Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่งออกน้ำมันรำข้าวไทยปี 2568 มูลค่าโตพุ่ง 12.8% สูงสุดในรอบ 3 ปี

90

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 กรกฎาคม 2568)-----------• น้ำมันรำข้าว ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย และจะเป็นหนึ่งในทางรอดของข้าวไทยได้อย่างยั่งยืน จากแรงกระตุ้นสำคัญที่น้ำมันรำข้าวมีราคาสูงและผันผวนน้อยกว่าราคาข้าว สร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวได้ 3.3 เท่า และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่โดดเด่นกว่าน้ำมันพืชอื่น


• ในปี 2568 มูลค่าส่งออกน้ำมันรำข้าวไทย คาดว่าจะโต 12.8% ไปอยู่ที่ 73.3 ล้านดอลลาร์ฯ มาจากทั้งปริมาณโต 8.8% และราคาโต 3.6%


• แรงหนุนมาจากตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นที่โตสูงกว่า 19.1% ตามการเติบโตของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ในเกาหลีใต้อาจหดตัว 0.4% จากแรงกดดันของอุปทานน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้น

น้ำมันรำข้าว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่สร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยยกระดับข้าวไทยสู่ความยั่งยืน

น้ำมันรำข้าวไทยช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย และจะเป็นหนึ่งในทางรอดได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางผลผลิตข้าวไทยที่ล้นตลาด โดยแรงกระตุ้นสำคัญในการมุ่งไปสู่น้ำมันรำข้าว มีดังนี้

 ราคาน้ำมันรำข้าวสูงกว่าราคาข้าวเฉลี่ย 1.3 ดอลลาร์ฯต่อกก. โดยในช่วงปี 2565-2567 ราคาส่งออกน้ำมันรำข้าวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.9 ดอลลาร์ฯต่อกก. ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทยที่เป็นสินค้าขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 0.6 ดอลลาร์ฯต่อกก.
 ราคาน้ำมันรำข้าวผันผวนน้อยกว่าราคาข้าว สะท้อนจากในช่วงที่มีปัจจัยสำคัญมากระทบตลาด เช่น สภาพอากาศแปรปรวน นโยบายการค้าของผู้เล่นหลัก เป็นต้น พบว่าราคาน้ำมันรำข้าวจะเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงไม่แรงมากนักเมื่อเทียบกับราคาข้าวที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่มีราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลกเป็นหลัก (รูปที่ 1) อีกทั้งส่วนหนึ่งมาจากน้ำมันรำข้าวมีตลาดเฉพาะกลุ่มและมีการผลิตที่จำกัดกว่าสินค้าข้าวที่เป็นตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก (Mass Market)

 

 น้ำมันรำข้าวสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวราว 3.3 เท่า สูงกว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอื่น เช่น แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวได้เพียง 1.4-1.8 เท่า เป็นต้น (รูปที่ 2)

 

 น้ำมันรำข้าวมีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีคุณสมบัติในการปรุงอาหารที่โดดเด่นกว่าน้ำมันพืชอื่น ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเป็นมิตรต่อหัวใจ ทั้งในแง่ของปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวที่ไม่สูง มีจุดเกิดควันสูง มีวิตามินอีสูง มีแกมมา-โอรีซานอลที่พบได้เฉพาะในน้ำมันรำข้าวเท่านั้น รวมไปถึงราคาจำหน่ายของน้ำมันรำข้าวที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชอื่น ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ไม่ยาก (รูปที่ 3)

ส่งออกน้ำมันรำข้าวไทยปี 2568 มูลค่าพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

ในปี 2568 มูลค่าส่งออกน้ำมันรำข้าวไทย คาดว่าจะโต 12.8% ไปอยู่ที่ 73.3 ล้านดอลลาร์ฯ (รูปที่ 4) โดยเป็นผลมาจากทั้งปริมาณโต 8.8% และราคาโต 3.6%

 

แรงหนุนมาจากตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นที่เติบโตดี ขณะที่ในเกาหลีใต้อาจเผชิญความท้าทายให้หดตัวเล็กน้อย

ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกน้ำมันรำข้าวศักยภาพของไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่เกาหลีใต้มีสัดส่วนการส่งออกลดลง โดยในช่วงปี 2565-2567 มูลค่าส่งออกน้ำมันรำข้าวไทยไปญี่ปุ่นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปเฉลี่ยที่ 24% หรือมากกว่า 2.7 เท่าเทียบกับช่วงปี 2562-2564 ขณะที่ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ในช่วงปี 2565-2567 มีสัดส่วนลดลงไปเฉลี่ยที่ 27% จาก 31% ในช่วงปี 2562-2564 (รูปที่ 5)

 

ในปี 2568 มูลค่าส่งออกน้ำมันรำข้าวไทยไปญี่ปุ่น คาดว่าจะโต 19.1% ขณะที่ส่งออกไปเกาหลีใต้ คาดว่ามูลค่าจะหดตัว 0.4% ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีการนำเข้าน้ำมันรำข้าวเพื่อใช้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 ญี่ปุ่น เป็นตลาดศักยภาพ โดยญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเป็นหลักกว่า 64.8%ตามด้วยเวียดนาม 34.6% และแม้ราคาของไทยจะสูงกว่าเวียดนามเฉลี่ยราว 0.3 ดอลลาร์ฯต่อกก. แต่ด้วยคุณภาพที่ดีและปริมาณส่งมอบที่มีเพียงพอ ทำให้น้ำมันรำข้าวไทยสามารถครองใจผู้บริโภคญี่ปุ่นได้

ทั้งนี้ ความต้องการบริโภคน้ำมันรำข้าวของญี่ปุ่น มาจากผู้บริโภคกว่า 39% เลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพเฉพาะ ของญี่ปุ่น คาดว่าจะโตเฉลี่ย 5.9% ต่อปีในช่วงปี 2568-2576 ไปอยู่ที่ 24,500 ล้านดอลลาร์ฯในปี 2576 ตามความตระหนักด้านสุขภาพที่ดีและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

 เกาหลีใต้ เป็นตลาดที่ท้าทาย แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของไทย และเกาหลีใต้เองก็นำเข้าจากไทยเป็นหลักกว่า 94% จากราคาของไทยที่ถูกกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามราว 0.1 ดอลลาร์ฯต่อกก. แต่ด้วยความนิยมบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มเป็นหลักกว่า 78% ซึ่งคาดว่าในปี 2568 เกาหลีใต้จะมีอุปทานน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มเพิ่มกว่า 4.5% จะกดดันความต้องการบริโภคพืชน้ำมันอื่น รวมถึงการบริโภคน้ำมันรำข้าวไทยที่จะส่งออกไปให้ได้รับผลกระทบในเชิงลบด้วย

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้