Today’s NEWS FEED

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในเว็บไซต์สำหรับทดสอบระบบ

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

88

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม

ภาวะการลงทุนในสัปดาห์ก่อน
ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้น 1.2% โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมีน้ำหนักมากที่สุดในดัชนีตลาดหุ้นโลก ได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ ที่สอง
ในด้านตลาดตราสารหนี้ ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 7–10 ปีปรับตัวลง 0.7% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ฟื้นตัว 2.3% หลังจากปรับตัวลงแรงในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนราคาทองคำรีบาวด์ 1.9% ในทิศทางเดียวกัน
ดัชนี SET ปรับตัวขึ้น 3.5% ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองจากภาวะ technical oversold โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 20 เซกเตอร์ต่างปรับตัวเป็นบวก นำโดยหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่พุ่งขึ้น 13.3% ตามด้วยอสังหาริมทรัพย์ 6.3% และค้าปลีก 4.2%

ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรจับตาในระยะสั้น
1 สัปดาห์นี้ถือเป็นช่วงสำคัญในการทดสอบว่าบรรยากาศ risk-on ในตลาดหุ้นโลกจะสามารถยืนระยะต่อไปได้หรือไม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งเตรียมประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าต่อประเทศคู่ค้าหลายราย โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ หลังจากที่มาตรการผ่อนปรนภาษีชุดเดิมมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม ส่งผลให้ตลาดต้องจับตาใกล้ชิดต่อทิศทางนโยบายการค้าและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
2 รัฐบาลไทยเผยการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ เราประเมินถึงสาเหตุของความล่าช้า รวมถึงความเป็นไปได้ที่ไทยอาจไม่บรรลุอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราที่ต่ำกว่าเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยหลักดังนี้
2.1 ประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และบทบาทในห่วงโซ่อุปทาน

เวียดนาม ถูกสหรัฐฯ มองเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์ใหม่ หลังสงครามการค้า-เทคโนโลยีกับจีน สหรัฐฯ ต้องการให้เวียดนามเป็น hub การกระจายความเสี่ยงออกจากจีน และพร้อมเจรจาต่อรองให้จบเร็ว เพื่อใช้เป็นต้นแบบของการเจรจากับประเทศอื่น

ไทย ถูกมองว่าอยู่ตรงกลางมากกว่า ไม่เลือกข้างชัด ไม่ใช่ key partner ในเกมถ่วงดุลจีน-สหรัฐฯ เท่าเวียดนาม
2.2 โครงสร้างสินค้าส่งออกและกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)

ไทยมีสัดส่วนสินค้ากึ่งสำเร็จรูปหรือ supply chain ที่มี Asian content สูง ซึ่งตรวจสอบแหล่งกำเนิดจริงยาก และอาจถูกสหรัฐฯ มองว่าอ้อมภาษีจีน ผลทำให้สหรัฐฯ กดดันไทยให้เข้มงวดเรื่อง Rules of Origin และมี leverage ขู่ขึ้นภาษี ถ้าไทยไม่เข้มงวดในการตรวจสอบเรื่องนี้
2.3 ประวัติศาสตร์การเมืองการค้าระหว่างประเทศ

เวียดนามผ่านการต่อรอง FTA, CPTPP, EVFTA และข้อตกลงกับประเทศต่างๆมามาก โดยสามารถปิดได้ 6 ดีล นับตั้งแต่ปี 2019 เทียบกับไทยที่มีเพียง 2 ดีล ทำให้ทีมเจรจามีประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว
2.4 ข้อจำกัดจากโครงสร้างภายในของไทย

ระบบราชการและกระบวนการตัดสินใจของไทยซับซ้อน มีหลายกระทรวง หลายกลุ่มผลประโยชน์ การปรับโครงสร้างเพื่อยอมรับเงื่อนไขสหรัฐฯ ทำได้ช้ากว่าเวียดนามที่รัฐบาลรวมศูนย์ตัดสินใจได้เร็ว

