
HotNews: โซลาร์ฯมองโกเลีย ปั๊มเงินเข้าเป๋า SSP
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 กรกฎาคม 2562) SSP กดปุ่ม COD โครงการโซลาร์ฟาร์มมองโกเลีย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16.4 MW เป็นที่เรียบร้อย หนุนกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 157.1 MW วางธง 3-5 ปีกำลังการผลิตแตะ 400 MW "วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ " หัวเรือใหญ่ มั่นใจปีนี้รายได้โตเข้าเป้า 30-40% ส่วนกำไรสุมธิคาดทุบสถิติสูงสดใหม่
นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSP) เปิดเผยว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศมองโกเลีย ขนาดกำลังการผลิต 16.4 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นในสัดส่วน 75% สามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯเพิ่มเป็น เป็น 157.1 เมกะวัตต์ จากปีก่อน 90.4 เมกะวัตต์
โครงการดังกล่าวมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะเวลา 12 ปี ในราคา 0.162 USD ต่อหน่วย หรือ ประมาณ 5 บาทต่อหน่วย โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง Ulaanbaatar ประเทศมองโกเลีย ใกล้กับที่ตั้งของสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของมองโกเลีย
พร้อมกันนี้โครงการที่มองโกเลียยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้ Joint Credit Mechanism Program ระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลมองโกเลีย รวมทั้งยังได้รับวงเงินกู้สนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนำโดยภาคเอกชนชั้นนำของเอเชีย หรือ JICA อีกด้วย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP มั่นใจว่าแนวโน้มรายได้รวมในปี 2562 จะเติบโตประมาณ 30-40% จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,137.38 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่จะสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 65.6 เมกะวัตต์ มาจากโครงการ โซลาฟาร์มประเทศมองโกเลียกำลังการผลิต 16.4 เมกะวัตต์ โครงการที่โซลาร์ฟาร์มประเทศเวียดนามกำลังผลิต 49.60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้กำไรในปีนี้สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจระยะยาวในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า SSP ตั้งเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 400 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายโครงการ ซึ่งในปี 2563 จะมีกำลังการผลิตที่ 196 MW จากสิ้นปี 2562 ที่มี 157 MW โดยมีโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นจ่ายไฟเข้าระบบ 34.5 MW และในปี 64-65 จะมีโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นจ่ายไฟเข้าระบบเพิ่มเป็น 232 MW ซึ่งเป็นโครงการลีโอจำนวน 40 MW
อนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่จะใช้คำนวณดัชนี “sSET Index” ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 (1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2562) ซึ่ง SSP เป็น 1 ใน 10 หลักทรัพย์ใหม่ สะท้อนให้เห็นว่า SSP เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายสม่ำเสมอ และปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทฯ
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯและฟุตซี่ รัสเซล ประกาศทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ชุดใหม่ที่จะใช้ในการคำนวณ FTSE SET Index Series มีผลวันที่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป โดย SSP ติดโผหลักทรัพย์เข้าใหม่ในดัชนี FTSE SET Small Cap (1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2562) เช่นเดียวกัน
“การที่หุ้นถูกนำเข้าไปคำนวณในดัชนี sSET Index และ ดัชนี FTSE SET Small Cap ในรอบครึ่งหลังของปีนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะดัชนีทั้งสองมีส่วนสำคัญในการให้น้ำหนักการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบัน กองทุน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของ SSP ก็มีโอกาสที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเหล่านั้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้หุ้นมีสภาพคล่องในการซื้อขายมากขึ้น”
SSP