Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

วิกฤตน้ำท่วมฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 4 ... ซ้ำเติมปัญหาในภาคอุตสาหกรรมและแนวโน้มเงินเฟ้อ

2,305

วิกฤตน้ำท่วมฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 4 ... ซ้ำเติมปัญหาในภาคอุตสาหกรรมและแนวโน้มเงินเฟ้อ

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน สถานการณ์อุทกภัยในปี 2554 นับเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของไทย อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ประเทศไทยในปีนี้มีปริมาณน้ำฝนมากและฝนมาเร็วกว่าปกติ โดยพายุหลายระลอกที่พัดเข้ามายังภูมิภาคนับตั้งแต่พายุโซนร้อนไหหม่า (ปลายเดือนมิถุนายน) พายุนกเตน (ปลายเดือนกรกฎาคม) และพายุนาลแก (ต้นเดือนตุลาคม) ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่เกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่สำคัญ ยังต้องจับตาเฝ้าระวังพายุที่อาจจะก่อกำเนิดขึ้นได้อีกเนื่องจากฤดูกาลที่ฝนตกชุกยังไม่สิ้นสุด  


ปริมาณน้ำที่มีมากนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง แต่อุทกภัยครั้งนี้อาจถือเป็นครั้งแรกที่น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อุตสาหกรรมหลักในหลายจังหวัดตอนเหนือของกรุงเทพฯ ทำให้ความเสียหายจากอุทกภัยในปีนี้อาจมีมูลค่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้หลายเท่าตัว รวมทั้งยังอาจมีผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาอีกหลายด้าน

น้ำท่วมนับจากก.ค. 54 ... อาจกระทบเศรษฐกิจ 75,000-113,000 ล้านบาท
จากการวิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฏาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน และการประเมินสถานการณ์มวลน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังมุ่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลกระทบและผลที่จะมีต่อเนื่องจากปัญหาดังกล่าวต่อภาวะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การจ้างงาน ตลอดจนการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยอาจสรุปมูลค่าความสูญเสียและผลรวมต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2554 ได้ดังนี้

ภาคเกษตรกรรม จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า สถานการณ์อุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมรวมทั้งสิ้น 66 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 8.6 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2554) โดยผลผลิตที่คาดว่าจะเสียหายส่วนใหญ่เป็นข้าวประมาณ 7.3 ไร่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในกรณีรุนแรงหากเกิดความเสียหายเพิ่มเติมจากมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกในระยะข้างหน้า ความเสียหายจากอุทกภัยในรอบนี้อาจครอบคลุมพื้นที่การเกษตรโดยรวมถึง 12 ล้านไร่

ภาคอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้นับว่ามีความรุนแรง เนื่องจากขณะนี้ น้ำได้ท่วมเข้าถึงนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดตอนเหนือของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะลพบุรีและอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตสินค้าสำคัญอื่นๆ อีกด้วย เช่น สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น โดยหลายโรงงานผลิตสินค้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมขอบเขตผลกระทบและสถานการณ์ยืดเยื้อนานหลายสัปดาห์ อาจจะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบในการผลิต และจะส่งผลต่อภาคการผลิตของประเทศในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เฉพาะอยุธยาเพียงจังหวัดเดียว ก็นับเป็นจังหวัดศูนย์กลางอุตสาหกรรมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ (รองจากกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ) มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 11 ของมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ขณะที่เป็นแหล่งรวมของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-40 ของประเทศ รวมทั้งมีความเชื่อมโยงด้านซัพพลายเชนกับคลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น ปทุมธานี นครราชสีมา และปราจีนบุรี ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในโซนตอนเหนือของกรุงเทพฯ ก็นับเป็นกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญด้วยสัดส่วนการผลิตประมาณร้อยละ 10 ของประเทศ

ภาคบริการ ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวคาดว่าจะไม่รุนแรง หากสถานการณ์ภัยพิบัติไม่ส่งผลต่อภาคใต้และภาคตะวันออก เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ส่วนใหญ่มีตลาดนักท่องเที่ยวหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่และเส้นทางคมนาคมที่สัญจรไม่สะดวก ตลอดจนความกังวลของคนกรุงเทพฯ ต่อที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินในช่วงจุดเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม คงทำให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางในระยะนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจบริการท่องเที่ยวเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงปิดเทอม

ส่วนภาคบริการอื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งอาจมียอดขายชะลอตัวในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยอาจลดลง จากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานและรายได้ในอนาคต แต่ขณะเดียวกัน ภายหลังน้ำลดน่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการซ่อมแซมหรือซื้อสินค้าเพื่อทดแทนของที่เสียหาย ด้านธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ อาจได้รับผลกระทบจากการขนส่งกระจายสินค้าที่เข้าถึงพื้นที่ได้ยากลำบาก รวมทั้งอุปสงค์ในการใช้บริการที่อาจลดลงจากการผลิตและการส่งออกที่หยุดชะงัก ขณะที่ธุรกิจก่อสร้าง อาจได้รับผลกระทบในช่วงน้ำท่วม แต่หลังจากน้ำลดแล้วน่าจะมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น จากการฟื้นฟูบูรณะความเสียหายต่างๆ

ผลกระทบจำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ มีรายละเอียดดังนี้
ผลกระทบจำแนกตามสาขาเศรษฐกิจ
ผลกระทบ    ผลกระทบ
มูลค่าความสูญเสียต่อผลผลิตในภาคเศรษฐกิจต่างๆ (ล้านบาท)    75,000-113,000
-    ภาคการเกษตร      20,000-30,000
-    ภาคอุตสาหกรรม     38,000-59,000
-    โรงแรมและภัตตาคาร    6,500-9,500
-    ภาคบริการอื่นๆ เช่น ค้าปลีก โลจิสติกส์ และก่อสร้าง      10,500-14,500

ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ    
-    ผลต่อจีดีพีไตรมาส 3/2554    -0.6%
อัตราการขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 3/2554    4.6%
-    ผลต่อจีดีพีไตรมาส 4/2554    -2.0 ถึง -3.2%

อัตราการขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 4/2554    2.0-3.8%
-    ผลต่อจีดีพีทั้งปี 2554    -0.69 ถึง -1.04%

อัตราการขยายตัวของจีดีพี ปี 2554    กรอบคาดการณ์ : 2.9-3.6%
กรณีพื้นฐาน : 3.3%
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยมูลค่าความสูญเสียคิดตามฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี โดยเป็นมูลค่าสุทธิที่คิดจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่สูญหายไปในแต่ละช่วงเวลา โดยคำนึงถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะกลับเข้ามาหลังจากปัญหาคลี่คลายลงด้วย

หมายเหตุ
1.    สมมติฐาน : กรณีดี -- สถานการณ์วิกฤตน้ำคลี่คลายได้ภายในเดือนตุลาคม และผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ อยู่ในวงจำกัด กรณีเลวร้าย -- สถานการณ์วิกฤตน้ำในพื้นที่ประสบภัยยังเป็นปัญหาต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤศจิกายน และซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมหลักได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ต้องหยุดการผลิตและกระทบต่อการจ้างงาน แต่ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลในกรณีหากเกิดภัยพิบัติเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น เช่น ภาคใต้

2.    ผลกระทบต่อจีดีพีไตรมาสที่ 3/2554 ถูกรวมไว้ในกรอบประมาณการเดิมอยู่แล้ว
ผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของไทย

จากสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก การบริโภค และการลงทุนในไตรมาสที่ 4/2554 ดังนี้
การส่งออก การหยุดการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 4/2554 ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม หากบริษัทผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหายนานหลายสัปดาห์ บริษัทผู้ผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายหรือสินค้าปลายน้ำที่ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง อาจมีการปรับแผนหันไปจัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากแหล่งอื่นเข้ามาทดแทนส่วนที่หายไปจากโรงงานในพื้นที่ที่ประสบปัญหา เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าส่งมอบตามคำสั่งซื้อได้ทันเวลา ซึ่งการปรับกลยุทธ์ตามแนวทางดังกล่าวอาจทำให้การส่งออกชะลอลงจากคาดการณ์เดิมไม่มากนัก โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2554 อาจขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่ำลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 20 แต่ทั้งนี้ การที่ผู้ผลิตอาจปรับตัวหันไปนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากต่างประเทศทดแทน จะทำให้ยอดเกินดุลการค้าปรับตัวลดลง

การบริโภค ปัญหาน้ำท่วมอาจกระทบต่ออารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ตลอดจนความถี่ในการซื้อสินค้าเนื่องจากการเดินทางไม่สะดวก นอกจากนี้ การที่โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากต้องหยุดการผลิตยังจะกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของแรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยาที่ต้องหยุดการผลิตลง มีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 200,000 คน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และน้ำดื่ม น่าจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการซื้อของผู้บริโภคในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ช่วงน้ำท่วม รวมทั้งการซื้อเพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวกับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและของใช้ในบ้านอาจมีความต้องการเพิ่มขึ้นภายหลังน้ำลด โดยรวมแล้วคาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนในปี 2554 อาจขยายตัวต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.4 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.6

การลงทุน ภาวะน้ำท่วมหนักคงส่งผลให้กิจกรรมการลงทุนชะลอตัว ที่สำคัญ ปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอันเป็นที่ตั้งของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติในการเลือกที่ตั้งของการลงทุนและนิคมอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับระบบการป้องกันภัยพิบัติมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์น้ำคลี่คลายน่าจะมีการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายของสิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณสมบัติต่างๆ นอกจากนี้ บทเรียนอันเลวร้ายจากภัยพิบัติจะทำให้ทั้งธุรกิจ ประชาชน และภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มแนวป้องกันน้ำท่วมที่แข็งแรงและมีระดับความสูงเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจก่อสร้างในช่วงปลายไตรมาสต่อเนื่องจนถึงปีหน้า สำหรับในปี 2554 คาดว่าการลงทุนโดยรวมอาจขยายตัวร้อยละ 5.9 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.3

โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุทกภัยร้ายแรงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ต่ำลงจากคาดการณ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ จากความเสียหายที่ลุกลามไปถึงภาคอุตสาหกรรมอย่างหนัก โดยในกรณีพื้นฐาน เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 2.9-3.6 ต่ำลงจากเดิมที่คาดว่าจีดีพีในกรณีพื้นฐานอาจขยายตัวร้อยละ 3.8 และมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.2


โดยสรุป สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยนับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และความเสียหายยังมีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้นจากมวลน้ำที่กำลังไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยามุ่งสู่ภาคกลางตอนล่าง รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีการก่อตัวของพายุที่อาจจะพัดเข้าประเทศไทยได้อีก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี อาจมีมูลค่าสุทธิ 75,000-113,000 ล้านบาท จำแนกเป็นความเสียหายในภาคการเกษตร 20,000-30,000 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 38,000-59,000 ล้านบาท และภาคบริการและอื่นๆ รวม 17,000-24,000 ล้านบาท โดยจังหวัดที่เสียหายหนักที่สุดคาดว่าจะเป็นอยุธยาที่มูลค่าเศรษฐกิจของจังหวัดโดยสุทธิแล้วอาจสูญหายไปถึง 20,000-30,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุทกภัยร้ายแรงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ลดลงจากคาดการณ์เดิมถึงร้อยละ 0.69-1.04 ลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 2.9-3.6 โดยกรณีพื้นฐานคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 (จากเดิมมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.2 และกรณีพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8)

ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2554 มีอัตราการขยายตัวต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 2.0-3.8 หายไปถึงร้อยละ 2.0-3.2 (จากเดิมที่เคยคาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 4.0-5.8)

นอกเหนือจากผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่จะตามมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว อาทิ

ทิศทางราคาสินค้า ความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรจะส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนที่เหลือของปีสูงกว่าที่เคยคาดไว้ แม้ว่าอาจไม่มีผลทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีแตกต่างไปจากกรอบคาดการณ์เดิมนัก เนื่องจากเหลือเพียง 3 เดือนสุดท้าย  แต่ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มขึ้นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในต้นปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่อาจจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน การยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และการปรับมาตรการราคาพลังงาน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 นี้จะอยู่ในช่วงร้อยละ 3.8-4.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.3-2.6

ความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรม อุทกภัยที่เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นแรงซ้ำเติม โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่น และยังมีหลากหลายปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการรับมือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงปีหน้า จึงนับได้ว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากกำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากในการประคองตัวกลับมาพลิกฟื้นความเสียหายของโรงงาน สถานประกอบการ และเครื่องจักร ขณะที่การหยุดการผลิตก็จะส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจ ซึ่งปัญหาดังกล่าวน่าจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการส่งออกโดยรวมของไทย

การลงทุนจากต่างประเทศ บทเรียนที่เกิดขึ้นนี้อาจมีนัยต่อแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนถึงเสถียรภาพความปลอดภัยของธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยควรมีแนวทางชัดเจนในการป้องกันปัญหาในอนาคตอย่างยั่งยืน

นโยบายรัฐบาล ผลที่ตามมาจากอุทกภัยครั้งนี้อาจทำให้รัฐบาลต้องมีการปรับแนวนโยบาย ซึ่งการดำเนินการในบางด้านอาจไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ เช่น การจำนำข้าวที่ผลผลิตข้าวนาปีจำนวนมากต้องเสียหากจากภาวะน้ำท่วม ทำให้มีข้าวเข้าสู่โครงการจำนำน้อยกว่าที่คาด และอาจต้องมีการขยายเวลาจำนำออกไปจากที่จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีกำหนดจะเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2555 ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเมื่อคำนึงถึงผลกระทบจากอุทกภัยต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว การวางยุทธศาสตร์ในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรก็เป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้