ภาพตลาดและแนวโน้ม
จากการที่สหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในระดับสูงที่ 36% เช่นเดิม เราจึงมองว่ารัฐบาลไทยอาจจำเป็นต้องยื่นข้อเสนอใหม่อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผลประโยชน์แก่สหรัฐฯ มากขึ้น อาทิ ลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้เหลือในกรอบ 7%-9% โดยอัตราภาษีที่ 7% อ้างอิงจากส่วนต่างของอัตราภาษีนำเข้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ (Bilateral tariff differentials) โดยคำนวณด้วยวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากมูลค่าทางการค้า (Trade weighted average) ขณะที่อัตราภาษีที่ 9% อ้างอิงจากค่าเฉลี่ย (Simple average) ของอัตราภาษีนำเข้าที่ไทยเรียกเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ ในปัจจุบัน และเพิ่มการลงทุนโดยตรงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
ในระยะสั้น เราคาดว่ามีแนวโน้มสูงที่ไทยจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ทันก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2025 เนื่องจากยังมีหลายเงื่อนไขที่ไทยไม่สามารถตอบรับได้โดยไม่กระทบผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกร ดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องเตรียมมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการไทยในกรณีที่การเจรจาล่าช้า ไม่สามารถปิดดีลได้ทันเวลา
เรายังคาดว่าในกรณีที่บรรลุข้อตกลงทางการค้าแล้ว สหรัฐฯ อาจจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราไม่ต่ำกว่า 20% (คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 20%-30%) เพราะไทยอาจไม่สามารถเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้เท่ากับเวียดนามที่คิดในอัตรา 0%
ในระยะกลาง ไทยอาจต้องเร่งกระจายตลาดส่งออก ไปยังคู่ค้าอื่นๆ เพิ่มเติม และนักลงทุนควรต้องจับตาการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อ (Export order recovery) ในตลาดอื่นในปี 2026 ซึ่งอาจมีบทบาทสำคัญในการชดเชยผลกระทบ หากอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่อสินค้าจากไทยสูงเกิน 20%
Implications:
ไทยอาจต้องยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น การลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในทุกรายการลงเหลือ 7%–9% และเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะในกรณีที่ไทยไม่สามารถปิดจบดีลได้ทันเวลา
เราคาดว่าสหรัฐฯ น่าจะเรียกเก็บภาษีจากสินค้าไทยในกรอบอัตรา 20%–30% ในระยะข้างหน้า ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจต้องเร่งกระจายตลาดไปยังประเทศอื่นเพื่อลดความเสี่ยง
สรุปภาพตลาดวานนี้
SET ไม่ได้ลงแรงอย่างที่กลัว โดยหุ้นชิ้นส่วนฯ ยังไม่ลงแรง และมีแรงซื้อกลับมา ขณะที่กลุ่มถูกขายกลายเป็นกลุ่ม Domestic อย่าง GULF AOT TRUE ADVANC CPAXT CPALL KTB SCB ในอีกด้านหุ้นรีบาวน์ เช่น TLI BEM BTS GPSC TLI BLA KTC ส่วนหุ้นบวกแรงพร้อม Vol เช่น NEX THCOM
แนวโน้มตลาดวันนี้
หุ้นไทยระยะสั้นเป็นตามคาด
ระยะสั้นกรอบสัปดาห์นี้เรายังคงมองเหมือนเดิมคาดแนวโน้มแกว่งในกรอบ 1,110-1,150 จุด แม้ระหว่างทางจะมีแรงขายสลับเข้ามาบ้าง จากความเสี่ยงไทยยังไม่บรรลุข้อตกลงเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
แต่เราเชื่อว่าหุ้นไทย “รายตัว” จะไม่ลงลึกไปกว่าช่วงปลายเดือนที่แล้ว เพียงเพราะ ปัจจัยลบมหภาค แต่ให้น้ำหนักกับ “Earnings (Upward) revision” หรือแนวโน้มของการปรับประมาณการณ์กำไร(ขึ้น/ลง) และ การปรับ(เพิ่ม/ลด) คำแนะนำหุ้นรายตัวจากนี้ไป...
