ประเด็นสำคัญ
ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค. 2556 ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบ ราคาทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้น พร้อมๆ กับหนุนทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเดิมก็มีแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์การชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้ว
คงต้องยอมรับว่า การประเมินผลกระทบสุทธิต่อตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยจากประเด็นความขัดแย้งในซีเรีย ณ ขณะนี้ ยังคงทำได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของสถานการณ์ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 10% และหนุนให้ราคาน้ำมันในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเดียวกันแล้ว จะมีผลทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีลดลงประมาณ 0.5-0.7% และผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น 0.7-0.9%
ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความขัดแย้งคงจะไม่รุนแรงหรือยืดเยื้อ จนส่งผลต่อประมาณการหลักๆ ณ ขณะนี้ แต่ในช่วงหลังจากนี้ ยังคงต้องจับตาพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าว และผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด
ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามากขึ้น เมื่อชาติตะวันตกชั้นนำแสดงท่าทีต้องการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในซีเรียที่มีการใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือนเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2556 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง (ทั้งในอียิปต์ และซีเรีย) ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับมาทะยานสูงขึ้นมากกว่า 10% ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา
สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค. 2556 ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบหลายเดือน หนุนราคาทองคำ และเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมของเงินดอลลาร์ฯ จากเดิมที่มีแรงหนุนอยู่ก่อนแล้วจากกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการเริ่มชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (QE) ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 17-18 ก.ย. 2556 ที่กำลังจะมาถึงนี้
ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยนั้น ความกังวลต่อสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นในซีเรียกระตุ้นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดหุ้น-ตลาดพันธบัตรไทย และกดดันให้เงินบาทร่วงลงทะลุระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปี
สำหรับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประเมินผลกระทบสุทธิต่อตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในปี 2556 จากประเด็นความขัดแย้งในซีเรีย ณ ขณะนี้ ยังคงทำได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของสถานการณ์
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีที่หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 10% และหนุนให้ราคาน้ำมันในประเทศเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเดียวกันแล้ว จะมีผลทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีลดต่ำลงประมาณ 0.5-0.7% และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.7-0.9% โดยหากทิศทางเงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงเวลาเดียวกันจากแรงกดดันของกระแสเงินทุนไหลออก ก็อาจมีผลทำให้ผลกระทบต่อจีดีพีและเงินเฟ้อของไทยเพิ่มสูงขึ้น ผ่านการชะลอตัวของกำลังซื้อในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง
เหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ยังคงเป็นประเด็นความเสี่ยงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม โดยหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (และราคาขายปลีกในประเทศไทย) กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย สภาพคล่องในระบบการเงิน ค่าเงินบาท รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย ตามระดับความรุนแรงและระยะเวลาของเหตุการณ์ ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความขัดแย้งคงจะไม่รุนแรงหรือยืดเยื้อ จนส่งผลต่อประมาณการหลักๆ ณ ขณะนี้ แต่ในช่วงหลังจากนี้ ยังคงต้องจับตาพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าว และผลกระทบที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....
FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น
NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68