อุตสาหกรรมหลักของไทย เช่น ยานยนต์ มีขนาดใหญ่กว่าของเวียดนาม และรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการรักษาระดับการปกป้องตลาด ส่งผลให้การยอมเปิดหรือปรับตามข้อเสนอใหม่ ๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
Bottom Line: แนวโน้มที่ไทยจะได้เงื่อนไขทางภาษีที่เหนือกว่าเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญยังคงจำกัด และเสี่ยงต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในการเจรจารอบถัดไป

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม
วันพุธ: CN Inflation ตลาดคาดอัตราเงินเฟ้อจีนเดือนมิถุนายนจะทรงตัวที่ 0% YoY ฟื้นตัวจาก -0.1% YoY ในเดือนก่อนหน้า

แนวโน้มราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในสัปดาห์นี้

แม้ดัชนี S&P500 จะปิดที่ระดับสูงสุดใหม่ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ปรากฏสัญญาณเชิงลบจากเครื่องมือวัดจังหวะตลาด (market-timing indicators) เช่น 1) ดัชนี Momentum-Tracking ไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ตามกับดัชนีหลัก สะท้อนแรงส่งของตลาดที่เริ่มอ่อนแรง และ 2) ค่าเฉลี่ย 5 วันทำการของ Put/Call Ratio ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.61 เท่า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเข้าสู่วัฏจักรการปรับฐาน สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ดัชนี S&P 500 อาจเผชิญความผันผวนสูงขึ้น จากการที่มาตรการขยายเวลาการขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันอีกครั้งจากความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจกลับมาเร่งตัวขึ้นในอนาคตจากนโยบายภาษีนำเข้าของรัฐบาลทรัมป์ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาค่า 5Y5Y Forward Inflation Expectation Rate ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดสำคัญที่สะท้อนระดับความเชื่อมั่นของตลาดต่อศักยภาพของ Fed ในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายระยะยาว หากตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลโดยตรงให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Long-end Yields) ปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าผลตอบแทนระยะสั้น (Bear Steepening) ซึ่งเป็นสัญญาณว่าตลาดเริ่มสะท้อนความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจ


ดังนั้น ในสัปดาห์นี้แนะนำให้นักลงทุนติดตามการเคลื่อนไหวของ 5Y5Y Forward Inflation Expectation Rate อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดหลักต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวและแนวโน้มของตลาดการเงินโดยรวม

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำดีดตัวขึ้นหลังจากย่อตัวลงไปทดสอบบริเวณ 3,250 ดอลลาร์สหรัฐ โดยสัญญาณ Momentum Tracker เริ่มคลายตัวจากภาวะ super stretch ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน แม้ว่าราคาทองคำอาจยังเผชิญความผันผวนในระยะสั้น แต่เรายังประเมินว่าทิศทางโดยรวมยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นระยะกลาง หนุนโดยแรงซื้อสุทธิจากธนาคารกลางหลายประเทศที่ยังคงเดินหน้าเพิ่มน้ำหนักการถือครองทองคำ ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียด โดยเฉพาะจีนซึ่งมีแนวโน้มสะสมทองคำต่อเนื่อง เพื่อกระจายความเสี่ยงผ่านสินทรัพย์ทางเลือกดังกล่าว


ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มกลับมาเผชิญกับแรงกดดันในสัปดาห์นี้ แม้ว่า future curve จะกลับสู่ภาวะ backwardation ทั้งเส้น แต่การที่ OPEC+ เพิ่งประกาศเพิ่มกำลังการผลิตสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ อาจส่งผลเชิงลบต่อทิศทางราคา โดยในการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศหลัก 8 ชาติ นำโดยซาอุดีอาระเบีย เห็นชอบเพิ่มกำลังผลิตอีก 548,000 บาร์เรลต่อวัน สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้เดิมที่ราว 411,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้แผนทยอยคืนกำลังผลิตที่เคยลดลงไป 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เร็วขึ้นเกือบหนึ่งปีจากกำหนดเดิม

การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตที่เหนือความคาดหมายนี้ อาจสร้างแรงกดดันจากอุปทานส่วนเกินในช่วงถัดไป ท่ามกลางอุปสงค์น้ำมันโลกที่เริ่มชะลอตัว อย่างไร ก็ตาม ตลาดน้ำมันยังมี upside risk จากความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยในช่วงหลายเดือนก่อน การปรับเพิ่มกำลังการผลิตของ OPEC+ ตามมาด้วยความตึงเครียดของอิสราเอลและอิหร่านที่ยกระดับขึ้น ทำให้การประเมินทิศทางราคาน้ำมันในระยะสั้นจึงยากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนตัวกำลังสวนทางกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจก่อให้เกิด war premium ที่สูงขึ้น หากสถานการณ์ในภูมิภาคยกระดับความรุนแรงขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

ในสัปดาห์นี้ เราแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังต่อความผันผวนของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น จากปัจจัยความไม่แน่นอนของผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน โดยแนวโน้มที่ไทยจะได้รับอัตราภาษีนำเข้าที่ระดับ 10% ก็มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่ากับหรือสูงกว่า 20% กลับเพิ่มสูงขึ้น หลังท่าทีของสหรัฐฯ ต่อเวียดนามล่าสุด ได้สะท้อนจุดยืนอันแข็งกร้าวที่อาจถูกนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานกับคู่ค้าอื่นในภูมิภาค
Quant Focus List สัปดาห์นี้: Commerce: COM7, CPALL, CPAXT, MOSHI, Utility: GULF

สรุปภาพตลาดวานนี้
ศุกร์ที่แล้วหุ้นพักเบาๆ หลังขึ้นมาหลายวัน โดยเป็นการขาย AOT TRUE ADVANC PTT PTTEP DELTA CPN SCB CPALL MINT HMPRO (กระจายหลายกลุ่ม) แต่พบว่ากลุ่ม Domestic ยังบวกดี เช่น COM7 CRC WHA GULF SIRI KBANK เป็นต้น

แนวโน้มตลาดวันนี้
อัตราภาษีตอบโต้ กระทบหุ้นไทยแค่ไหน
หุ้นไทยสัปดาห์ที่แล้วเดินหน้าบวกได้ดีตามคาด ทะลุผ่าน 1,120 จุด ก่อนจะเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรหลังจากพ้นต้านแรก กอปรกับเป็นช่วงสุดสัปดาห์หัวเลี้ยวหัวต่อ เรื่องอัตราภาษีตอบโต้ ซึ่ง ปธน.ทรัมป์ กล่าวว่าจะเริ่มส่ง จม.แจ้งอัตราภาษีใหม่ให้แก่นานาประเทศ ทันก่อนเส้นตาย 9 ก.ค. โดยไม่ขยายเวลาให้อีกแล้ว กลายเป็นความกังวลใหม่กดดันภาพรวมลงทุนหุ้นไทย ซึ่งยังไม่สามารถบรรลุผลเจรจาการค้า ในครั้งล่าสุด

คาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มแกว่งในกรอบ 1,100-1,150จุด แม้จะมีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามาบ้าง จากความเสี่ยงไทยยังไม่บรรลุข้อตกลงเจรจาการค้า กับสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าหุ้นไทย “รายตัว” จะไม่ลงลึกไปกว่าช่วงปลายเดือนที่แล้ว เพียงเพราะ ปัจจัยกดดันต่างประเทศ
ดังนั้นเราจึงเริ่ม กลับมาเพิ่มหุ้นเข้าพอร์ตอีกครั้ง เช่น CPN CBG และประเมินภาพรวมการลงทุนรอบนี้ มีโอกาสกลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไปตามที่เราประเมินในกรอบระยะสัปดาห์ ขณะที่หุ้นรายตัวก็เริ่มเห็น BLS Research ปรับเพิ่มกำไรและคำแนะนำ ตามทิศทางกำไรที่ดีขึ้นกว่าที่คาด เช่น ITC TU
กลยุทธ์แนะนำให้ติดตาม “Earnings revision” หรือแนวโน้มของการปรับประมาณการณ์กำไร และการปรับเพิ่มคำแนะนำ หุ้นรายตัวจากนี้ไป เพราะจะเป็นปัจจัยหลัก ที่มีอิทธิพลต่อราคาหุ้น มากกว่าปัจจัยมหภาค ที่เป็นภาพ Top down ลงมา โดยหุ้นเด่นที่เราเริ่มเห็น แววงบดีขึ้น ได้แก่ ส่งออกอาหาร, พื้นที่เช่าในห้าง, เครื่องดื่ม, รพ. และ หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์