เป็นปัจจัยหลักที่จะมีอิทธิพลต่อราคาหุ้น มากกว่าปัจจัยมหภาค ที่เป็นภาพ Top down ลงมา โดยหุ้นเด่นที่เราเริ่มเห็น แววงบดีขึ้น ได้แก่ ส่งออกอาหาร, พื้นที่เช่าในห้าง, เครื่องดื่ม, รพ. และ หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ / ตรงข้ามกลุ่มที่เราอัพเดทตัวแปรแล้ว ยังไม่เห็นแนวโน้มทีดี ได้แก่ ค้าปลีก ค้าวัสดุ (SSSG ยังแย่สะท้อนการบริโภคในประเทศหดตัว), ธนาคาร, สินเชื่อ, อสังหาฯ
กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ ถือหุ้นปันผล เริ่มสะสมหุ้นต้นรอบ ดักงบการเงินไตรมาส 2 และปันผลระหว่างกาล
วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET สู้สุดฤทธิ์ ยืนอยู่บนเทรนด์ขาขึ้นย่อยผ่านการพักตัวมาแล้ว 2 วัน ปัจจุบันอยู่ในคลี่น 4 ภายหลังจบคลื่น 3 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ลุ้นต่อโดยมีเงื่อนไขห้ามหลุดโซนรับที่ 1,110 จุด มีโอกาสยืดขึ้นต่อเป็นคลื่น 5 ซึ่งจะมีแนวต้านที่ 1,155
สรุป: ตลาดลง แต่ไม่หลุดเทรนด์ เรามาลุ้นกันจนถึงปลายสัปดาห์ให้ทะลุ 1,128 จุด เพื่อขึ้นสู่เป้าหมายที่วางไว้ “impulse wave 5”
ไฮไลท์วันนี้: Why “WHA & AMATA” ลงลึก เด้งแรง / BTS เชียร์จนเหนื่อย แต่เริ่มขึ้นแล้ว....ไปติดตามรายละเอียดกันครับ
What to watch
ครม.เห็นชอบ ถอนร่างพ.ร.บ. เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ หลังมีการปรับ ครม.ใหม่ รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคสังคมที่ต้องให้เวลาในการทำความเข้าใจ
ปลัดคลัง ให้สัมภาษณ์ กรณีที่สหรัฐฯ จะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 10% กับประเทศที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS นั้น เบื้องต้นมองว่าอาจจะไม่กระทบกับไทย เพราะไทยไม่ได้เป็นสมาชิก แต่เป็นพาร์ทเนอร์
ช่วงเดือน สิงหาคม 2568 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน ทางรัฐ และภายใน 1 ตุลาคม 2568 จะเริ่มดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุด 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล
Goldman Sachs คาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีแนวโน้มที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 550,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นการยุติมาตรการลดการผลิตแบบสมัครใจ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
หุ้นแนะนำวันนี้
CBG อิงตามรายงานพื้นฐาน BLS Research ที่ปรับคำแนะนำขึ้น ก่อนหน้านี้ ขณะที่ประเด็นการค้าชายแดน มีแต่จะบวกมากหรือบวกน้อย (Low Downside risk)
แนวรับ 50 ต้าน 54 Stop loss 49
รายงานพื้นฐานวันนี้
Wealth Special
ประเมินแนวโน้มการเจรจาภาษีไทย-สหรัฐฯ
การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่กำลังดำเนินอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ที่สหรัฐฯ ใช้นโยบาย Strategic Tariff Realignment เพื่อกดดันห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของประเทศคู่ค้าและเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศ ภายใต้บริบทการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลง (geopolitical fragmentation) ข้อตกลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมักเอนเอียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ฝั่งสหรัฐฯ เป็นหลัก
