องในวันเข้าซื้อขายเป็นวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร / อาหารและเครื่องดื่ม วันที่ 7 เมษายน 2565 นี้


ทั้งนี้ JDF เสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 150 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท กำหนดราคา IPO หุ้นละ 2.60 บาท โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 5 แห่ง คือ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด


ด้านนายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF กล่าวเสริมว่า JDF จะเป็นอีกหุ้นเด่นที่น่าสนใจ โดยมีปัจจัยพื้นฐานโดดเด่น มีโรงงานแห่งใหม่ที่มีมาตรฐานรับรองคุณภาพในระดับสากล สามารถเพิ่มกำลังการผลิตพร้อมรองรับโอกาสการเติบโตในยุค New Normal เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูประดับประเทศซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศและลงทุนในระบบเทคโนโลยีและเครื่องจักรเพิ่ม เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต จึงมองว่า JDF จะเป็นหุ้นคุณภาพสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาบริษัทที่มีจุดแข็งและปัจจัยส่งเสริมการเติบโตที่มั่นคงตามเทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารโลก


นางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ JDF เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ประมาณ 370.50 ล้านบาท เพื่อขยายช่องทางตลาดไปยังต่างประเทศ ทั้งประเทศในกลุ่ม CLMV ประเทศจีนตอนใต้และประเทศอินเดีย ลงทุนในการวิจัยและพัฒนารวมถึงเครื่องจักรของกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูงและลงทุนในระบบเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิตและเชื่อมโยงด้านข้อมูล และใช้ชำระคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงิน โดยระยะเวลาในการใช้เงินปี 2565-2567


ด้วยจุดแข็งด้านนวัตกรรมอาหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูปมายาวนานกว่า 20 ปี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารยักษ์ใหญ่มากมาย การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้เป็นการสนับสนุนให้บริษัทฯได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าและพันธมิตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเติบโตในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมเครื่องปรุงรสและอาหารแปรรูปของคนไทยสู่ระดับโลก

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ JDF คือ กลุ่ม "ครอบครัวหอสัจจกุล" โดยมีสัดส่วนก่อน IPO 75% หลัง IPO 54.87% และนางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ สัดส่วนก่อน IPO 25% หลัง IPO 18.28%


อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ภายหลังหุ้นของบริษัทซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ นายธีรบุล หอสัจจกุล และนางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ มีความประสงค์จะดำเนินการขายหุ้นสามัญเดิมที่ตนถืออยู่ในบริษัท ให้แก่กรรมการอิสระและผู้บริหาร เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือเสริมสร้างกำลังใจให้กรรมการอิสระหรือผู้บริหารในการร่วมงานกับบริษัท โดยจะมีการซื้อขายหุ้นสามัญเดิม 11,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 1.85 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขาย ในเท่ากับราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนในวันแรกที่หุ้นสามัญของบริษัทเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่าน Big Lot ซึ่งการขายหุ้นสามัญเดิมดังกล่าวไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรกนี้


ทั้งนี้ การขายหุ้นดังกล่าวของ นายธีรบุล หอสัจจกุล และนางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจของกลุ่มผู้ถือใหญ่ของบริษัท โดยภายหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเดิมแก่กรรมการบริษัทและผู้บริหารดังกล่าว กลุ่มครอบครัวหอสัจจกุล และนางสาวรัตนา เอี้ยประเสริฐศักดิ์ ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนหุ้นภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชน ซึ่งยังคงมีอำนาจในการเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่

 


---จบ---

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้