Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews:บจ.ตบเท้าผ่านโรงไฟฟ้าชุมชน

1,510

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(13กันยายน2564)------- บจ.ตบเท้าผ่านโรงไฟฟ้าชุมชนTPCH ยื่นอุทธรณ์เทคนิคโรงไฟฟ้าชุมชนผ่านอีก 1 บริษัท ดันโรงไฟฟ้าในกลุ่มเข้ารอบ 10 บริษัท-กำลังผลิตรวม 38 MW ด้านUAC เสิร์ฟข่าวดี โรงไฟฟ้าชุมชน ขอนแก่น – มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด 12 MW ผ่านฉลุย ขณะที่CWT เฮ!! ยื่นอุทธรณ์เทคนิคโรงไฟฟ้าชุมชนผ่าน 10 โครงการ ฟากSCI ได้เข้าชิง “โรงไฟฟ้าชุมชน”เพิ่มเป็น 4 โครงการ-กำลังการผลิตรวม 14 MW ดีเดย์ 23 ก.ย.นี้ ส่วนCV ผ่านคุณสมบัติ โรงไฟฟ้าชุมชน 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 9.6 MW



นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยบริษัทย่อยของ TPCH ได้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เพิ่มจำนวน 1 โครงการ บริหารโดย บริษัท ไบโอเอ็นเนอร์ยี่ สตูล จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีขนาดกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพ

“การที่โรงไฟฟ้าชุมชนของบริษัทฯ ผ่านการยื่นอุทธรณ์ฯ เพิ่ม ทำให้บริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนสามารถผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในรอบแรกรวมเป็น 10 บริษัท จากเดิม 9 บริษัท และในขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างการรอประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 นี้” นางกนกทิพย์กล่าว

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ TPCH กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ผ่านเกณฑ์พิจารณา 9 บริษัท กำลังการผลิตรวม 35 เมกะวัตต์ ในรอบแรก ประกอบด้วย โครงการผลิตประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลบริหารโดย 1.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 9 จำกัด จังหวัดกระบี่, 2.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 10 จำกัด จังหวัดนราธิวาส, 3.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 11 จำกัด จังหวัดนราธิวาส, 4.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 14 จำกัด จังหวัดนราธิวาส, 5.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 15 จำกัด จังหวัดนราธิวาส, 6.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 18 จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร, 7.บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 19 จำกัด จังหวัดอุดรธานี 8.บริษัท แม่วงศ์ กรีน เพาเวอร์ จำกัด จังหวัดตาก และ 9.โครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ บริษัท พี พี แอล พาวเวอร์ จำกัด จังหวัดกระบี่

“การที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ TPCH ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ทั้งในรอบแรก และการยื่นอุทธรณ์ รวมแล้ว 10 บริษัท ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 38 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตในมือ ทั้งโรงไฟฟ้าชีวภาพและชีวมวลรวม 250 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 โดยในปีนี้คาดว่าจะมีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 119 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งมีการเข้าร่วมประมูลโครงการของภาครัฐ และเข้าไปศึกษาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง” นายเชิดศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน TPCH มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 10 แห่ง กำลังการผลิตรวม 109 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมที่จะ COD โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564

 

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุด จากทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค ของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)พ.ศ. 2564 รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การพิจารณาการอนุมัติดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทย่อยของUAC ทั้ง 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 3 จำกัด ที่ตั้งตำบลเมืองเปลือย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 5 จำกัด ที่ตั้งตำบลซับสมบูรณ์ อำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น ได้รับพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ เป็นโครงการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวภาพ รวมเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์

โดยก่อนหน้านี้ โครงการของบริษัทฯผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิครอบแรกแล้วจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย บริษัท ยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้ง ตำบล นาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 4 จำกัด ที่ตั้ง ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ส่งผลให้บริษัทฯผ่านพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งหมด 4 โครงการ เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 12 เมกะวัตต์

“ UAC ยื่นประมูลไปทั้งสิ้น 6 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 18 เมกะวัตต์ เฉลี่ยโครงการละ 3 เมกะวัตต์ และผ่านคุณสมบัติ 4 โครงการ ส่วนอีก 2 โครงการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบสาเหตุ ตามที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไปก่อนนี้ ”

 

ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนต่อไป บริษัทฯรอประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 และกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล กล่าวตอกย้ำว่าบริษัทฯ มีความพร้อมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมากว่า 10 ปี และยังมีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่อง พร้อมทั้งยังได้ร่วมมือกับทางวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในการจัดหาเชื้อเพลิงจะต้องมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งจากศักยภาพดังกล่าวเป็นการการันตีได้กว่า UAC เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจ ในระดับฐานรากเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ จากความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการ Consul Service การออกแบบและสร้างโรงงาน Biogas โดยใช้พืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิง ทำให้บริษัทฯมีแผนต่อยอดทางธุรกิจ โดยแตกไลน์ธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษา Consult Service ให้กับผู้ประกอบการ อย่าง บมจ.ซันสวีท (SUN ) ในการดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบไบโอแก๊ส จากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตของโรงงาน (ซังข้าวโพด) ซึ่งสามารถตอบโจทย์แนวทาง Green Energy สร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน ในระยะยาว ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายไลน์ธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษา บริษัทฯจึงสบช่องทางธุรกิจ โดยเปิดกว้างรับพันธมิตรที่สนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อมาต่อยอดให้บริการ Consult Service พร้อมให้คำปรึกษากับพันธมิตรทุกราย

