Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

SCB EIC แนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาล

99

 สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(15 กรกฎาคม 2568)---------KEY SUMMARY

SCB EIC คาดว่า รายได้อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากราคาส่งออกที่ลดลง แต่ปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากกลายเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยพยุงรายได้ของอุตสาหกรรมโดยรวม ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2024/2025 แล้ว โดยผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีการผลิต 2023/2024 มาอยู่ที่ 10.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.0 ล้านตัน จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025 กลับมีแนวโน้มปรับตัวลดลงราว -11.2%YOY สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมา ตามราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ทั้งนี้แม้ว่าราคาจะปรับตัวลดลง แต่มูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 34.3%YOY สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.5%YOY แม้ว่าราคาส่งออกปรับตัวลดลง -16.7%YOY แต่ยังส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำตาลโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY และคาดว่าในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกจะเติบโตเร่งขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในประเทศเป็นจำนวนมากที่ยังรอการส่งออก ประกอบกับสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงน้อยกว่าช่วง 5 เดือนแรก อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลโลก ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่จะกระทบต่อผลผลิตน้ำตาล และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำตาลโลก

อนึ่ง กำไรของธุรกิจโรงงานน้ำตาลโดยรวมในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง ซึ่งปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2024/2025 จะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 2025 ทั้งนี้นอกจากการจัดหาวัตถุดิบแล้ว โรงงานน้ำตาลยังมีการแข่งขันกัน ด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้า และการมุ่งสู่ความยั่งยืน ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีสินค้าที่ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้
---------------
Industry overview
-----------------------

อุตสาหกรรมน้ำตาลมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายและอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดโดยภาครัฐ ทั้งนี้ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายหลักที่อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องเผชิญในช่วงที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยอุตสาหกรรมนี้มีความเชื่อมโยงกับเกษตรกรต้นน้ำในระดับสูง เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เกษตรกรปลูกได้ จะกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่โรงงานผลิตได้ โดยผลผลิตน้ำตาลที่ได้ส่วนใหญ่ราว 68.1% จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งในปี 2024 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 2,382 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 0.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย, กัมพูชา และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ในปี 2024 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากบราซิล) โดยมีส่วนแบ่งตลาดน้ำตาลโลกอยู่ที่ 6.2% ซึ่งอินโดนีเซีย, สหรัฐฯ และจีน เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก (ดูภาคผนวก) สำหรับน้ำตาลที่ไม่ได้ส่งออกจะถูกจำหน่ายในประเทศให้ผู้บริโภคภาคครัวเรือนและผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2024 มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศอยู่ที่ 55,229 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้ยังไม่รวมมูลค่าตลาดจากการที่โรงงานน้ำตาลนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ

อุตสาหกรรมน้ำตาลแตกต่างจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ ในไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการกำหนดกรอบกติกาการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนที่ผู้เล่นต้องปฏิบัติตาม ผ่าน พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) ปี 2022 ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐมีอำนาจควบคุมจำนวนโรงงานน้ำตาลในประเทศให้เหมาะสมต่อปริมาณการปลูกอ้อย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อย (70%) และโรงงาน (30%) เพื่อใช้เป็นกลไกอ้างอิงในการคำนวณและกำหนดราคาอ้อยที่โรงงานรับซื้อจากชาวไร่อ้อยในแต่ละปี ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานน้ำตาลไม่สามารถตั้งราคาน้ำตาลหน้าโรงงานได้อย่างเสรี แต่ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาโดยภาครัฐ

ในระยะ 1-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องเผชิญกับความท้าทายหลักจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน โดยในปีการผลิต 2023/2024 ปริมาณผลผลิตน้ำตาลปรับตัวลดลง 20.1% จากฤดูกาลก่อนหน้า เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยในไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง ประกอบกับชาวไร่อ้อยบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลัง จากราคามันสำปะหลังที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงปี 2022 - 2023 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจน้ำตาลโดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ในปี 2023/2024 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9% จากฤดูกาลก่อนหน้า นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2023 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้ปรับราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานในประเทศขึ้น 10.5% และ 10.0% ตามลำดับ
----------------------
Industry outlook and trend
---------------------
SCB EIC คาดว่ารายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยหักล้างผลของราคาที่มีแนวโน้มลดลง โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2024/2025 แล้ว เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีการผลิต 2023/2024 มาอยู่ที่ 10.1 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.0 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่และพื้นที่เพาะปลูกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย (รูปที่ 2) ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 11.2%YOY มาอยู่ที่ 513.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาส่งออกของโรงงานน้ำตาลอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 15.9% จากฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 19.9 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากแม้องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศจะคาดว่า ตลาดน้ำตาลโลกจะเผชิญภาวะขาดดุลในปีการผลิต 2024/2025 แต่ราคาน้ำตาลโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ จากการที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลก (รูปที่ 3) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปี 2025 ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกดดันให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลง

สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.3%YOY มาอยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 51.2%YOY มาอยู่ที่ 6.2 ล้านตัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าราคาส่งออกจะปรับตัวลดลง -16.7%YOY แต่ปริมาณการส่งออกน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.5%YOY ส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำตาลโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY และคาดว่าในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกจะเติบโตเร่งขึ้น เนื่องจาก 1) ปริมาณน้ำตาลที่รอการส่งออก (ปริมาณผลผลิตลบปริมาณการบริโภคในประเทศและปริมาณการส่งออกใน 5 เดือนแรก) ยังเหลืออยู่ในประเทศราว 4.6 ล้านตัน โดยปริมาณน้ำตาลเหล่านี้จะสามารถส่งออกได้ทั้งหมด เนื่องจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ คาดว่า ในปีการผลิต 2024/2025 ภูมิภาคเอเชียจะมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลทั้งหมด 26.4 ล้านตัน และ 2) สัดส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะช่วยให้ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนที่เหลือ ปรับตัวลดลงน้อยกว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี สำหรับมูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 1.3%YOY จากปริมาณการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

อนึ่ง การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากผลกระทบของนโยบายภาษีทรัมป์ที่รุนแรงกว่าคาด ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกเติบโตต่ำกว่าที่ประเมิน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกน้ำตาลลดลงมากกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยในต่างประเทศ โดยหากบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงน้อยกว่าที่คาด ก็จะทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่อาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลก และทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาด

ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กระแสความยั่งยืนและเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค โดยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต ส่วนกระแสรักสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพ หันมาบริโภคสินค้าที่ปราศจากน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลปรับตัวลดลง
----------------------
Competitive landscape
-------------------------
โรงงานน้ำตาลจะเน้นการแข่งขันในด้านการจัดหาอ้อยเป็นหลัก โดยปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การแข่งขันระหว่างโรงงานต่าง ๆ ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการ
อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในระดับสูง ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ทั้งนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ โดยผู้ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายได้ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยภาครัฐ เช่น จุดที่ตั้งโรงงานต้องห่างจากโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร หรือต้องมีการเตรียมปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิต ส่งผลให้การเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจน้ำตาลในไทยของบุคคลต่างด้าวก็จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและการนำเข้าน้ำตาลจะต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเผชิญการแข่งขันทั้งจากผู้เล่นต่างชาติและผู้เล่นรายใหม่ โดยในปีการผลิต 2023/2024 มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบผลิตน้ำตาลจำนวน 57 โรงงาน (ปีการผลิต 2024/2025 จะมีโรงงานเปิดเพิ่มอีก 1 โรงงาน) โดยกว่า 75% ของโรงงานทั้งหมดหรือ 43 โรงงานอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 13 กลุ่มบริษัท ในขณะที่อีก 14 โรงงานเป็นโรงงานอิสระ ซึ่งในปีการผลิต 2023/2024 กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ 5 อันดับแรกครองส่วนแบ่งตลาดปริมาณการผลิตน้ำตาลรวมกันสูงถึงราว 54% โดยกลุ่มมิตรผลมีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 (23.9%), ตามมาด้วยกลุ่มไทยรุ่งเรือง (9.1%), โคราช (8.9%), ท่ามะกาหรือ KSL (6.4%) และไทยเอกลักษณ์หรือ KTIS (5.8%) ในขณะที่น้ำตาลครบุรี (KBS) และน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) มีส่วนแบ่งตลาด 4.6% และ 3.1% ตามลำดับ


โรงงานน้ำตาลจะเน้นการแข่งขันในด้านการจัดหาวัตถุดิบอ้อยเป็นหลัก โดยปริมาณอ้อยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 2025 ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยลง โดยความรุนแรงในการจัดหาอ้อยจะขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละปี ซึ่งในปีการผลิตที่ผ่านมาปริมาณอ้อยปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ผู้ประกอบการใช้ในการจัดหาอ้อย (นอกจากการทำสัญญาซื้อขายอ้อยล่วงหน้ากับชาวไร่อ้อย) คือ การให้ราคารับซื้ออ้อยที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ถูกกำหนด โดยแนวทางดังกล่าวประกอบกับผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้ที่ลดลง จะมีส่วนทำให้กำไรของโรงงานน้ำตาลปรับตัวลดลง ซึ่งจากข้อมูลของผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลในตลาดหลักทรัพย์ (ตารางที่ 1) พบว่า ในปี 2024 กำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิของผู้ประกอบการลดลง 40.6%YOY และ 2.4 percentage points ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2024/2025 จะทำให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้กำไรโดยรวมของผู้ประกอบการน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดยังมีการแข่งขันในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับคุณภาพสินค้า การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพ เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ และการมุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและงดรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีคุณภาพสินค้าที่ดีและตอบโจทย์ผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

สัมผัสต้าน By : แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เช้าวันนี้ พบหุ้นแบงก์ ถูกแรงขาย หลัง ครม.ไม่มี วาระพิจารณาแต่งตั้ง ผู้ว่าแบงก์ชาต ฝั่งตลาด...

มัลติมีเดีย

CRD ครึ่งปีหลัง68 เร่งเครื่องสร้างผลงาน ชูBacklog กว่า700 ลบ. #งานmaiforum2025

CRD ครึ่งปีหลัง68 เร่งเครื่องสร้างผลงาน ชูBacklog กว่า700 ลบ. #งานmaiforum2025

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้