Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : บลจ.กระตุ้นหุ้นไทย เสนอขายกองทุน SSF 1 เม.ย.นี้ / ทริสฯ ให้เครดิตองค์กร PTG BBB+ เล็งกำไรโตมั่นคง

1,476

HotNews : บลจ.กระตุ้นหุ้นไทย เสนอขายกองทุน SSF 1 เม.ย.นี้ / ทริสฯ ให้เครดิตองค์กร PTG BBB+ เล็งกำไรโตมั่นคง

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (30 มีนาคม 2563) บลจ. สนับสนุนมาตรการภาครัฐแก้ปัญหาสถานการณ์ COVID-19 เชื่อมั่นรัฐแก้ปัญหาลุล่วง พร้อมให้การดูแลและคำปรึกษาแก่ผู้ถือหน่วยในการบริหารจัดการด้านการเงิน  เตรียมการส่งเสริมกลไกการออมระยะยาว เสนอขายกองทุน SSF พร้อมกันวันแรก 1 เมษายน 2563 จำนวน 13 บลจ. เน้นลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไทย ลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุด 2 แสนบาท เน้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย เชื่อมั่นหุ้นไทยพื้นฐานดี  ผู้ลงทุนได้รับประโยชน์

 

 

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ COVID-19 ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การสนับสนุน SSF วงเงินพิเศษ สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น กระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมฯ ) เข้าใจถึงภาวะความยากลำบากในการประกอบกิจการ การหารายได้ที่เป็นไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์และมีความลำบากยิ่ง ดังนั้นภารกิจในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจึงไม่ใช่ภารกิจเร่งด่วนที่ควรทำแต่เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงตามนโยบายของรัฐบาล กระตุ้นเตือนให้มีการบริหารค่าใช้จ่าย เพื่อรอรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ สำหรับผู้ถือหน่วยที่ลงทุนไปแล้วหรือไม่ก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำอื่นใด ท่านสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ บุคคลากรขององค์กรนั้นโดยตรง พวกเราพร้อมที่จะให้คำแนะนำและคำปรึกษาให้กับทุกๆท่าน

 



นายกสมาคมฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการบริหารจัดการลงทุนให้มีความรัดกุม รอบคอบแล้ว ทางสมาคมฯ และสมาชิกเห็นตรงกันที่จะตอบสนองนโยบายภาครัฐอันเป็นประโยชน์ต่อการออมการลงทุนในระยะยาวเพื่อความมั่นคงในอนาคต เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถจัดการสถานการณ์ COVID-19 ให้ผ่านพ้นไป ด้วยดีเหมือนเช่นเหตุการณ์รุนแรงสำคัญๆในอดีตที่ผ่านมา

 

 

 

 

สำหรับการเสนอขายกองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF) นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ให้วงเงินลงทุนในกองทุน SSF พิเศษสูงสุด 200,000 บาท เพิ่มจากวงเงินลงทุนในกองทุน SSF ที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปกติสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท รวมสูงสุดสำหรับปีภาษี 2563 ไม่เกิน 400,000 บาท สมาคมฯ จึงได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมในการเสนอขายกองทุน SSF

 

 

โดยเฉพาะวงเงินพิเศษ มีกำหนดระยะเวลาลงทุน 3 เดือน คือ ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 บลจ.ได้เตรียมความพร้อมที่จะเริ่มเสนอขายกองทุน SSF พิเศษ 13 บลจ. ในวันแรก คือ วันที่ 1 เมษายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรวมพลังของเม็ดเงินจากการระดมทุนพร้อม ๆ กัน ช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นกิจการหลักสำคัญของประเทศที่ส่งผลให้บริษัทอีกจำนวนมากที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกันสามารถประกอบกิจการไปได้ ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นไทยยังคงอยู่ในระดับที่ดีและราคาได้ปรับตัวลงมามากแล้ว จึงถือเป็นโอกาสการลงทุนที่ดีของผู้สนใจที่จะออมเงินระยะยาว

 

 

นายกสมาคมฯ กล่าวต่อไปว่า กองทุน SSF จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น ในช่วงแรก บลจ. จะเน้นเสนอขายกองทุน SSF พิเศษ ซึ่งจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไทย พร้อมกันจำนวน 13 บลจ. หลังจากนั้นจะเสนอขายเพิ่มเติมตามมาอีก 6 บลจ. ตามลำดับ

 

 

สำหรับกองทุน SSF วงเงินทั่วไปนั้น บลจ.จะทยอยจัดตั้งกองทุนออกมา โดยจะมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายตามความสนใจของผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนนับตั้งแต่วันที่เสนอขายไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในแต่ละปีภาษีรวมกันทุกกองทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน

 

 

สมาคมฯ เชื่อมั่นว่านโยบายนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่เริ่มต้นทำงาน เป็นการช่วยให้ประชาชนเริ่มเรียนรู้ที่จะออมเงินและเข้าสู่ระบบการออมระยะยาว

 

 

 

***ก.ล.ต. อนุมัติ "กองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน" แล้ว 17 กองทุน จาก บลจ. 13 แห่ง พร้อมขาย 1 เมษายน นี้***

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจาก ก.ล.ต. ออกประกาศเรื่องรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออมที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียน (กองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ล่าสุด ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563 ก.ล.ต. ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน ไปแล้ว 17 กองทุน จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 13 แห่ง

 

 

 

"ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้พิจารณาและอนุมัติการจัดตั้งกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียนโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนพร้อมเสนอขายแก่ผู้ลงทุนทั่วไปในวันที่ 1 เมษายน 2563" นางสาวรื่นวดี กล่าว

 

 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 มีมติให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุน SSF ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี

 

 

 

 

ด้าน"ทริสเรทติ้ง" จัดอันดับ "พีทีจี เอ็นเนอยี" ที่ BBB+ และให้แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" ตอกย้ำสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน และมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่ครอบคลุม สนับสนุนให้กำไรเติบโตอย่างมั่นคง นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ PTG อยู่ที่ระดับ BBB+ พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่ (Stable)" โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางการตลาดของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ตลอดจนเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันที่ครอบคลุม และกำไรที่เติบโตอย่างมั่นคง

 

 

อีกทั้งทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเอาไว้ได้ และ PTG ยังได้จัดสรรงบลงทุนในการขยายธุรกิจอย่างเหมาะสม ทำให้บริษัทสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและความสามารถในการชำระหนี้

 

 

ขณะที่เครือข่ายสถานีบริการ "PT" ยังมีการเติบโต ส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 ทาง PTG มีสถานีบริการรวมทั้งสิ้น 2,027 แห่ง

 

 

เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 มีสถานีบริการรวมทั้งสิ้น 1,883 ทำให้บริษัทมีจำนวนสถานีบริการมากเป็นอันดับ 2 นอกจากจำนวนสถานีบริการที่เติบโตแล้ว PTG ยังมีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันที่เติบโตสูงสุดในอุตสาหกรรม โดยในปี 2562 PTG มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวม 4,681 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 19.4% จากปีก่อน ส่งผลให้ PTG มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 15.6%

 

 

 

 

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจะดำเนินกลยุทธ์เน้นการขยายสถานีบริการน้ำมันในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่มากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการรับรู้แบรนด์ PT ในกลุ่มลูกค้าที่มีอำนาจการซื้อและใช้น้ำมันสูงรวมถึงยังสร้างโอกาสให้บริษัทจำหน่ายสินค้าและให้บริการอื่นนอกเหนือจากน้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ และบริการบำรุงรักษารถยนต์ได้มากขึ้นอีกด้วย

 

 

 

อีกทั้งบริษัทยังมีระบบสมาชิกเพื่อสะสมคะแนนและรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ชื่อ "PT Max Card" ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่บริษัท โดยจำนวนสมาชิกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และ ณ สิ้นปี 2562 มีจำนวนสมาชิก PT Max Card อยู่ที่ระดับ 12.60 ล้านราย จากสิ้นปี 2561 มีจำนวนสมาชิก PT Max Card อยู่ที่ระดับ 10.20 ล้านราย และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่าน PT Max Card มีสัดส่วนคิดเป็น 73% ของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันในปี 2562 ทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าระบบสมาชิก PT Max Card จะช่วยรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายให้แก่บริษัทต่อไปในอนาคต

 

 

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปจากการขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่อง หลังจากบริษัทมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของบริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างน้อยประมาณ 6-7% ต่อปี และประมาณการค่าการตลาดในภาพรวมของบริษัทที่ระดับประมาณ 1.70 บาทต่อลิตร ทำให้คาดว่าในช่วงปี 2563-2565 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 5,900 – 6,200 ล้านบาทต่อปี

 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจ Non-oil ให้เป็น 20% ภายในปี 2563 โดยทริสเรทติ้ง คาดว่าหาก PTG ทำได้สำเร็จจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันได้ และยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันธุรกิจ Non-oil ยังมีขนาดเล็กและบางธุรกิจยังไม่ผ่านจุดคุ้มทุนในการดำเนินงาน

 

 

 

 

ขณะเดียวกันหนึ่งในธุรกิจ Non-oil ที่บริษัทได้ลงทุนคือ "โครงการปาล์มน้ำมันครบวงจร" (Palm Complex) โดยถือหุ้น 40% ซึ่งมีกำลังการผลิตไบโอดีเซล B100 ที่ระดับ 5 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ช่วงปี 2561 อย่างไรก็ตามในระหว่างปี 2561-2562 โครงการยังใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มกำลัง แต่ได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินการได้เต็มกำลังการผลิตในช่วงปลายปี 2562 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้น จึงคาดว่าอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันไบโอดีเซล B100 จะมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคาดว่าในช่วงปี 2563-2565 โครงการปาล์มน้ำมันครบวงจรจะมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย

 

 

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 จะส่งผลกดดันยอดขายของบริษัทในระยะสั้น และการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยบางส่วน ซึ่งอาจจะกดดันการเติบโตของการบริโภคน้ำมันของประเทศในภาพรวมในปี 2563 และทริสเรทติ้งมองว่าการบริโภคน้ำมันจะกลับมาเติบโตในระดับปกติอีกครั้งในปี 2564

 

 


ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าปริมาณการขายปี 2563 เติบโต 15-20% แตะที่ระดับ 5,400 - 5,500 ล้านลิตร จากปีก่อนทำได้ 4,700 ล้านลิตร และมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย(EBITDA)เติบโตในทิศทางเดียวกับปริมาณการขาย จากปีก่อนอยู่ที่ 5,269 ล้านบาท เนื่องจาก เป็นไปตามการขยายสาขาทั้งธุรกิจน้ำมัน(Oil) และธุรกิจ Non-oil อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าการตลาดปรับตัวดีขึ้นโดย 2 เดือนแรกที่ผ่านมาค่าการตลาดอยู่ที่ 1.6-1.7 บาทต่อลิตร

 

 

 

 

 


สำหรับงบลงทุนปีนี้บริษัทฯวางไว้ที่ 4,500-5,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นใช้สำหรับลงทุนในการขยายและปรับปรุงธุรกิจน้ำมัน 3,900 ล้านบาท ธุรกิจ Non-oil 600 ล้านบาท ธุรกิจLPG 400 ล้านบาท และธุรกิจใหม่ 500 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นเป็นธุรกิจเอทานอล โดยบริษัทฯจะพิจารณาการลงทุนให้ใกล้เคียงกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแต่อย่างไรก็ตามต้องดูภาพรวมผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบันอาจจะทำให้บริษัทฯต้องปรับงบลงทุนใหม่เหลือ 4,000 ล้านบาท

 

 


ทั้งนี้บริษัทฯมีแผนขยายจุดให้บริการน้ำมัน 150-200 จุด จากปีก่อนอยูที่ 2,024 จุด และขยายสาขา LPG 60-70 จุด ของภาคครัวเรือน ถึงแม้ปัจจุบันธุรกิจ LPG ภาคครัวเรือนจะยังไม่เปิดตัวให้บริการอย่างเป็นทางการแต่ปัจจุบันบริษัทฯก็มียอดขายเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งปีนี้บริษัทฯคาดว่ายอดขายจากธุรกิจ LPG จะเติบโตที่ระดับ 35-40% หรือทำได้ 110,000 ตัน โดยมาจากภาคครัวเรือน 10% และมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ 90%

 

 

นายรังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบไวรัสโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯมากนักเนื่องจากการใช้รถยนต์ในกรุงเทพมหานครยังคงหนาแน่นอยู่หลังปัจจุบันประชาชนลดปริมาณการเดินทางตามรถโดยสารมากขึ้น โดยสองเดือนแรก(มกราคม-กุมภาพันธ์)ที่ผ่านมาบริษัทฯมีปริมาณขายเติบโต 12-13% ถึงแม้จะจะต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 15% แต่เชื่อว่าภาพรวมของครึ่งปีแรกจะยังคงเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10%

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้