“ UAC มีศักยภาพและความพร้อม ทั้งเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน รวมถึงด้านเชื้อเพลิง ที่สำคัญยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และยังมีเครือข่ายความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นจึงเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะช่วยต่อยอดและผลักดันภาพรวมธุรกิจของ UAC เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างมีนัยสำคัญ ” นายชัชพล กล่าว


คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่าตามที่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจำนวน 118 รายได้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์จำนวน 74 ราย

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) เปิดเผยว่า บริษัทในกลุ่มของ บริษัท ชัยวัฒนา กรีน จำกัด ได้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ มีทั้งหมด 10 โครงการ ได้แก่ บริษัท กุสุมาลย์ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ยางชุมน้อย เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ศรีรัตนะ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท กันทรารมย์ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ปรางค์กู่ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท อุทุมพรพิสัย เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โซง เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท เก่าขาม เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โดมประดิษฐ์ เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท กุดรัง เพาเวอร์ จำกัด ด้วยปริมาณเสนอขาย 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ โดยชัยวัฒนา กรีน ถือหุ้นในสัดส่วน 60% ทั้งหมดทุกโครงการ

ก่อนหน้านี้ CWT มีบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าทางเทคนิค รอบแรก จำนวน 2 โครงการ จากการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ได้แก่ 1.บริษัท ทุ่งศรีอุดม เพาเวอร์ จำกัด และ 2. บริษัท เบญจลักษ์ เพาเวอร์ จำกัด ปริมาณเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ โดยชัยวัฒนา กรีน ถือหุ้นในสัดส่วน 60% ทั้ง 2 โครงการ

นอกจากนี้ มีกำหนดประกาศเปิดซองพิจารณาด้านราคาในวันที่ 20 กันยายน 2564 และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่อในวันที่ 22 กันยายน 2564 โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 นี้

“เราได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปทั้งหมด 11 โครงการ ผ่านเกณฑ์พิจารณา 10 โครงการ โดยก่อนหน้านี้เข้าผ่านเทคนิครอบแรก 2 โครงการ ส่งผลทำให้บริษัทมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์เทคนิค และอยู่ระหว่างรอลุ้นผลการเปิดซองเสนอราคารวม 12 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 36 เมกะวัตต์ และคาดหวังผลการผ่านพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้มากกว่า 4 โครงการ ทั้งนี้หากได้งานดังกล่าวเพิ่มเติม จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของ CWT เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับฐานรากเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” นายวีระพล กล่าวในที่สุด

ปัจจุบัน CWT มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 2 โรง รวม 14 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา คือ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดนครสวรรค์ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี และอยู่ระหว่างขอ PPA

 


ในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ และคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) จำนวน 74 บริษัท จากที่ยื่นมา 118 บริษัท


นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) (SCI) เปิดเผยว่า บริษัทร่วมทุนของ SCI ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งหมด 3 โครงการ รวมกับที่ผ่านคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค 1 โครงการ ในรอบแรก เป็นทั้งหมด 4 โครงการ ที่สอบผ่านคุณสมบัติทางเทคนิค ซึ่งได้ยื่นซองประกวดราคาไปแล้ว และรอประกาศผล โดยทั้ง 4 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 14 เมกะวัตต์


"เรามีความทุกด้านในการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งบริษัทฯ มีจุดเด่นทั้งด้านความพร้อมของฝ่ายบริหารทีมงานที่มีประสบการณ์ และอีกปัจจัยที่สำคัญคือ การมีเครือข่ายเกษตรกร และวัตถุดิบที่นำมาใช้สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนในแต่ละพื้นที่"


ทั้งนี้ กกพ. กำหนดประกาศเปิดซองพิจารณาด้านราคา ในวันที่ 20 กันยายน 2564 และพิจารณาต่อในวันที่ 22 กันยายน 2564 ก่อนประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 นี้


ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCI กล่าวอีกว่า ถือเป็นอีกหนี่งจุดเริ่มต้นในการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) ผลักดันแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น ช่วยลดความผันผวนของธุรกิจ



สำหรับ บมจ. โคลเวอร์ เพาเวอร์ หรือ CV ที่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประกาศผลผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ ด้านเทคนิคโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) โดยผ่านคุณสมบัติเพิ่มจากเดิมอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนคำเตย จ.นครพนม กำลังผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนาทราย จ.อุดรธานี กำลังผลิตติดตั้ง 6.6 เมกะวัตต์ รวมเป็นโครงการที่ผ่านด้านเทคนิคทั้งหมด 6 โครงการ กำลังการผลิตรวมที่ผ่านด้านเทคนิคทั้งหมด 36 เมกะวัตต์ งานนี้ ผู้บริหาร CV ‘เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล’ ยิ้มแก้มปริ คาดหวังการประกาศผลด้านราคาในปลายเดือนนี้ และด้วยประสบการณ์ด้านวิศวกรรมที่ผ่านมาจึงมั่นใจในด้านการทำต้นทุนโครงการได้ดี พร้อมเดินหน้าขยายงานต่อเนื่องด้วยศักยภาพและความพร้อม ด้านเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน ที่สำคัญมีประสบการณ์ในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเป็นผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรมครบวงจร ถือเป็นหุ้นพลังงานที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนแน่นอน…

 


นอกจากนี้ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) NER และ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)BRR ผ่านโรงไฟฟ้าชุมชนเช่นกัน


---จบ---

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

เล่นตามข่าว By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ นักเก็งกำไร เล่นตามข่าว ตามความแรงของเงินสกุลดิจิตอล ตามบิทคอยน์ ขณะที่เส้นกราฟ.....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้