ส่วนกลุ่มที่เราอัพเดทตัวแปรแล้ว ยังไม่เห็นแนวโน้มทีดี ได้แก่ ค้าปลีก ค้าวัสดุ (SSSG ยังไม่ฟื้น), ธนาคาร, สินเชื่อ, อสังหาฯ จากสัปดาห์นี้ไป โปรดติดตามหุ้น Earnings revision อย่างใกล้ชิด

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ ถือหุ้นปันผล เริ่มสะสมหุ้นต้นรอบ ดักงบการเงินไตรมาส 2 และปันผลระหว่างกาล

วิเคราะห์ทางเทคนิค
นับตั้งแต่ SET ฟื้นขึ้นจาก low ที่ 1,053 จุด เกิดเป็นภาพยก low ยก high ล่าสุดทะลุเส้น EMA 25 วัน…..สำเร็จ! อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสัปดาห์นี้อาจมีสัญญาณพักตัว ปรับฐานสั้นๆ ลงไม่ลึก “Impulse wave 4 ย่อย” ภายหลังจากขึ้นต่อเนื่อง week ที่แล้วนับเป็น wave 3 ย่อย (+2.7%) ขณะที่ RSI ชน 50 พอดี…เริ่มชะลอตัว โดยเงื่อนไขการปรับฐาน หากจะยังคงรักษาโมเมนตัมขาขึ้น ดัชนีไม่ควรหลุดโซนรับบริเวณ 1,100 จุด เพื่อกลับมาฟื้นเด้งต่อ…นับเป็น Wave 5 ที่ 1,155 จุด!
สรุป: SET ย่อได้….แต่ม่ยอมให้ย่อลึก!
Note: ประเด็นเรื่อง Trade deal: US-Thai แบ่งเป็น 2 เงื่อนไขหลักคือ
A เจรจาไม่สำเร็จ:
- เราโดน Reciprocal tariff 36%: SET ลง 1,050-1,060 จุด (Worst case)
B.เจรจาสำเร็จ:
- ดีกว่าเวียดนาม ภาษี < 20 มอง SET ขึ้น 1,140-1,150 จุด (Best case)
- เท่ากับเวียดนาม ภาษี = 20 คาด SET ย่อนิดๆ 1,100 จุด (Base case)
- แย่กว่าเวียดนาม ภาษี > 20 SET มีโอกาสลงมาที่ 1,080 จุด (Option case)

 


What to watch
บอร์ดกสทช. 5 เสียงรับรองผลประมูลคลื่นความถี่
รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเตรียมออกกฎใหม่เพื่อควบคุมการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปยังไทยและมาเลเซีย เนื่องจากมีความกังวลว่าจีนอาจใช้ทั้งสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เป็นเส้นทางอ้อมเพื่อนำเข้าชิปต้องห้าม ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้สั่งห้ามขายชิป AI ขั้นสูงของอินวิเดีย (Nvidia) โดยตรงให้กับจีนอยู่แล้ว
ร่างข้อบังคับใหม่นี้ยังไม่แล้วเสร็จ และแหล่งข่าวระบุว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะขยายข้อจำกัดไปยังประเทศอื่นเพิ่มเติมจากไทยและมาเลเซียหรือไม่

