สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 23 กรกฎาคม 2568)--------ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ ในการประชุม FOMC วันที่ 29-30 ก.ค. 2568 ซึ่งเป็นรอบที่ 5 จากทั้งหมด 8 รอบในปีนี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 4.25-4.50% เนื่องจาก
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนภาพแข็งแกร่ง เป็นปัจจัยหนุนเฟดให้ยังคงท่าทีรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยในเดือนมิ.ย. 68 อัตราว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 4.1% จาก 4.2% ในเดือนก่อนหน้า อีกทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payrolls) เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดที่ 147,000 ตำแหน่ง ขณะที่ยอดค้าปลีกในเดือนมิ.ย.68 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.-ก.ค. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขยับขึ้น สะท้อนผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งเริ่มส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภคในหมวดต่างๆ เช่น เสื้อผ้าและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ทั้งนี้ หลังวันที่ 1 ส.ค. 68 ที่มีการบังคับใช้ภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) รวมถึงหากมีการใช้ภาษีนำเข้ารายอุตสาหกรรมเพิ่มเติม (มาตรา 232) เงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจเร่งตัวขึ้นในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี คาดว่ามติคงดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อาจออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากสมาชิกเฟดบางราย อาทิ Christopher Waller และ Michelle Bowman ได้แสดงความเห็นสนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ค. เนื่องจากมองว่าความเสี่ยงด้านลบต่อตลาดแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงด้านบวกต่อเงินเฟ้อมีจำกัด ซึ่งเฟดควรดำเนินนโยบายเชิงรุกล่วงหน้า (ahead of the curve) เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกเร็วสุดในเดือนกันยายน 2568 และอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังการบังคับใช้ภาษีฯ 1 ส.ค. 68 โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าชัดเจนขึ้น ท่ามกลางการลดลงของการสะสมสินค้าคงคลัง ซึ่งจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนภาษีฯ มายังราคาสินค้าผู้บริโภคมากขึ้น และเป็นตัวกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทั้งนี้ ทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดจะยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสำคัญ แม้เฟดจะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งมีท่าทีวิจารณ์เฟดมาอย่างต่อเนื่อง