Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ธุรกิจโฆษณาปี ’54 : รับอานิสงส์เลือกตั้ง...คาดทั้งปีขยายตัวได้ 12-13%

3,258

ธุรกิจโฆษณาปี ’54 : รับอานิสงส์เลือกตั้ง...คาดทั้งปีขยายตัวได้ 12-13%

หลังจากที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.)ทั่วประเทศ อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ก.ค. 2554 นี้ ทำให้คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจน่าจะได้รับอานิสงส์จากค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง รวมถึงงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และยังอาจมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในด้านความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างเร่งเพิ่มงบโฆษณา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะคึกคักมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อในช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 อาจเติบโตได้ถึงร้อยละ 18 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่ขยายตัวเกือบร้อยละ 11 จากอานิสงส์ค่าใช้จ่ายกิจกรรมต่างๆในช่วงการเลือกตั้ง และคาดว่าทั้งปี 2554 จะมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.13 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12-13 จากปีที่แล้ว (เทียบจากกรณี  หากไม่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ ก็คาดว่าค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อทั้งปี 2554 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.11 แสนล้านบาท ขยายตัวได้เกือบร้อยละ 11 จากปีที่ผ่านมา)

อานิสงส์เลือกตั้งช่วยหนุนธุรกิจโฆษณาไตรมาส 2...แต่ต้องจับตาเสถียรภาพรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
จากรายงานของบริษัท นีลสัน มีเดีย รีเสิร์ซ(ประเทศไทย) พบว่า เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทุกช่องทาง ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 34,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 11.2 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องมาจากปี 2553 ที่ทั้งปีมีเม็ดเงินใช้จ่ายในธุรกิจโฆษณาประมาณ 1.01 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.8 จากปี 2552 (นับเป็นปีแรกที่ค่าใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อของไทยมีมูลค่าเกินหนึ่งแสนล้านบาท)  

ทั้งนี้ เพราะได้รับแรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2554 ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้ง ช่วงไตรมาสแรกของทุกปียังถือเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจจะเร่งเพิ่มยอดขายรับเทศกาลและวันหยุดสำคัญต่างๆ ขณะที่สัดส่วนงบโฆษณาส่วนใหญ่  ร้อยละ 60 อยู่ในส่วนของโฆษณาทางทีวี ตามมาด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 15 ที่เหลือจะเป็นสื่อวิทยุ สื่อในโรงภาพยนตร์ สื่อแมกกาซีน ป้ายโฆษณา/บิลบอร์ด สื่อรถเคลื่อนที่ สื่อในร้านค้า และสื่อทางอินเทอร์เน็ต ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่กำหนดทิศทางการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนด้วยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ในช่วงปี 2554 มีทิศทางกระเตื้องขึ้นกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของยอดค่าใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อของไทยเช่นกัน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในเดือน เม.ย.2554 ดัชนีดังกล่าวได้ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดือนก่อนหน้า (อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอัตราที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.5)  ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่ชัดเจนในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภาของรัฐบาลฯ แต่ภายหลังจากที่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว ก็คาดว่าทิศทางการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และเป็นปัจจัยบวกต่อเนื่องถึงการใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อของภาคธุรกิจในระยะต่อไป  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจากปัจจัยบวกในด้านต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะช่วยหนุนให้ค่าใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 1.13 แสนล้านบาท หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 12-13 จากปีที่แล้ว (ภายใต้เงื่อนไขว่าหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในครั้งนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ยังคงมีเสถียรภาพต่อเนื่อง)
โดยมองว่าเม็ดเงินใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านสื่อน่าจะขยายตัวสูงในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยบวกด้านการใช้จ่ายในกิจกรรมการเลือกตั้ง  นอกจากนี้ ยังมีส่วนของงบโฆษณาสินค้าและบริการที่ต่างเร่งโหมโฆษณา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเวลานี้ เนื่องจากคาดว่าศึกการเลือกตั้งจะส่งผลให้ประชาชน โดยเฉพาะระดับกลางถึงล่างจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ภายหลังผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้ง เนื่องจากจะมีผลถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายที่สำคัญของภาครัฐในระยะต่อไป ซึ่งกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของประชาชน


กิจกรรมเลือกตั้งปี ’54…สร้างแรงหนุนให้ธุรกิจสื่อโฆษณา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้พิจารณาแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อในช่องทางต่างๆที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 ไว้ ดังนี้

การติดตามสถานการณ์เลือกตั้งของประชาชน...เอื้อประโยชน์แก่สื่อวิทยุ และโทรทัศน์
โฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์จัดว่าเป็นช่องทางสื่อที่มีประสิทธิภาพสูง และสร้างการรับรู้ได้ในวงกว้าง โดยช่วงที่ผ่านมาความต้องการเวลาโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ มีทิศทางที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเติบโตเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณาของหลายสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แนวโน้มอัตราค่าโฆษณาทางโทรทัศน์อยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับสื่อช่องทางอื่นๆ ประกอบกับช่วงเวลาโฆษณาที่มีข้อจำกัดด้วยกฎหมาย  จึงส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งจำเป็นต้องเข้ามาจัดสรรการออกอากาศการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม

ซึ่งครั้งนี้ได้กำหนดให้ กกต.เป็นผู้จัดสรร และวางหลักเกณฑ์การโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยเป็นการขอความร่วมมือสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐและสถานีท้องถิ่น เพื่อนำเสนอสปอร์ตโฆษณาแบบสั้นของพรรคการเมือง(ความยาวไม่เกิน 30 วินาที) และนโยบายของพรรคการเมือง(ความยาวไม่เกิน 10 นาที) ซึ่งมีลำดับการออกอากาศตามที่ กกต.กำหนด ขณะที่เวลาในการนำออกอากาศนั้นได้ขอความร่วมมือให้แต่ละสถานีวิทยุโทรทัศน์จัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน  เพื่อประโยชน์แก่ทุกพรรค โดยที่พรรคการเมืองไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถานีวิทยุและโทรทัศน์จะไม่ได้รับรายได้จากการหาเสียงของพรรคการเมือง แต่คาดว่าจะมีรายได้จากงบการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของ กกต. บางส่วน และรายได้จากค่าโฆษณาของผู้ประกอบการสินค้าและบริการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันที่ 3 ก.ค. 2554 ทุกช่องสถานีโทรทัศน์ต่างต้องเร่งแข่งขันกันรายงานสถานการณ์เกาะติดการเลือกตั้งแบบนาทีต่อนาทีตลอดทั้งวัน ต่อเนื่องถึงเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงปิดหีบเลือกตั้ง ก็ยิ่งคาดว่าประชาชนทั่วประเทศจะให้ความสนใจเฝ้าดูผลการนับคะแนน และการรายงานความเคลื่อนไหวตลอดคืน นอกจากนี้ ภายหลังผ่านพ้นการนับผลคะแนนจนถึงช่วงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง รวมทั้งความเคลื่อนไหวในการจับขั่วทางการเมืองก็ยิ่งน่าจะมีความเข้มข้นขึ้นไม่แพ้กัน ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ต่างเร่งปรับผังรายการเพื่อช่วงชิงเรตติ้งจากผู้ชม เพราะจะส่งผลต่อรายได้โฆษณาของทางสถานีที่จะได้รับจากผู้ประกอบการสินค้าและบริการต่างๆ ที่ต้องการกระตุ้นตลาดในช่วงที่ประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้ง ยังเป็นการเน้นย้ำความเป็นผู้นำด้านการนำเสนอข่าวสารแบบเกาะติดสถานการณ์ ซึ่งช่วยผลักดันให้ความนิยมของสถานีเพิ่มสูงขึ้น และมีผลต่อการดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาในระยะต่อไป

ส่วนการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1-2 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 จากที่ทั้งปี 2553 มีการใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อหดตัวเกือบร้อยละ 1 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในช่วงเลือกตั้งเพียงเล็กน้อยเช่นกัน

สื่อนอกบ้าน...รับอานิสงส์จากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะแผ่นป้ายหาเสียง
โฆษณาผ่านสื่อนอกบ้าน(ประกอบด้วยป้ายโฆษณาและบิลบอร์ด, สื่อรถเคลื่อนที่ และสื่อในร้านค้า) ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 7-8 ของค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อรวม ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554  โฆษณาผ่านสื่อนอกบ้านมีอัตราขยายตัวร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงการเลือกตั้งประมาณ 1,000 ล้านบาท จากการใช้จ่ายเพื่อจัดทำป้ายโฆษณา แผ่นโปสเตอร์ แผ่นพับ และใบปลิว เพื่อใช้หาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง และเพื่อการประชาสัมพันธ์ของ กกต. รวมถึง จากการเร่งทำโฆษณาของผู้ประกอบสินค้าและบริการต่างๆ ตามแนวโน้มการจับจ่ายของผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินที่หมุนเวียนจากค่าใช้จ่ายด้านการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังจะส่งผลต่อธุรกิจสื่อในร้านค้าให้ขยายตัวตามไปด้วย ทั้งสื่อในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และดิสเคาน์สโตร์  ซึ่งเป็นสื่อที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจในตัวสินค้าและผลิตภัณฑ์ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ณ จุดขาย

หาเสียงผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ ยังคงบางตา...คาดเข้มข้นขึ้นช่วงใกล้วันเลือกตั้ง
การโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์เป็นอีกช่องทางสื่อที่มีประสิทธิภาพ โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายมากเป็นอันดับสองรองจากสื่อโทรทัศน์ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 14-15 ของค่าใช้จ่ายผ่านสื่อโดยรวม เนื่องด้วยสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้ครอบคลุมทั่วประเทศ(สำหรับหนังสือพิมพ์ที่จัดจำหน่ายทั่วประเทศ) ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะมีฐานผู้อ่านในพื้นที่ที่จำกัดกว่า ขณะที่อัตราค่าโฆษณาผ่านสื่อทั้งสองชนิดนี้จะมีราคาที่แตกต่างกันมาก โดยหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายทั่วประเทศและมีความนิยมสูง จะมีอัตราค่าโฆษณา 4 สี 1 หน้า อยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ถึงมากกว่า 700,000 บาท ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนั้นมีอัตราค่าโฆษณา 4 สี 1 หน้า ต่ำกว่า 10,000 บาท

ดังนั้น การหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์ จึงมีให้เห็นบางตา เนื่องจากหากต้องการหาเสียงโดยเจาะกลุ่มผู้อ่านจำนวนมาก จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้ง หนังสือพิมพ์ยังมีอายุการใช้งานสั้นเพียง 1-3 วัน หรือเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น พรรคการเมืองจึงอาจหันไปให้ความสำคัญกับสื่ออื่นที่ทรงประสิทธิภาพในการหาเสียงมากกว่า อาทิ ป้ายหาเสียง โปสเตอร์ แผ่นพับ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และมีอายุใช้งานนานตลอดระยะเวลาของช่วงการหาเสียง นอกจากนี้ ความนิยมใช้สื่อออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ทุกที่ทุกเวลาและมีต้นทุนต่ำ ก็เป็นอีกช่องทางที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองให้ความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 มีอัตราการขยายตัวเกือบร้อยละ 3 จากที่ทั้งปี 2553 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 6 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงก่อนวันเลือกตั้งประมาณ 2-3 สัปดาห์ ที่เป็นช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียง พรรคการเมืองจะเร่งลงโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์คึกคักมากขึ้น และคาดว่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาหาเสียงผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ประมาณ 70 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น และช่วยหนุนให้ความต้องการใช้สื่อโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ตลอดทั้งปี 2554 เติบโตในระดับทรงตัวได้อย่างต่อเนื่อง

โซเซียลมีเดีย : ช่องทางยอดนิยม...รุกฐานเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่ออินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน ด้วยความก้าวหน้าของเครื่องมือสื่อสาร การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้งานด้านต่างๆ และการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมของไทย ที่เอื้อให้การรับ-ส่งข้อมูลมีความสะดวกรวดเร็ว และกระจายทั่วถึงมากขึ้น ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเซียลมีเดีย(เฟซบุ๊ค และทวิสเตอร์) รวมถึงบล๊อค หรือเว็บบอร์ดต่างๆ กลายเป็นอีกช่องทางที่ใช้แสดงความคิดเห็นตามแนวทางประชาธิปไตยยุคใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์พรรค แนะนำตัวผู้สมัคร แสดงแนวคิด นโยบาย วิสัยทัศน์ และมุมมองต่างๆของผู้สมัครและพรรค ทั้งที่เป็นข้อความตัวอักษร และเป็นคลิปวีดีโอ อีกทั้ง ยังเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ซักถาม และติดตามความเคลื่อนไหวของผู้สมัครและพรรคที่ชื่นชอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันการตอบกลับหรือความเคลื่อนไหวในหน้าเพจเป็นประจำ ยังช่วยเน้นย้ำให้ประชาชนรู้สึกได้ว่าผู้สมัคร/พรรคการเมือง/ทีมงานของพรรคนั้น มีความเอาใจใส่ประชาชน และสะท้อนได้ถึงความกระตือรือร้น  ดังนั้น ช่องทางโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตจึงเริ่มมีบทบาทในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้น


นอกจากนี้ ด้วยค่าใช่จ่ายที่ต่ำกว่าสื่อช่องทางอื่นๆ จึงเป็นที่นิยมจากหลายพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดที่ผู้รับรู้ยังคงอยู่ในวงแคบ เฉพาะกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น  ช่องทางนี้จึงเป็นเพียงสื่อทางเลือกใหม่ที่จะใช้เพิ่มโอกาสในการสร้างฐานเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเป็นช่องทางเสริมที่ใช้ควบคู่กับสื่อดั่งเดิม  

โดยสรุป การเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีกำหนดในวันที่ 3 ก.ค. 2554 นี้ น่าจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อ ทั้งจากกิจกรรมการหาเสียงของผู้สมัคร พรรคการเมือง และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของ กกต. และจากการเร่งกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการสินค้าและบริการผ่านสื่อต่างๆ ท่ามกลางความสนใจติดตามข่าวสารของประชาชนในการเกาะติดความเคลื่อนไหวช่วงก่อนการเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นในการจับจ่ายซื้อสินค้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายกิจกรรมในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง น่าจะส่งผลให้ธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อในช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 เติบโตได้ถึงร้อยละ 18 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวเกือบร้อยละ 11 ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2554 จะมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.13 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12-13 จากปีที่แล้ว (เทียบจากกรณี หากไม่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ ก็คาดว่าค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 11-12 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ทั้งปี 2554 น่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่ออยู่ที่ประมาณ 1.11 แสนล้านบาท ขยายตัวได้เกือบร้อยละ 11 จากปีที่ผ่านมา)

อย่างไรก็ตาม นอกจากช่องทางโฆษณาหาเสียงผ่านสื่อต่างๆดังกล่าวมาแล้วนั้น ยังคงมีช่องทางอื่นที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์พรรคและแนะนำตัวผู้สมัคร ทั้งการเดินสายหาเสียงลงพื้นที่  การจัดเวทีแถลงนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ตามสถานที่ต่างๆ โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น เป็นจำนวนไม่น้อย และเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้นำมานับรวมไว้ในค่าใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อ

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้