Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

วิกฤตหนี้ยุโรป : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

2,374

วิกฤตหนี้ยุโรป : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย


By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นเวลานานกว่า 1 ปีครึ่ง ที่ผู้นำของประเทศสมาชิกยูโรโซนใช้ความพยายามในการแก้ไข และประคับประคองสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรป ที่มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่ประเทศกรีซ ซึ่ง ณ เวลานี้ กำลังแบกรับระดับหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 160% ของจีดีพี และดูเหมือนกับว่า กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility : EFSF) จะเป็นความหวังล่าสุดสำหรับจัดการกับวิกฤตหนี้สาธารณะที่ยืดเยื้อ ที่ทางการของประเทศสมาชิกยูโรโซนเตรียมจะนำมาใช้ภายในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554 เพื่อสกัดและลดความเสี่ยงของการลุกลามของปัญหาไปยังประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ (นอกเหนือไปจากประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส) ควบคู่ไปกับเครื่องมือนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB)

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของพัฒนาการในด้านลบ-ด้านบวกของวิกฤตหนี้ยุโรปในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้การประเมินผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจมหภาคของไทยมีความไม่แน่นอนตามไปด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทยภายใต้สถานการณ์ของวิกฤตหนี้ในยุโรปตามลำดับความรุนแรงของเหตุการณ์ เป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีวิกฤตจำกัดขอบเขต และกรณีวิกฤตลุกลามบานปลาย...

ความพยายามล่าสุดของทางการยุโรป และธนาคารกลางยุโรป
คงต้องยอมรับว่า ความพยายามล่าสุดของทางการยุโรปในการวางกรอบเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยการเพิ่มทุน และธนาคารกลางยุโรปที่เข้าช่วยเหลือด้วยมาตรการสภาพคล่อง สามารถช่วยกอบกู้สถานการณ์วิกฤตหนี้ของยุโรป หนุนความเชื่อมั่น และลดความเสี่ยงต่อระบบการเงินของยุโรป อย่างน้อยก็ในระยะสั้น โดยสัญญาณของความพยายามล่าสุด ประกอบด้วย

มาตรการสภาพคล่องของ ECB กลไกช่วยสถาบันการเงินยุโรปล่าสุด ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ผลักดันมาตรการทางช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน ได้แก่ โครงการปล่อยกู้ระยะยาวประมาณ 1 ปี  และการกลับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่มีประกันประเภท Covered Bond มูลค่า 4.0 หมื่นล้านยูโร เพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวของตลาดระดมทุนระหว่างธนาคาร

กองทุน EFSF กลไกสกัดวิกฤตหนี้ของทางการยุโรปล่าสุด หลังจากที่ประเทศเยอรมนีลงสัตยาบันรับการเพิ่มอำนาจและบทบาทของกองทุน EFSF ไปแล้วในวันที่ 29 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ณ ขณะนี้ สถานะความพร้อมล่าสุด ของกองทุน EFSF ยังคงอยู่ในกระบวนการรอการลงสัตยาบันของประเทศสมาชิกยูโรโซนอีกเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งสโลวาเกีย จะเป็นประเทศสุดท้ายที่มีกำหนดการลงสัตยาบันรับอำนาจและบทบาทใหม่ของกองทุน EFSF โดยน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงไม่กี่วันก่อนการประชุม EU Summit วันที่ 17-18 ตุลาคม 2554 นี้


ทั้งนี้ กองทุน EFSF ที่ได้รับอำนาจและบทบาทใหม่ อาจพร้อมที่จะเข้าจัดการกับวิกฤตหนี้ พลิกฟื้นความเชื่อมั่น และสกัดการลุกลามของวิกฤตไปยังสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ ที่มีฐานะการคลังที่เปราะบางในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม 2554 โดยในเบื้องต้น คาดว่า กองทุน EFSF จะสามารถทำ 3 หน้าที่หลัก ได้แก่ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง ขยายวงเงินสินเชื่อสำรองให้แก่รัฐบาลของประเทศต่างๆ และปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลสำหรับเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงในการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน เทียบกับหน้าที่เดิมที่ทำได้เพียงแค่ระดมทุนเพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากทางการยุโรป

ก้าวปัจจุบันของกองทุน EFSF และก้าวต่อไปของการจัดการวิกฤตหนี้ยุโรป
หลังจากที่รัฐบาลกรีซเผชิญความยากลำบากในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลก สกุลเงินยูโร และสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ต่างก็เผชิญแรงเทขายอย่างหนัก ท่ามกลางความกังวลในวงกว้างว่า วิกฤตหนี้สาธารณะขั้นร้ายแรงแบบที่กรีซเผชิญ อาจจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี และสเปน ซึ่งมีสถานะการคลังที่อ่อนแอในระดับที่แตกต่างกันไป

ณ เวลานี้ สถานการณ์ของวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปอยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลของกลุ่มประเทศยูโรโซนแสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน และเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบธนาคารและภาคเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและภูมิภาคอื่นทั่วโลก ด้วยการผลักดันให้กลไก EFSF สามารถเริ่มดำเนินการกอบกู้วิกฤตได้ภายในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554 นี้ ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ก็น่าที่จะต้องพิจารณาเครื่องมือเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของการดำเนินนโยบายการเงิน หลังจากที่ได้ผลักดันมาตรการทางช่วยเหลือด้านสภาพคล่องบางส่วนแก่สถาบันการเงินเพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวของตลาดระดมทุนระหว่างธนาคารในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของมาตรการนี้ เนื่องจากความสำเร็จในการกอบกู้วิกฤตหนี้สาธารณะที่เรื้อรังของยุโรป ด้วยกลไกการแก้ปัญหาผ่านกองทุน EFSF อาจต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่จำเป็นหลายประการ อาทิ (1) ขนาดของมาตรการ EFSF ที่ถูกปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับกรณีขั้นรุนแรงที่วิกฤตลุกลามไปยังประเทศขนาดใหญ่ หรือกรณีที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนให้กับระบบสถาบันการเงินครั้งใหญ่ (หรือมากกว่า 2.0 แสนล้านยูโร ที่ IMF ประเมินไว้) (2) กระบวนการทางการเมืองและกฎหมาย ที่ไม่มีความยืดหยุ่นให้สามารถเข้าจัดการ/แก้ไขวิกฤตได้อย่างทันท่วงที และ (3) ความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของประเทศที่ประสบปัญหาหนี้ เพราะจะสะท้อนถึงการเยียวยาวิกฤตที่ต้นตอของปัญหา

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาพัฒนาการล่าสุดของวิกฤตในยุโรปและสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ที่ยังน่าจะเป็นไปในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ท่ามกลางความเสี่ยงในช่วงขาลงของทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม กระแสการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและสถาบันการเงินในยูโรโซนที่น่าจะยังไม่สิ้นสุดลง  ขณะที่ ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซ ซึ่งต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU/IMF ก็อาจเกิดขึ้นได้อีกหลายระลอกในระยะข้างหน้า ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประเมินสถานการณ์ของวิกฤตหนี้ในยุโรปในระยะประมาณ 6-12 เดือนข้างหน้า และผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ตามลำดับความรุนแรงของเหตุการณ์ ดังนี้ :

กรณีที่ 1: วิกฤตยุโรปจำกัดขอบเขต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พิจารณาจากสมมติฐานที่ครอบคลุมสถานการณ์ที่ทางการยูโรโซนพยายามใช้บทบาทใหม่ของกองทุน EFSF และ/หรือ Safety Net Packages อื่นๆ ในการแก้ไข เยียวยา และสกัดการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรปไม่ให้กระจายไปในวงกว้างนอกเหนือไปจากประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส (ประเทศกลุ่ม PIG) โดยในกรณีนี้สามารถรองรับความเสี่ยงที่ทางการของประเทศในกลุ่มยูโรโซน มีความจำเป็นต้องปล่อยให้ประเทศในกลุ่ม PIG บางประเทศผิดนัดชำระหนี้ (Orderly or Managed Defaults) ภายใต้ Safety Net Packages เพิ่มเติมที่ต้องมีความชัดเจนในรายละเอียด เพื่อขีดเส้นให้การลุกลามของปัญหาอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

ผลกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2555 หากความพยายามของทางการยุโรปดังกล่าวข้างต้น สามารถพลิกฟื้นความเชื่อมั่น และกอบกู้สถานการณ์วิกฤตหนี้ได้ในระยะข้างหน้าแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจสามารถรักษาอัตราการเติบโตเป็นบวกได้ไม่เกินร้อยละ 0.8 ในปี 2555 (ขณะที่ เศรษฐกิจจีน และสหรัฐฯ นั้น แม้จะไม่ชะลอตัวรุนแรง แต่ก็จะเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ) อย่างไรก็ดี ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ก็ยังน่าจะกระทบต่อภาพรวมของการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในปี 2555 โดยในกรณีนี้ การส่งออกอาจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 10.0 ขณะที่ อัตราการเติบโตของจีดีพีอาจขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 4.5 ในกรณีที่วิกฤตยุโรปจบเร็วและมีผลกระทบในวงจำกัด

กรณีที่ 2: วิกฤตยุโรปลุกลามรุนแรง ในกรณีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พิจารณาจากสมมติฐานที่ความเชื่อมั่นที่มีต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ของทางการยุโรปไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างสมบูรณ์ หรือกลไก EFSF และ Safety Net Packages อื่นๆ ในกรณีแรกเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเพื่อซื้อเวลาไม่ให้ปัญหาบานปลายออกไปในเวลาที่รวดเร็วเท่านั้น โดยในสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นนี้ ประเทศสมาชิกยูโรโซนที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ อาทิ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม อาจจำต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้นทุนการระดมทุนพุ่งสูงผิดปกติ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาด้วย EFSF เดิมไม่เพียงพอ และจะต้องได้รับการปฏิรูปให้มีขนาดและขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง หรือจะต้องเร่งกระบวนการของ European Stability Mechanism (ESM) ที่จะเข้ามาทดแทน EFSF อย่างถาวรเข้ามาเร็วขึ้น จากกำหนดการเดิมในช่วงกลางปี 2556

ผลกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ความซับซ้อนของปัญหาที่มากขึ้น ทำให้ผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับความไม่เชื่อมั่นต่อสถานะการคลังของรัฐบาล ระบบสถาบันการเงิน และระบบการเงินของยูโรโซน ขณะที่ การลดหนี้ และ/หรือการปรับโครงสร้างหนี้และขนาดของการเพิ่มทุนในภาคธนาคาร ก็อาจต้องเพิ่มระดับให้มีความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ การถดถอยลงของความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบสถาบันการเงินและภาคการเงินดังกล่าว ย่อมจะส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาที่สภาพคล่องในระบบ และท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ เศรษฐกิจยุโรปโดยรวมมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็จะเป็นตัวเร่งความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก (โดยอัตราการเติบโตของจีนและสหรัฐฯ จะเติบโตต่ำลงมากกว่าในกรณีแรก) และในท้ายที่สุด ก็อาจทำให้ผลกระทบในเชิงมหภาคต่อเศรษฐกิจไทยมีความรุนแรงขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในกรณีที่วิกฤตยุโรปลุกลามรุนแรงนั้น อัตราการเติบโตของการส่งออกของไทย น่าจะติดลบประมาณร้อยละ 7.0 อย่างไรก็ดี นโยบายสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ และแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่น่าจะเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบด้านลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกไว้ได้บางส่วน ก็น่าจะทำให้ตัวเลขจีดีพีไทยยังสามารถขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 1.0 ในปี 2555

ทั้งนี้ คงต้องติดตามจุดเปลี่ยน (Triggers) ของวิกฤตหนี้ยุโรปในระยะข้างหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ ตัวแปรที่อาจพลิกสถานการณ์ของวิกฤตกลับมาอย่างน้อยก็ในระยะสั้น ได้แก่

ช่วงเวลา    จุดเปลี่ยนสถานการณ์
10 ต.ค. 2554    การลงสัตยาบันรับบทบาทใหม่ของ EFSF ของมอลตา
11 ต.ค. 2554    การลงสัตยาบันรับบทบาทใหม่ของ EFSF ของสโลวาเกีย
17-18 ต.ค. 2554    EU Summit ซึ่งอาจมีการหารือเรื่องมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงิน
3 พ.ย. 2554    การประชุมธนาคารกลางยุโรป
3-4 พ.ย. 2554    การประชุม G-20
7-8 พ.ย. 2554    การประชุมรัฐมนตรีคลังสหภาพยุโรป  
ภายในครึ่งแรกของเดือนพ.ย.2554    การพิจารณาเงินช่วยเหลือกรีซงวดที่ 6 ของ Troika (EU/IMF/ECB) วงเงิน 8 พันล้านยูโร

รายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงใหม่ของมาตรการช่วยเหลือกรีซรอบ 2 วงเงิน 159 พันล้านยูโร ที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการด้วยการปรับโครงสร้าง / ลดหนี้

โดยสรุป ด้วยกลไกการแก้ไขวิกฤตหนี้ของทางการยุโรปที่ขาดความชัดเจนในรายละเอียด โดยมีเพียงการวางกรอบแนวทางการดำเนินการในภาพกว้างไว้เท่านั้น ทำให้ยังคงต้องติดตามพัฒนาการของปัญหาหนี้ยุโรปในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว อาจให้รายละเอียดที่เพียงพอสำหรับการมองผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2555 ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น แต่กระนั้นก็ดี เบื้องต้น ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินภาพระดับความรุนแรงของวิกฤตหนี้ยุโรปไว้เป็นแนวทางสำหรับประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีวิกฤตหนี้ยุโรปมีขอบเขตที่จำกัด จากความพยายามกอบกู้วิกฤตด้วยเครื่องมือของการยุโรป และธนาคารกลางยุโรป และกรณีที่เลวร้ายที่วิกฤตลุกลามบานปลาย โดยกรณีสุดขั้วทั้ง 2 ด้าน จะให้ผลที่ค่อนข้างแตกต่างกัน

โดยในกรณีที่ผลกระทบเชิงมหภาคของไทยจากกรณีวิกฤตหนี้ยุโรปมีขอบเขตที่จำกัดนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 2555 ยังคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงทิศทางการชะลอตัวได้ แต่น่าที่จะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวไว้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10.0 ขณะที่ เศรษฐกิจไทยที่น่าจะได้แรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศและแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ก็อาจขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 4.5 ในกรณีที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี หากพัฒนาการของวิกฤตหนี้ยุโรปไม่สามารถจำกัดวงไว้ได้ตามที่ทางการยุโรปคาดหวัง การส่งออกของไทยในปี 2555 อาจต้องเผชิญกับภาวะหดตัวร้อยละ 7.0 ขณะที่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าที่จะต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.0 เท่านั้น แต่ทั้งนี้ ผลในท้ายที่สุดแล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสถานการณ์วิกฤตในระยะข้างหน้า ซึ่งยังคงมีโอกาสพลิกผันได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นแกนสำคัญของโลกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป น่าที่จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย และไทยในปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่อ่อนแรงลงตามไปด้วย ดังนั้น สำหรับในด้านของผู้ประกอบการของไทย คงต้องเตรียมศึกษาประสบการณ์จากภาวะวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเตรียมวางแนวทางและกลยุทธ์ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปี 2555 ทั้งจากความผันผวนของตลาดการเงิน และความอ่อนไหวของสถานะคู่ค้า เพื่อให้สามารถในการประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นมรสุมไปได้อย่างราบรื่นที่สุด

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

ต่างชาติ ลุยซื้อหุ้นไทย By : นายกล้วยหอม

นายกล้วยหอม เห็นนักลงทุนต่างชาติ กลับมาซื้อหุ้นไทย วานนี้ จัดไป เกือบ 3,600 ล้านบาท ส่วนในประเทศ พร้อมใจขายอย่าง...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้