ข้อเสนอใหม่ของไทย: จากการสหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในระดับสูงที่ 36% เช่นเดิม เราจึงมองว่ารัฐบาลไทยอาจจำเป็นต้องยื่นข้อเสนอใหม่อื่นๆ เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ (คาดเฉลี่ยอยู่ราว 7-9% ไม่เป็น 0% เท่าเวียดนาม), 2) เพิ่มการลงทุนโดยตรงในสหรัฐฯ มากขึ้น
จุดยืนสหรัฐฯ: เน้นข้อเสนอที่รักษาผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก และกดดันให้ไทยเปิดเสรีทางการค้าเพิ่ม ผ่านการลดหรือยกเลิกมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เช่น เงื่อนไขการนำเข้าเนื้อสัตว์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง และการให้สิทธิ์บริษัทสหรัฐฯ เข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งหากไทยยอมเปิด อาจจะกระทบกับกฎ WTO GPA ที่จะต้องเปิดให้คู่ค้าทุกประเทศด้วย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคงเน้นให้ไทยเข้มงวดกระบวนการตรวจสอบ Transshipment
ประเมินผลกระทบระยะสั้น: มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถปิดดีลกับสหรัฐฯ ได้ทันก่อน 1 สิงหาคม 2025 เนื่องจากยังมีหลายเงื่อนไขที่ไทยไม่สามารถตอบรับได้ โดยไม่กระทบผู้ประกอบการและเกษตรกรในประเทศดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องเตรียมมาตรการเยียวยาในกรณีที่การเจรจาล่าช้า ไม่ทัน deadline หรือแม้แต่กรณีที่ปิดดีลได้ เราอาจได้ระดับภาษีไม่น้อยกว่า 20% เพราะไม่ได้เปิดเสรีให้เท่าเวียดนาม
ประเมินผลกระทบระยะกลาง: ไทยอาจต้องเร่งกระจายตลาดส่งออก (market diversification) ไปยัง ASEAN, จีน, อินเดีย เพื่อบรรเทาความเสี่ยงพึ่งพาสหรัฐฯ นักลงทุนควรจับตาการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อ (export order recovery) ในตลาดอื่นในปี 2026 ซึ่งอาจมีบทบาทสำคัญในการชดเชยผลกระทบ หากอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่อสินค้าจากไทยสูงเกิน 20%
ADVANC
แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
ยังมีสัญญาณกำไรที่ดี YoY
คาดการณ์กำไรหลัก 2Q25 อยู่ที่ 10.8 พันล้านบาท (+27% YoY, +2% QoQ) หนุนโดย ARPU และจำนวนผู้ใช้ที่เติบโตทั้งในมือถือและ FBB พร้อมต้นทุนค่าไฟที่ลดลงช่วยกด OPEX และยอดขายอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นจากความกังวลภาษีนำเข้าสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้ม 3Q25 คาดกำไรลด 7% QoQ (แต่ยังโต 18% YoY) จากค่าใช้จ่ายแคมเปญ EPL ที่เพิ่มขึ้นมา ขณะที่ 3Q25 คาดกำไรลด QoQ จากค่าใช้จ่ายแคมเปญ EPL
โดย ADVANC ชนะการประมูลคลื่น 2100MHz ทำให้สามารถยุติการเช่าคลื่นจาก NT ได้ใน ส.ค. 2025 ซึ่งจะช่วยลดค่าเสื่อมราคาในระยะถัดไป ขณะเดียวกัน TRUE ที่ชนะคลื่น 1500MHz น่าจะลดแรงกดดันการประมูลคลื่น 3500MHz ในอนาคตอีกด้วย
เราคาดกำไรทั้งปี 2025 ที่ 4.05 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% และเติบโตต่อ 3% ในปี 2026
Fundamental view: เราแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 322 บาท มองADVANC มีฐานกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อัตราเงินปันผลปี 2025 ที่คาดไว้ที่ 4.2% ขณะที่การประมูลคลื่น 3500MHz ที่อาจเกิดขึ้นยังเป็น Upside เพิ่มเติมในระยะถัดไป
