Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : KTC โชว์กำไร 9 เดือนพุ่ง 8% / 3 ธุรกิจใหม่ จ่อรับรู้กำไรในอีก 18-24 เดือน

2,978

HotNews : KTC โชว์กำไร 9 เดือนพุ่ง 8% / 3 ธุรกิจใหม่ จ่อรับรู้กำไรในอีก 18-24 เดือน

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (17 ตุลาคม 2562) KTC เปิดผลงาน 9 เดือนแรก กำไรสุทธิโต 8% อยู่ที่ 4,205 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดลูกหนี้รวมขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 2 ปี ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตดีดตัวสูงขึ้นที่ 10.4% ส่วน NPL ลดระดับลงไปอีกอยู่ที่ 1.07%

 

ด้านความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจ “พิโกไฟแนนซ์” - ธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” และธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบการให้สินเชื่อ ก่อนจะมีการปล่อยสินเชื่อจริงในวงกว้าง คาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้ จะสามารถเริ่มรับรู้กำไรได้ประมาณ 18-24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินธุรกิจจริง

 

 

 

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTC เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เคทีซีมีกำไรสุทธิ 4,205 ล้านบาท พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 79,618 ล้านบาท (ขยายตัว 9%) ฐานสมาชิกรวม 3.43 ล้านบัญชี (เติบโต 6%) แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,460,595 บัตร (ขยายตัว 7%)พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 51,137 ล้านบาท (ขยายตัว 10%) อัตราเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 9 เดือน อยู่ที่ 10.4% NPL รวม ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.07% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 0.96% สินเชื่อบุคคล 973,356 บัญชี (ขยายตัว 5%) ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 28,219 ล้านบาท (เติบโต 9%) NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.83%

 

 

ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เคทีซีมีรายได้รวม 16,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เติบโต 7% รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวเท่ากับ 4% และหนี้สูญได้รับคืนเติบโตที่ 2% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) เท่ากับ 34% ลดลงจาก 34.8% ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับค่าใช้จ่ายการบริหารงานอยู่ที่ 5,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

 

 

เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกบัตรใหม่มากขึ้น จนทำให้พอร์ตลูกหนี้บัตรขยายตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้จัดโปรแกรมการส่งเสริมการตลาดเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายการตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและค่าใช้จ่ายในการบริหารงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยที่ 5% และ 4% ตามลำดับ ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจ่ายมีมูลค่าใกล้เคียงเดิม อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังสามารถควบคุมมูลค่าต้นทุนการเงินอยู่ในระดับเดิมได้

 

 

“เคทีซีได้มีการปรับกลยุทธ์มุ่งสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของจำนวนบัตรและพอร์ตลูกหนี้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะทำให้ยอดลูกหนี้รวมมีอัตราเติบโตสูงที่สุดในรอบสองปี นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2560 แล้ว ยังส่งผลบวกให้ภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วง 9 เดือนเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งสำหรับช่วงท้ายของไตรมาสที่ 3 ในขณะที่พอร์ตลูกหนี้ยังมีคุณภาพดีต่อเนื่อง สำหรับไตรมาส 3 บริษัทฯ มีกำไร 1,292 ล้านบาท ปรับตัวลดลงในอัตรา 7% เนื่องจากบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการ ตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของพอร์ต อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดหาบัตรใหม่ รวมถึงในการจัดโปรโมชั่นทางการตลาดเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกใช้จ่ายผ่านบัตร เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายรวมของไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นที่ 10% ขณะที่รายได้รวมเติบโต 4%”นายระเฑียร กล่าว

 

 

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจ “พิโกไฟแนนซ์” (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) ธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” (สินเชื่อรายย่อยผู้ประกอบอาชีพ) และธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน นั้น ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2562 ที่ผ่านมา เคทีซีได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจทั้ง 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบการให้สินเชื่อ ก่อนจะมีการปล่อยสินเชื่อจริงในวงกว้าง โดยคาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้ จะสามารถเริ่มรับรู้กำไรได้ประมาณ 18-24 เดือน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินธุรกิจจริง

 

 

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ บริษัทฯ ได้จัดสรรงบประมาณในการเพิ่มจำนวนฐานบัตรใหม่ในธุรกิจหลักต่อเนื่อง ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมทั้งเพิ่มงบการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้า ด้วยจุดมุ่งหมายให้พอร์ตลูกหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อกำไรรวมบ้าง นอกจากนี้บริษัทฯ จะติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ด้านต่างๆ ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งมีผลการดำเนินงานทั้งปี 2562 ใกล้เคียงกับประมาณการที่ได้เปิดเผยไว้แล้ว

 

 

 

 

 

 

 



ฟิลลิปฯ แนะทยอยซื้อ KTC  เป้า 45.50 บาท/หุ้น

 


บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า กำไรลดลง 7.5% y-y และ 2.4% q-q: โดยมีกำไรอยู่ที่ 1.3 พันล้นบาท กำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากการตั้งสำรอง และค่าจ่ายที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่า KTC จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

 



สินเชื่อเติบโต แต่ก็ทำให้การตั้งสำรองต้องสูงขึ้น: ทั้งสินเชื่อ และการใช้จ่ายผ่านบัตรของ KTC เติบโตขึ้นใน 3Q62 โดยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.2% q-q และ 1.8% ytd และการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น 10.4% ในขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตเพียง 8.8% แต่การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การตั้งสำรองเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผลประกอบการในไตรมาสนี้ลดต่ำลง ลดประมาณการ ลดราคาพืนฐานเหลือ 45.50 บาท ยังแนะนำ"ทยอยซื้อ": จากการตั้งสำรองที่สูงกว่าคาด ทำให้ทางฝ่ายปรับลดประมาณการกำไรปี 62 - 63 ของ KTC ลงเหลือ 5.6 และ 6.2 พันล้นบาทตามลำดับ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 6.2 และ 6.4 พันล้นบาทตามลำดับ ยังเพิ่มขึ้น 9% และ 10.1% ตามลำดับ ปรับลดราคาพื้นฐานลงเหลือ 45.50 บาท จากเดิมที่ 47 บาท ยังมองว่า KTC นั้นมีโอกาสเติบโตจากทั้งธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ ยังคงแนะนำ "ทยอยซื้อ"

 

 

 

 

 


กูรูทิสโก้ แนะถือ KTC  ราคาเป้าหมาย 44 บาท/หุ้น

 

สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า KTC รายงานผลประกอบการต่ำกว่าที่เราและตลาดคาด 13.6% โดยผลประกอบการที่ต่ำกว่าคาดมาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 16.5% YoY และ 4.6% QoQ เป็น 1.65 พันล้านบาท โดยที่ KTC มีการเร่งการตั้งสำรองเพื่อรองรับการใช้งาน TFRS9 สำหรับปี 2020 จากประมาณการของเราการตัดจำหน่ายต่อสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 8.3% ใน 3Q19 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 7.7% ใน 2Q19 และ 7.8% ในปีก่อนทำให้ NPL ลดลงเป็น 1.07% จากเดิมที่ 1.13% ใน 2Q19

 

 

สินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 9.7% YoY และ 3.0% QoQ เป็น 4.96 หมื่นล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 8.9% YoY และ 3.8% QoQ เป็น 2.82 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.4% ของสินเชื่อรวม และสำหรับในช่วง 9M19 สินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เราคาด ทำให้เราคาดการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 8.6% จากเดิมที่ 7.1% เป็น 8.49 หมื่นล้านบาท และโต 7.6% ในปี 2020-21F แต่อย่างไรก็ตาม ถูกชดเชยบางส่วนจากหนี้เสียที่ฟื้นตัวชะลอลงเป็น 2%

 

 

ผลประกอบการที่ลดลงมาจาก Credit Cost ที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวหนี้เสียที่ต่ำกว่าคาด ชดเชยผลบวกของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ผลประกอบการ 9M19 อยู่ที่ 4.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% YoY จากที่เราคาดทั้งปีที่ 5.59 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อ 15.6% และ 14.2% ในปี 2020-21F หนุนโดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 7.6% ต่อปี จากต้นทุนของเงิน และการตั้งสำรองที่ลดลง

 

 

แนะนำให้ "ถือ" โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 44.00 บาท ปรับมูลค่าที่เหมาะสมลดลงจาก 48.00 บาท เป็น 44.00 บาท โดยใช้วิธี GGM คิดเป็น PBV ที่ 4.8 เท่า, PER ที่ 17.4 เท่า สำหรับปี 2020F และเราคาดว่าการเติบโตจะกลับมาในปี 2020-21F แต่การเติบโตในปี 2019F จะต่ำที่ 8.9% YoY ต่ำกว่าปีก่อนๆ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ KTC คาดว่าจะคุ้มทุนในปีหน้า และทำให้ปี 2021-22F มีอัพไซด์ที่เพิ่มขึ้น

 

 

 

 

 

 


เคทีบีฯ แนะซื้อ KTC เป้า 46 บาท

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า คงคำแนะนำ "ซื้อ" และราคาเป้าหมายที่ 46.00 บาท อิง 2020 PBV 5.0x (+1.5 SD above 5-yr average) KTC รายงานกำไรสุทธิ 3Q19E ที่ 1,292 ล้านบาท (-7% YoY, -2% QoQ) ต่ำกว่าที่เรา และตลาดคาด -13% และ -15% ตามลำดับ โดยเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ตามขนาดฐานสินเชื่อที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส และการเร่งตัดจำหน่ายหนี้สูญ เราปรับประมาณการกำไรสุทธิ 2019E ลง -6% อยู่ที่ 5.6 พันล้านบาท (+9%) จากการปรับค่าใช้จ่ายในการตัดจำหน่ายหนี้สูญเพิ่มขึ้น ในขณะที่เราคาดว่าบริษัทจะกลับมาตั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่ระดับเดิมในปี 2020E หลังการใช้ TFRS9 เราจึงคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2020E ที่ 6.4 พันล้านบาท (+15%) ทั้งนี้กำไรสุทธิ 9M19 คิดเป็น 75% ของกำไรสุทธิปี 2019E

 

 

ราคาหุ้นปัจจุบันปรับตัวลง -4% (เมื่อเทียบกับ SET) ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นมากนัก และนำมาสู่โอกาสในการตัดจำหน่ายหนี้สูญเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเราคาดว่าค่าใช้จ่ายในการตัดจำหน่ายหนี้สูญนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราว ในขณะที่ผลการดำเนินงานในระยะยาว 2018-20E EPS CAGR +12.0% จากโอกาสในการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นภายหลังที่บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และพิโกแนนซ์ ใน 3Q19 เราจึงคงแนะนำ "ซื้อ"

 

 


กำไร 3Q19 ต่ำคาด จากการเร่งตัดจำหน่ายหนี้สูญ บริษัทรายงานกำไรสุทธิ 3Q19 ที่ 1,292 ล้านบาท (-7% YoY, -2% QoQ) ต่ำกว่าที่เรา และตลาดคาด -13% และ -15% ตามลำดับ โดยเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นประมาณ 1,655 ล้านบาท (+16% YoY, +6% QoQ) จาก 1) ขนาดสินเชื่อที่ขยายตัว +9.7% YoY, +3.0% QoQ สูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาสตั้งแต่ 1Q18 และ 2) หนี้สูญตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท (1H19 อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท/ไตรมาส) จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมาตรฐานการบัญชี TFRS9 ที่ทำให้การตัดจำหน่ายหนี้สูญยากขึ้น บริษัทจึงได้เร่งตัดจำหน่ายหนี้สูญในงวดเพิ่ม เพื่อรักษาระดับ NPLs ที่ต่ำเพียง 1.07% ได้ ปรับลดกำไรสุทธิปี 2019E -6% และคงกำไรสุทธิปี 2020E

 

 

จากการจำหน่ายหนี้สูญเพิ่มขึ้นในระยะสั้น เราปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2019E ลง -6% อยู่ที่ 5.6 พันล้านบาท (+9%) จากการปรับค่าใช้จ่ายในการตัดจำหน่ายหนี้สูญเพิ่มขึ้น +22% เพื่อสะท้อนการเร่งตัดจำหน่ายหนี้สูญของบริษัทที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไป 4Q19E ก่อนที่จะบังคับใช้ TFRS9 ในปีหน้า และคาดว่าบริษัทจะกลับมามีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่ระดับเดิมในปี 2020E หรือคิดเป็น LLR/Loan ที่ 6.6% เราจึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2020E ที่ 6.4 พันล้านบาท (+15%) จากสินเชื่อที่ขยายตัว 7% โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวมากกว่า 11% ทั้งนี้กำไรสุทธิ 9M19 คิดเป็น 75% ของกำไรสุทธิปี 2019E ด้านผลการดำเนินงานใน 4Q19E คาดกำไรสุทธิที่ 1.4 พันล้านบาท (+15% YoY, +9% QoQ) จากปัจจัยฤดูกาลที่การใช้จ่ายผ่านบัตรจะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปีเป็นหลัก

 

 

ราคาเป้าหมาย 46.00 บาท อิง 2020 PBV 5.0x (+1.5 SD above 5-yr average PBV) จากผลการดำเนินงานที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2018-20E EPS CAGR +12.0% โดยมี key catalyst ที่สำคัญ คือ การเพิ่มช่องทางการขยายสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์, สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีรถเป็นหลักประกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรง และค่าใช้จ่ายตัดจำหน่ายหนี้สูญที่ลดลงหลังการเร่งในตัดในปี 2019

 

 

 

 

 

 


แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปรับคำแนะนำจาก "ถือ"KTC
เป็นรอ "ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว" เป้า46 บาท/หุ้น

 


บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า KTC ประกาศกำไร 3Q62 ที่ 1,292 ลบ.ลดลง -7.4% YoY และ -2.3% QoQ ทั้งนี้รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของพอร์ตและมีการตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้น บวกกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากงบส่งเสริมการตลาดและการจัดหาสมาชิกใหม่ ส่งผลทำให้กำไรลดลง

 


ยอดลูกหนี้รวม 9M62 อยู่ที่ 7.96 หมื่นลบ. ขยายตัว 9.2% YoY ถือเป็นยอดลูกหนี้รวมขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี เป็นผลจากการขยายฐานจำนวนสมาชิกและเพิ่มฐานลูกหนี้ทั้ง 2 ธุรกิจ โดยลูกหนี้บัตรเครดิตรวมเพิ่มขึ้น 10% YoY ขณะที่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวมเพิ่มขึ้น 9% YoY ทั้งนี้การใช้จ่ายผ่านบัตรยังคงมีอัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมด้วย

 


KTC ยังคงควบคุมคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ดีต่อเนื่อง NPL ณ สิ้น 3Q62 ยังคงลดลงเหลือ 1.07% เทียบ 1.13% ณ 2Q62 และ 1.14% สิ้นปี 61

 

ความเห็น:  ผลประกอบการ 3Q62 ที่ออกมาเริ่มลดลงทั้ง QoQ และ YoY ตอกย้ำว่าธุรกิจใหม่คือพิโก้และนาโนไฟแนนซ์ ยังคงไม่สร้างรายได้และกำไรให้ในทันที คงต้องใช้เวลา 1.5 - 2ปี  ทั้งนี้กำไร 9M62 = 4,205 ลบ. คิดเป็น 73.5% ของประมาณการกำไรทั้งปีของเรา ทำให้เรายังคงประมาณการเดิม เชื่อว่าวันนี้มีแนวโน้มที่ราคาหุ้น KTC อาจปรับลงจากผิดหวังผลประกอบการที่ออกมา ประกอบกับการปรับมาใช้ราคาเป้าหมายปี 63 หลังประกาศงบ 9M62 จะได้ราคาเป้าหมายปี 63 เบื้องต้นที่ 46 บ. จึงปรับคำแนะนำจาก "ถือ" เป็นรอ "ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว" (ศิริพร #5156)

 

 

 

 

 


หยวนต้า ระบุ Upside KTC  ราว 15.3% จากมูลค่าพื้นฐานปี 63 ที่ 47 บาท

 

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า KTC รายงานกำไรสุทธิช่วง 3Q62 ที่ 1,292 ลบ. หดตัว 7.4%YoY แย่กว่าที่เราและตลาดคาด โดยแม้กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายตั้งสำรองและภาษี (PPOP) จะโต 3.3% ตามที่เราคาด หลังรายได้ดอกเบี้ยรับโต 6.4%YoY สอดรับกับพอร์ตสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้น 9.3%YoY (สินเชื่อบัตรเครดิตโต 10%YoY และสินเชื่อส่วนบุคคลโต 9%YoY) และรายได้ที่มิใช้ดอกเบี้ยโต 3%YoY หลักๆ มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่โตดี แต่ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกหักล้างด้วยปัจจัยลบจากทั้ง

 

1) NIM ที่แคบลงจาก 15.7% ในช่วง 3Q61 เหลือ 15.4% หลังสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น (Yield ต่ำ) 

 

2) CIR เพิ่มขึ้นเป็น 37.1% จาก 36.6% ในช่วง 3Q61 จากมีค่าใช้จ่ายในส่วนของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพิ่มเข้ามา

 


ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ผลประกอบการแย่กว่าที่เราคาดถึง 8% มาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น 16.5%YoY ทำให้ Credit Cost เพิ่มขึ้นแตะ 8.4% จากเพียง 7.8% ในช่วง 3Q61 หลัง KTC เพิ่มความระมัดระวังต่อภาวะ ศก. ที่ยังไม่ฟื้น บวกกับรองรับการเร่ง Write off หนี้ (หนี้ที่สามารถ Write off ได้ต้องมีการตั้งสำรอง 100%) ก่อนจะมีการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ในปีหน้า

 

 


กำไรช่วง 9M62 คิดเป็น 76.3% ของประมาณการทั้งปี และเรายังคงประมาณการเดิม โดยคาดกำไรช่วง 4Q62 ของ KTC มีแนวโน้มแต่ดีขึ้น YoY ตามขนาดของพอร์ตสินเชื่อและฐานผู้ใช้บัตรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วน QoQ คาดฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากการเข้าสู่ช่วง High Season ของการจับจ่ายภาคครัวเรือน แต่คาดยังมีแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่เร่งตัวขึ้นในช่วงก่อนปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ในช่วงต้นปี 63 หนุนให้เราประเมินว่า KTC จะมีกำไรสุทธิปี 62 ราว 5,508 ลบ โต 7.2%YoY
แม้ราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside ราว 15.3% จากมูลค่าพื้นฐานปี 63 ที่ 47 บาท แต่เรายังคงแนะนำเพียง "Trading" เนื่องจากช่วงสั้นคาดราคาหุ้นจะถูกกดดันจากการปรับลดประมาณการกำไรของ Consensus รวมทั้งเรายังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของแผนรุกธุรกิจจำนำทะเบียน (KTC พี่เบิ้ม) ที่จะเป็น Growth Driver ตัวใหม่ของบริษัท

 

 

 

 

 

 

 


เคจีไอ แนะถือ KTC ราคาเป้าหมาย 46 บาท/หุ้น

 


บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กำไรสุทธิของ KTC ใน 3Q62 อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท ลดลง 2% QoQ และ 7% YoY ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของเรา 12% และต่ำกว่า consensus 14% เนื่องจากมีการกันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่กำไรสุทธิงวด 9M62 อยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท (+7.5%) คิดเป็นแค่ 70% ของประมาณการกำไรปีนี้ของเรา ดังนั้น เราจึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2562/63 ของเราลง 7%/8% จากการปรับลดรายได้จากการติดตามหนี้เสีย, เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเพิ่ม credit cost เป็น 735bps/720bps (จากเดิม 700bps/700bps) สำหรับปี 2562/63 ทั้งนี้ เรายังได้ขยับไปใช้ราคาเป้าหมายใหม่ ที่ 46 บาท (ลดลงจากเดิมที่ 47 บาท) โดยอิงจาก P/E ปี 2563F ที่ 18.5x และปรับลดคำแนะนำเป็นถือ

 


ปรับประมาณกำไรปี 2562/2563 ลดลง 7%/8% ปรับราคาเหมาะสมเป็น 46 บาท (จาก 47 บาท)

 


การที่บริษัทตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากเพื่อการตัดหนี้สูญ(write-off) ติดต่อกันมาสองไตรมาสทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ของ KTC และเป็นการชี้ถึงการใช้กลยุทธ์การตั้งสำรองเชิงรุกแบบผิดจังหวะ เนื่องจากกำไรสุทธิงวด 9M62 คิดเป็นแค่ 70% ของประมาณการกำไรของเราเท่านั้น เราจึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2562/63 ของเราลง 7%/8% จากการปรับลดรายได้จากการติดตามหนี้เสีย, เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเพิ่ม credit cost เป็น 735bps/720bps (จากเดิม 700bps/700bps) สำหรับปี 2562/63 ทั้งนี้ เรายังได้ขยับไปใช้ราคาเป้าหมายใหม่ ที่ 46 บาท (ลดลงจากเดิมที่ 47 บาท) โดยอิงจาก P/E ปี 2563F ที่ 18.5x และปรับลดคำแนะนำเป็นถือ

 

 

 

 

 

 

เอเชีย เวลท์ แนะซื้อ KTC ราคาเป้าหมาย 53 บาท/หุ้น

 

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเชียเวลท์ จำกัด ระบุว่า KTC รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/62 ที่ 1,292 ล้านบาท ลดลง 7.4%YoY และ 2.3%QoQ ต่ำกว่าประมาณการของเรา และบลูมเบิร์กประมาณ 12% และ 13% ตามลำดับ เป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้นกว่า 16.5%YoY อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจหลักยังเติบโตดี เพิ่มขึ้น 4.3%YoY และ 1.2%QoQ ตามการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ โดยปัจจุบันบริษัทมียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3%YoY แบ่งเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 9.7%YoY และลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 8.9%YoY

 

 

ณ ไตรมาส 3/62 อัตราส่วน NPL ของบริษัทอยู่ที่ 1.07% ดีขึ้นจากไตรมาส 2/62 และไตรมาส 3/61 ที่ 1.14% และ 1.23% ตามลำดับ ตามการควบคุมคุณภาพหนี้ โดย NPL ของบัตรเครดิตปรับตัวลงจาก 1.07% เหลือ 0.78% ในขณะที่ NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.78% เป็น 0.83%

 

 


คาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/62 อาจถูกกดดันจากการตั้งค่าใช้จ่ายสำรองที่สูงอีกไตรมาส ตามการขยายตัวของพอร์ตลูกหนี้ โดยในไตรมาส 4/62 บริษัทเตรียมงบประมาณการตลาด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และสินเชื่อ ส่วนอัตราส่วน NPL คาดปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สดใส ทั้งนี้เราปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ลงราว 9.0% จากการปรับเพิ่ม Credit Cost ขึ้น 58 bps เป็น 7.32% จาก 6.74% ทำให้กำไรสุทธิปี 2563 ลดลงเหลือ 5,566 ล้านบาท จาก 6,119 ล้านบาท แต่ก็ยังมีการเติบโตจากปี 2561 ราว 8%

 

 

 

แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 53.00 บาท แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 53.00 บาท อิงค่า Prospective PBV ที่ 5.6 เท่า เราคาดหวังกำไรสุทธิปี 2563 ปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของพอร์ต รวมถึงธุรกิจใหม่พิโก และนาโนไฟแนนซ์เริ่มสร้างรายได้ในบริษัท

 

 

KTC

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

HotNews: RJH ทุ่ม 420 ลบ. ลุยโครงการซื้อหุ้นคืน

บอร์ด RJH เคาะ โครงการซื้อหุ้นคืน จำนวน 18 ล้านหุ้น วงเงิน 420 ลบ. เริ่ม 15 พ.ย.67 - 30 เม.ย.68

หนาแน่น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย เช้าวันนี้ ยังคงมีความคึกคัก .....

มัลติมีเดีย

รู้จัก เมดีซ กรุ๊ป ก่อนเทรด บนกระดาน SET - สายตรงอินไซด์

รู้จัก เมดีซ กรุ๊ป ก่อนเทรด บนกระดาน SET - สายตรงอินไซด์

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้