
HotNews: แกะรอยงบแบงก์
Q3/60 กำไรหด 9.25%
TISCO เข้าวินกำไรพุ่ง25.8%
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 20 ตุลาคม 2560 ) ------ 11 แบงก์ ประกาศงบQ3/60 เสร็จสิ้นแล้วภาพรวมกำไรทั้งกลุ่ม 4.74 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.23 หมื่นล้านบาท โดย CIMBT ทำผลงานกำไรได้แย่ที่สุดในไตรมาส3 นี้ ด้วยผลกำไรสุทธิ 76.54 ลบ. ลดลง 82.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 431.07 ล้านบาท ตามด้วย KTB ประกาศกำไรสุทธิ 5.87 พันล้านบาท ลดลง 31.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8.62 พันล้านบาท
ส่วนแบงก์ที่สร้างผลงานเข้าวิน-เข้าเป้า คือ TISCO รายงานกำไรสุทธิ 1.57 พันลบ. โต 25.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.24 พันล้านบาท อันดับ 2 ตกเป็นของ TCAP มีกำไรสุทธิ 1.78 พันลบ. เพิ่มขึ้น 19.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.5 พันล้านบาท ส่วน TMB เข้าวินมาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยผลกำไรสุทธิ 2 พันลบ. เติบโต 8.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1.84 พันล้านบาท
***ตารางเปรียบเทียบงบแบงก์***
|
|
|
Q3/60(ลบ.) |
|
Q3/59(ลบ.) |
|
เพิ่มขึ้น /ลบ. |
|
หรือ/% |
ลำดับ |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1 |
KBANK |
|
9,473,364.00 |
|
10,856,304.00 |
|
-1,382,940.00 |
|
-12.74% |
2 |
SCB |
|
10,130,221.00 |
|
11,532,896.00 |
|
-1,402,675.00 |
|
-12.16% |
3 |
BBL |
|
8,161,315.00 |
|
8,060,800.00 |
|
100,515.00 |
|
1.25% |
4 |
BAY |
|
6,014,127.00 |
|
5,829,265.00 |
|
184,862.00 |
|
3.17% |
5 |
KTB |
|
5,871,812.00 |
|
8,629,918.00 |
|
-2,758,106.00 |
|
-31.96% |
6 |
TMB |
|
2,003,468.00 |
|
1,845,167.00 |
|
158,301.00 |
|
8.58% |
7 |
TISCO |
|
1,572,366.00 |
|
1,249,960.00 |
|
322,406.00 |
|
25.79% |
8 |
KKP |
|
1,723,182.00 |
|
1,691,015.00 |
|
32,167.00 |
|
1.90% |
9 |
TCAP |
|
1,788,432.00 |
|
1,502,341.00 |
|
286,091.00 |
|
19.04% |
10 |
CIMBT |
|
76,540.00 |
|
431,072.00 |
|
-354,532.00 |
|
-82.24% |
11 |
LHBANK |
|
670,698.00 |
|
698,436.00 |
|
-27,738.00 |
|
-3.97% |
|
รวม |
|
47,485,525.00 |
|
52,327,174.00 |
|
-4,841,649 |
|
-9.25% |
ทีมข่าวหุ้นอินไซด์ ได้ตามแกะรอย คำชี้แจงงบแบงก์ ทั้ง 11 แห่ง ขอเชิญติดตามเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
KBANK แจงงวด 9 เดือนกำไรวูบ 4.34% เหตุตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2560 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 28,631 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 4.34% ขณะที่ ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 28,631 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,299 ล้านบาท หรือ 4.34% ส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้จำนวน 70,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,650 ล้านบาท หรือ 2.39% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,467 ล้านบาท หรือ 5.20% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.44% โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 652 ล้านบาท หรือ 1.34% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,887 ล้านบาท หรือ 6.49% นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,165 ล้านบาท หรือ 2.52% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 40.16%
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 9,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 487 ล้านบาท หรือ 5.42% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 367 ล้านบาท หรือ 1.57% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.47% รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 468 ล้านบาท หรือ 2.93% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 487 ล้านบาท หรือ 3.07% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 40.70%
SCBแจงQ3/60 วูบ12.2% เหตุตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น-แบกค่าใช้จ่ายพุ่ง
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เปิดเผยว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/2560 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ที่จำนวน 10,130 ล้านบาท ลดลง 12.2% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น และเตรียมการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IFRS 9 ที่จะใช้ในปี 2562 นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 13.8% สืบเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารในการปรับองค์กรและเทคโนโลยีสู่ยุคดิจิทัล สำหรับผลประกอบการของธนาคารในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2560 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 33,953 ล้านบาท ลดลง 2.7% จากปีก่อน
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 23,272 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อน ส่วนใหญ่จากการขยายตัวของสินเชื่อ 4.3%
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3/2560 มีจำนวน 11,419 ล้านบาทลดลง 4.6% จากปีก่อน จากการลดลงของกำไรจากเงินลงทุน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น
อัตราส่วน NPL ในไตรมาส 3/2560 อยู่ที่ 2.75% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2560 ที่ 2.65% ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 7,554 ล้านบาท หรือ 1.52% ของสินเชื่อรวมในไตรมาสนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้นเป็น 136.4% ณ สิ้นไตรมาส 3/2560 จาก 133.5% ณ สิ้นไตรมาส 2/2560
BBL แจงQ3/60กำไรเพิ่ม 1.2% เหตุรายได้ดอกเบี้ยสุทธิหนุน
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(20ตุลาคม2560)------- ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ BBLและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 16,825 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2559 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.30 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ โดยส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมจากบริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 11,939 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 41.9 ส่งผลให้กำไรสุทธิ (ส่วนที่เป็นของธนาคาร) สำหรับไตรมาส 3 ปี 2560 มีจำนวน 8,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,938,619 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2559 สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของเงินให้สินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและรักษาระดับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ 135,840 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.0 ของเงินให้สินเชื่อ
บิ๊กBAY พอใจผลงาน9เดือนแรกปีนี้-คงเป้าสินเชื่อโต6-8%
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) BAY เปิดเผยว่า ผลกำไรสุทธิสำหรับงวดเก้าเดือนแรกปี 2560 จำนวน 17.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ
สำหรับงวดเก้าเดือนแรกของปี 2560 เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ SME และสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยในทุกกลุ่มธุรกิจ ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.16% ในไตรมาส 3/2560 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559
เงินให้สินเชื่อ จำนวน 1.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.33 พันล้านบาท หรือ 3.3% เมื่อเทียบกับ ณสิ้นเดือนธันวาคม 2559 การเติบโตของสินเชื่อมีปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ SME และการเติบโตสินเชื่อลูกค้ารายย่อยในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
เงินรับฝาก มีจำนวนทั้งสิ้น 1.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.00 พันล้านบาท หรือ 8.0% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2559 การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประจำอายุไม่เกิน 1 ปี
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ปรับตัวดีขึ้นมาที่ระดับ 3.82% สูงกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ 3.70% ในไตรมาส 3/2560 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.89%
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อยู่ที่ 2.16% ในไตรมาส 3/2560 ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.24% ในไตรมาส 2/2560 ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 149.4%
ผลการดำเนินงานของกรุงศรีในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2560 แข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ จากการเติบโตของเงินรับฝากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.16%ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ผลการดำเนินงานที่ดีนี้สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของกรุงศรีและศักยภาพในการขยายธุรกิจด้วยความรอบคอบระมัดระวังภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
นายโกโตะ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจโดยรวม ว่า สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง กอปรกับการเติบโตของธุรกิจตามฤดูกาลสำหรับสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยและสินเชื่อเพื่อธุรกิจส่งผลให้กรุงศรียังคงเป้าการเติบโตของสินเชื่อทั้งปี โดยอยู่ที่ขอบล่างของเป้าหมายที่ 6-8%
KTB แจงงบเดี่ยว9เดือนแรกปีนี้กำไรวูบ29.08% เหตุตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ เพิ่มขึ้น
ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน)KTB เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 17,657 ล้านบาท ลดลง 750 ล้านบาท (ร้อยละ 4.07)จากไตรมาส 3/2559 เมื่อหักค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญฯ (รายละเอียดการสำรองเพิ่มเติมระบุใน ข้อ ฉ) หนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า) และภาษีเงินได้ จำนวน 9,918 และ 1,440 ล้านบาท ตามลำดับธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิเท่ากับ 6,299 ล้านบาท ลดลง 2,654 ล้านบาท (ร้อยละ 29.64) จากไตรมาส 3/2559 โดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 5,872 ล้านบาท ลดลง 2,758 ล้านบาท (ร้อยละ 31.96)จากไตรมาส 3/2559 โดยมีสาเหตุหลักจากการกันสำรอง (หนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า) เพิ่มขึ้น
ส่วนกำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อย สำหรับงวด 9 เดือนเท่ากับ 18,827 ล้านบาท ลดลง 6,971 ล้านบาท (ร้อยละ 27.02) โดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร 17,632 ล้านบาท ลดลง 7,229 ล้านบาท (ร้อยละ 29.08)ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ เพิ่มขึ้น จำนวน 7,256 ล้านบาท (ร้อยละ 30.23) จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 2/2560 ได้มีการกันสำรองสาหรับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่ง ประกอบกับการกันสำรองในไตรมาส 3/2560 เพื่อเสริมสร้างระดับของเงินสำรองให้มีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ ร้อยละ 115.37
ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 103,709 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio-Gross) ร้อยละ 4.51ธนาคารได้มีการดำเนินการปรับกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อใหม่ที่มุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามดูแลและการแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้ง รักษาระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้มีความเหมาะสม โดยคงอัตราเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 110 ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ
TMB งบโค้ง3/60 กำไรพุ่ง8.6% NPL ลดมาที่ 2.44%
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3/60 อยู่ที่ระดับ 2,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่ตั้งสำรองหนี้สูญหนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า ระดับ 2,391 ล้านบาท ลดลง 5.9% จากงวดปีก่อน ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิ 6,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ สิ้นก.ย.60 มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงมาอยู่ที่ 2.44%
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ลดลง 9 bps จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 3.11% ในไตรมาส 3/60 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และจากการนำสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนชั่วคราวในสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ อย่างไรก็ดีสำหรับรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ NIM ขยายตัว 4 bps มาอยู่ที่ 3.16% จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี
ทั้งนี้ จากการเติบโตของรายได้และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน กำไรจากผลการดำเนินงานหลักยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) ในไตรมาส 3/60 อยู่ที่ 5,048 ล้านบาท เติบโต 4.9% เทียบกับงวดปีก่อน และลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ มี PPOP ทั้งสิ้น 6,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากงวดปีก่อน
สำหรับ NPL ลดลงมาอยู่ที่ 2.44% จากการ write off เพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงเชิงลบที่อาจมีต่อผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ ธนาคารยังคงตั้งสำรองฯ อย่างรอบคอบเพื่อรักษาอัตราส่วนสารองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้อยู่ในระดับสูง ในไตรมาส 3/60 ธนาคารตั้งสำรองอยู่ที่ 2,391 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนรอบ 9 เดือนแรกของปี 60 ตั้งสำรองฯ ที่ 6,914 ล้านบาท เติบโต 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ Coverage ratio ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 141%
TISCO ปั้นกำไร 9 เดือนโต 23% ชูบริการครบวงจร-ชี้พอร์ตรายย่อยสร้างโอกาสเสริมแกร่งธุรกิจ
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้แจ้งผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2560 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 322 ล้านบาท หรือ 25.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ขณะที่ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2560 มีกำไรสุทธิ 4,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 856 ล้านบาท หรือ 23.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การขยายตัวในช่วงไตรมาส 3 ปี 2560 เป็นผลมาจากกลุ่มทิสโก้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับรักษาความสามารถในการสร้างรายได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 0.5% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 8.5% โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย (Bancassurance) และค่าธรรมเนียมธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้สามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายหนี้สูญลดลง 44.0% พร้อมกับการปรับตัวดีขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ 2.3%
ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 กลุ่มทิสโก้ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตในทุกธุรกิจ โดยเน้นประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายใต้การบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงการเดินหน้าสร้างโอกาสในการเติบโตจากความสำเร็จในการรับโอนธุรกิจรายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT ที่ดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ ทั้งในส่วนของเงินฝาก สินเชื่อ บริการธนบดีธนกิจและธุรกิจนายหน้าประกันภัย โดยสามารถรับโอนย้ายพอร์ตรายย่อยเข้ามาด้วยมูลค่าสินเชื่อประมาณ 36,000 ล้านบาท และเงินฝากประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทิสโก้สามารถต่อยอดธุรกิจและเพิ่มช่องทางการบริการให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ ในไตรมาส 3 ปี 2560 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8% จากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลัก ประกอบกับการตั้งสำรองหนี้สูญที่ปรับตัวลดลง รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวม และการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้น 8.5% สาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น 7.8% จากการขยายตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัย ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเติบโต 19.2% จากการออกกองทุนที่ตอบรับความต้องการของลูกค้า ในขณะเดียวกัน การตั้งสำรองหนี้สูญลดลง 44.0% ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 4,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.0% จากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้จากทุกภาคธุรกิจ รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้น 8.5% จากการเติบโตของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจจัดการกองทุน อีกทั้ง การตั้งสำรองหนี้สูญลดลง 36.4% ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กลุ่มทิสโก้ยังคงสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมอยู่ในระดับต่ำที่ 42.1%
แบงก์ธนชาต ปลื้ม Q3/60 กำไรโตติดต่อกัน 11 ไตรมาส ส่วน NPL ลดลงเหลือ 2.11%
นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต (TBANK) กล่าวว่า กำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยในไตรมาส 3/60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,533 ล้านบาท เติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 11 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.06% จากไตรมาสก่อนหน้า และปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.34% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่งวด 9 เดือนปี 60 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อในงวด 9 เดือน เติบโต 1.13% ซึ่งดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาเหลือเพียง 2.11% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ในระดับสูงถึง 20.01%
ไตรมาสนี้เป็นอีกไตรมาสที่ตอกย้ำความสำเร็จของกลยุทธ์กลุ่มธนชาตที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้ธุรกิจหลักของธนาคารเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง มีการเติบโตของสินเชื่อพร้อมไปกับการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยระบบการอนุมัติสินเชื่อและระบบการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ
รวมถึงระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพของการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนการตั้งสำรอง (PPOP) ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 13.44% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากฐานรายได้รวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานปรับตัวลดลง
ยังมีต่อ.............