CPALL
ซีพี ออลล์
แม้สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ แต่กำไรก็ยังโตเด่นสุด
เราคาดกำไรหลัก 2Q25 ที่ 6.94 พันล้านบาท (+13% YoY, -9% QoQ ตามฤดูกาล) โดยเติบจากการเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง และ GM ของ 7-Eleven ที่เพิ่มขึ้นราว 30bps จากสินค้าพร้อมทาน-ดื่ม (RTE, RTD) แนวโน้ม 3Q25 ยังสดใสจากแรงเสริม Synergy การค้าของ CPAXT เริ่มออกผลจริง
เราปรับกำไรหลักปี 2025 ลง 1% จากการแข่งขันด้านราคาของ CPAXT แต่ภาพรวมยังสดใส คาดกำไรโต 8% YoY เด่นกว่ากลุ่มค้าปลีกอื่น ๆ อาจหดตัวถึง -4%
ท่ามกลางแรงกดดันปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีต่อกำไรในกลุ่มค้าปลีก แต่เราคาด CPALL จะยังคงสร้างความแตกต่าง มีกำไรโตเด่น หนุนโดยสัดส่วนสินค้ากำไรสูงที่มากขึ้น การยกระดับร้านสู่รูปแบบใหม่ และ Synergy ที่เริ่มออกดอกผลภายในกลุ่ม CPAXT
Fundamental view: เราคงคำแนะนำ “ซื้อ” และเลือกเป็นหุ้นเด่นกลุ่ม ทั้งนี้ ปรับลดราคาเป้าหมายลงเป็น 62 บาท (จาก 70 บาท) โดย Fine-tune สมมติฐาน Terminal growth ลงเหลือ 1% ตามศักยภาพการเติบโตที่ช้าลงของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
HMPRO
โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์
หมายเตือน กำไรไม่ดี
เราคาดกำไรหลัก 2Q25 จะอยู่ที่ 1.35 พันล้านบาท (-17% YoY, -21% QoQ) ผลจากยอดขายสาขาเดิม (SSS) ที่อ่อนตัวลงราว 9% YoY กดดันยอดขายลดลง 9% YoY และ 10% QoQ ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 27.9%
HMPRO เลื่อนการเปิดร้านรูปแบบ Hybrid ที่เดิมวางแผนไว้ใน 2Q25 ออกไปเป็น 3Q25 เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและตลาดอสังหาฯ
ในส่วนผลกระทบหากลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ โดยจากข้อมูล HMPRO นำเข้าจากสหรัฐฯ ไม่ถึง 0.01% ทำให้แม้ไทยจะมีการลดภาษีนำเข้า ก็จะไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนหรือกลยุทธ์การจัดซื้อของ HMPRO เพราะกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกมานั้นซ้ำซ้อนกับสินค้าของ HMPRO น้อยมาก
Fundamental view: เรายังแนะนำ wait-and-see แม้ PER เหลือราว 14.5 เท่า แต่โดยเปรียบเทียบก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังของกลุ่มฯ ที่ 11.5 เท่า และแนวโน้มกำไรที่ยังหดตัวต่อเนื่อง จึงยังไม่น่าสนใจ
สรุปประเด็นจาก Quick take
Transport
ครม.เห็นชอบค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย โดยจะเริ่มโครงการในวันที่ 1 ต.ค. 2025 ครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินในกรุงเทพฯและปริมณฑล (รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีแดง, และสายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์)
View from fundamental: เรามีมุมมองเชิงบวกต่อข่าวดังกล่าว เนื่องจากน่าจะส่งผลบวกต่อประมาณการกำไรและเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้น BEM และ BTS โดยมี BEM (ซื้อ, ราคาเป้าหมาย 7.30 บาท) เป็น prefered pick
วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน