Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : CHAYO - AUCT ร่วมมือทางธุรกิจ หนุนแผนซื้อหนี้ลีสซิ่งเสริมพอร์ต

4,040

HotNews : CHAYO - AUCT ร่วมมือทางธุรกิจ หนุนแผนซื้อหนี้ลีสซิ่งเสริมพอร์ต

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (28 มกราคม 2564) บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CHAYO) ผู้เชี่ยวชาญในการซื้อหนี้เข้ามาบริหารรายใหญ่ของประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจกับเจ้าตลาดในการประมูลสินค้า บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) (AUCT) แย้มแผนลุยประมูลซื้อหนี้กลุ่มลีสซิ่ง ทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ เข้ามาบริหาร โดยสามารถนำมาประมูลที่สหการประมูลได้ เพื่อเข้าสู่ระบบที่เป็นมาตรฐาน เป็นทางเลือกให้ลูกค้าสามารถลดภาระหนี้และหรือปลอดภาระหนี้ได้โดยเร็วขึ้น

 


นายนที ลิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ สายบริหารหนี้ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ CHAYO ในการเพิ่มพันธมิตรด้านการประมูล เข้ามาเสริมแกร่ง สนับสนุนโอกาสในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร ในกลุ่มสินเชื่อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ จากเดิมบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการซื้อหนี้ประเภทไม่มีหลักประกัน และหนี้ที่มีหลักประกันเข้ามาบริหารอยู่แล้ว

 

 

จากการมองเห็นโอกาสในปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้มีการขายหนี้กลุ่มสินเชื่อรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ ออกมามากขึ้น จากสถาบันการเงินทั้งกลุ่ม Bank และ Non-Bank ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้ศึกษาตลาดดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว และมองเห็นโอกาสในการลงทุน จากอายุหนี้ที่สั้น มีรถเป็นหลักประกัน อีกทั้ง รถยังถือเป็นปัจจัยที่ 5 ลูกค้าต้องใช้ในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ จึงได้เริ่มรุกตลาด และเข้าไปซื้อหนี้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาบริหาร ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีพอร์ตหนี้กลุ่มรถยนต์และรถจักรยานยนต์มูลค่ารวมประมาณ 6,500 ล้านบาท

 

 


ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากเราได้ซื้อหนี้กลุ่มรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ เข้ามาบริหาร จากสถาบันการเงินราว 3 แห่ง มูลค่ารวมประมาณ 6,500 ล้านบาท ปรากฏว่า มีลูกค้าแสดงความประสงค์จะชำระหนี้ ต้องการปิดบัญชี และไม่ต้องการให้ยึดรถ จำนวนพอสมควร เราจึงมองหาพันธมิตรทางด้านการประมูล เพื่อนำรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ เข้ามาร่วมประมูลขายทอดตลาด จึงเป็นที่มาของการจับมือกับ บมจ.สหการประมูล ในครั้งนี้ เพราะหากมีการคืนรถหรือยึดรถ เราสามารถดำเนินการกับพันธมิตรด้านการประมูลที่ได้รับการยอมรับ และมีมาตรฐานสากล ทำให้ลูกค้าวางใจได้ในเรื่องของการประเมินราคา มีการซื้อขายอย่างเป็นธรรม เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าในการปิดบัญชี และชำระหนี้ อย่างไรก็ดี CHAYO ยังวางแผนในการขยายพอร์ตซื้อหนี้กลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติมอีก คาดจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ นายนที กล่าว

 

 


ด้าน นายวรัญญู ศิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้บริการเป็นคนกลางในการจัดการประมูลทรัพย์สินทุกประเภท รวมทั้งให้บริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมูล โดยมีพอร์ตหลักคือรถจักรยานยนต์และรถยนต์รวมกว่า 90% ของพอร์ตสินค้าทั้งหมด ทำให้บริษัทฯ เชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับจากลูกค้ามาตลอดระยะเวลา 30 ปี จึงเชื่อมั่นว่า จะสนับสนุนการดำเนินงานของ CHAYO ได้เป็นอย่างดี และเป็นโอกาสขยายตลาดการประมูลรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในปีนี้เพิ่มขึ้น ด้วยการให้บริการอย่างมืออาชีพ

 

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่า คงคำแนะนำ ซื้อ CHAYO แต่ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 11.00 บาท อิง 2021E PER 35x (+2.25 SD above 3-yr average PER) หรือคิดเป็น 2021E PEG 1.0x (2020E-2022E EPS CAGR +34% YoY) จากเดิม 9.50 บาท อิง 2021E PER ที่ 30x (+1.25SD) เรามองเป็นบวกต่อการจัด Group conference call วานนี้ (26 ม.ค.) จากแนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะขยายตัวสูง หนุนโดย 1) การรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สำหรับกองหนี้ unsecured loan ที่มีการตัดจำหน่ายทุนครบแล้ว, 2) ฐานหนี้เสียที่ซื้อมาบริหารเพิ่มขึ้นสูง และ 3) การร่วมทุน JV ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1Q21E ทำให้บริษัทมีความสามารถในการซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มขึ้น

 

 


คงประมาณการกำไรสุทธปี 2021E ที่ 223 ล้านบาท (+35% YoY) จาก 1) รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น +38% YoY ตามกองหนี้ที่บริหารเพิ่มขึ้น และ 2) อัตราต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งได้รับผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ระดับ 0.5% โดยกำไรสุทธิ 4Q20E ยังเติบโตดีที่ 44 ล้านบาท (+126% YoY, +39% QoQ) จากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น +79% YoY และรับรู้กำไรจากการขายทรัพย์ NPA ที่ประมาณ 20 ล้านบาท

 



ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น และ outperform SET +13%/+102% ในช่วง 1 และ 12 เดือนที่ผ่านมา จากผลการดำเนินงานที่ขยายตัวสูง อย่างไรก็ตามเรายังคงคำแนะนำ ซื้อ โดยกำไรจะยังคงเติบโตดีที่ 2020E-2022E EPS CAGR = +34% YoY จากเงินสดรับการติดตามหนี้ที่จะดีขึ้น ภายหลังที่บริษัทมีกองหนี้ unsecured loan และรับรู้รายได้ Fully amortized เพิ่มขึ้น

 

 


ผลการดำเนินงานมีโอกาสขยายตัวสูง เรามองเป็นบวกต่อการจัด Group conference call (26 ม.ค.) จากแนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะขยายตัวสูง โดยเฉพาะภายหลังที่มีการตัดจำหน่ายทุน unsecured loan ครบ และรับรู้รายได้ 100% (Fully amortized) เพิ่มขึ้นในปี 2021-2022 รวมทั้งฐานหนี้เสียที่บริษัทซื้อมาบริหารเพิ่มสูงขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญ คือ

 

 

1) บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2021E จะขยายตัว +25%-35% จากการซื้อหนี้เสียมาบริหารเพิ่มที่งบประมาณ 1.0-1.2 พันล้านบาท และการจัดตั้ง JV ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อหนี้ โดยบริษัทได้ซื้อหนี้เสียมาบริหารในปี 2020 คิดเป็นมูลหนี้ 1.56 หมื่นล้านบาท (สูงกว่าเป้าที่บริษัทคาดได้ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท) ภายใต้งบประมาณ 625 ล้านบาท (ต่ำกว่าเป้าที่ 1.0 พันล้านบาท) ทั้งนี้หนี้เสียส่วนใหญ่บริษัทได้ซื้อเพิ่มในช่วง 4Q20 สูงถึง 1.27 หมื่นล้านบาท

 


2) ประเมินเงินสดรับจากการติดตามหนี้ปี 2021E จะดีขึ้นตามสัดส่วนหนี้เสีย unsecured loan ที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะดีขึ้นสูงในปี 2022E ภายหลังที่มีก้อนหนี้ Fully amortized เพิ่มขึ้นในปลายปี 2021E (ณ 3Q20 บริษัทมีหนี้ Fully amortized ที่ 2.57 หมื่นล้านบาท จาก 3.80 หมื่นล้านบาท)

 


3) ประเมินความเสี่ยงจากการเพิ่มทุนต่ำ เนื่องจากหุ้นกู้ที่มี Interest bearing debt/Equity (IBD/E) Covenant ต่ำที่ 1.7x จะครบกำหนดใน พ.ย. 2021 ในขณะที่หุ้นกู้ชุดใหม่มี IBD/E Covenant เพิ่มขึ้นเป็น 2.0x และ 2.5x

 

 

คาดกำไรสุทธิ 4Q20E จะขยายตัวสูงจากกำไรจากการขาย NPA เราประเมินกำไรสุทธิ 4Q20E ที่ 44 ล้านบาท (+126% YoY, +39% QoQ) โดยเพิ่มขึ้นจาก 1) รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 79% YoY ตามฐานหนี้เสียที่บริหารเพิ่มขึ้นคาดเป็น 1.74 พันล้านบาท (+55% YoY) และ 2) รับรู้กำไรจากการขายทรัพย์ NPA ประมาณ 20 ล้านบาท (4Q19 และ 3Q20 ไม่มีการขายทรัพย์ NPA) อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับขึ้นเป็น 19 ล้านบาท (4Q19 = 6 ล้านบาท และ 3Q20 = 13 ล้านบาท) ภายหลังที่บริษัทมีการออกหุ้นกู้จำนวน 800 ล้านบาทในเดือน พ.ย. 2020 ที่ผ่านมา ทำให้ IBD/E เพิ่มขึ้นเป็น 1.6x

 

 

คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2021E ขยายตัว +35% YoY เราคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2021E ที่ 223 ล้านบาท (+35% YoY) จาก 1) รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น +38% YoY ตามกองหนี้ที่บริหารเพิ่มขึ้น ซึ่งเราคาดว่าเงินลงทุนในลูกหนี้จะอัตราการขยายตัวต่อเนื่องที่ 2020E-2022E CAGR +30% YoY และ 2) อัตราต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งได้รับผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ระดับ 0.5%

 

 


ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 11.00 บาท อิง 2021E PER 35x (+2.25 SD above 3-yr average PER) หรือคิดเป็น 2021E PEG 1.0x (2020E-2022E EPS CAGR +34% YoY) จากเดิม 9.50 บาท อิง 2021E PER ที่ 30x (+1.25SD above 3-yr average PER) โดยเรา rerate PER เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มผลการดำเนินงานในระยะยาวที่จะได้รับแรงหนุนจากอุปทานหนี้เสียในอุตสาหกรรมที่จะขายออกมาสูง และต่อเนื่อง, แนวโน้มต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ รวมทั้งโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจที่สูงขึ้นภายหลังที่การร่วมทุน JV มีความชัดเจนใน 1Q21E และสามารถดำเนินธุรกิจได้ใน 3Q21E

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

แนวรบเก็งกำไร By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ แม้สภาพตลาดหุ้นไทย นักลงทุน ยังไม่กลับมา แต่สำหรับแนวรบ หุ้นเก็งกำไร ......

พีทีจี เอ็นเนอยี ส่ง ออโต้แบคส์ เข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 เตรียมประกาศความพร้อมการแข่งขัน PT Maxnitron Racing Series 2024

พีทีจี เอ็นเนอยี ส่ง ออโต้แบคส์ เข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 เตรียมประกาศความพร้อมการแข่งขัน PT Maxnitron Racing..

มัลติมีเดีย

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้