หุ้นแนะนำวันนี้
CBG อิงตามรายงานพื้นฐาน BLS Research ที่ปรับคำแนะนำขึ้น ก่อนหน้านี้ ขณะที่ประเด็นการค้าชายแดน มีแต่จะบวกมากหรือบวกน้อย (Low Downside risk)
แนวรับ 50 ต้าน 54 Stop loss 49

รายงานพื้นฐานวันนี้

Strategy Snippet
US Tariffs Playbook - หุ้นไทย vs คู่แข่งใน ASEAN ... ใครได้/เสียประโยชน์จากภาษีทรัมป์? กระทบ SET แค่ไหน?
ประเมินผลกระทบทางตรงจำกัด สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 0.9% ของรายได้รวมของ SET (สำหรับ BLS coverage) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มส่งออกอาหาร (TU ราว 39% ของรายได้ส่งออกไปสหรัฐฯ)/อาหารเลี้ยงสัตว์ (ITC ราว 50%) กลุ่มส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ (DELTA ราว 25%, KCE ราว 23%, HANA ราว 25%) และกลุ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง (STA ราว 15%)/ถุงมือยาง (STGT ราว 68%)
โดยจะกระทบมากกว่าสำหรับ 1) กลุ่มที่มีภาษีนำเข้าสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และ 2) มีสินค้าที่คุณภาพใกล้เคียงกัน/ทดแทนกันได้ ลูกค้ามี Switching cost ต่ำ และเรามอง 3 ฉากทัศน์ กรณีไทย vs เวียดนาม
Scenario 1: หากไทยโดนเก็บที่ 18% ใกล้เคียงเวียดนามที่ 20% (Base case)
(0/+) ประเมินผลกระทบจำกัด คาดส่วนต่างภาษีระดับน้อยกว่า 5% อาจเป็นบวกเล็กน้อยต่อ CCET
หากรวมผลกระทบทางอ้อมจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเมิน GDP growth ปี 2025 อยู่ที่ 1.4%, SET EPS อยู่ที่ 82, SET target สิ้นปี 2025 อยู่ที่ 1280
Scenario 2: หากไทยโดนเก็บภาษีที่ 10% ต่ำกว่าเวียดนามที่ 20% (Best case)
(+) ประเมินผลกระทบเชิงบวกชัดเจนขึ้น บวกต่อ CCET และ KCE ด้วย รวมทั้งอาจเป็นผลบวกต่อกลุ่มนิคมฯ หากไทยไม่โดนภาษีทางผ่าน (Transshipment) เหมือนเวียดนาม
ประเมิน GDP growth ปี 2025 อยู่ที่ 1.8%, SET EPS อยู่ที่ 87, SET target อยู่ที่ 1360
Scenario 3: หากไทยโดนเก็บภาษีที่ 36% สูงกว่าเวียดนามที่ 20% (Worst case)
(-) ประเมินผลกระทบเชิงลบชัดเจน เสี่ยงเสียยอดสั่งซื้อไปให้คู่แข่งที่เวียดนาม ลบต่อ CCET KCE และกลุ่มนิคมฯ
ประเมิน GDP growth ปี 2025 อยู่ที่ 0.9%, SET EPS อยู่ที่ 73, SET target อยู่ที่ 980 (PER -1.25SD, ราว 13.4x) ซึ่งเรามองว่า หากถึงบริเวณมใกล้เคียงนั้นเป็นจังหวะในการทยอยสะสม
นอกจากนี้ การวิเคราะห์แบบ Data-driven selection เน้น Bottom up ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ Dividend play กลุ่มธนาคาร (อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง + สูงต่อเนื่อง), Earnings play กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง (ต้นทุนวัตถุดิบลดลง ทั้งน้ำตาล/เศษแก้ว หนุนมาร์จิ้นไตรมาส 2-3), Global play กลุ่มปิโตรฯ ทยอยสะสมช่วงไตรมาส 3 ก่อนฟื้นรอบใหม่ในไตรมาส 4 (Valuations ถูกใกล้เคียงกับวิกฤต คาดฟื้นตามเศรษฐกิจโลกช่วงปลายปี)
ส่วนการเปรียบเทียบกับคู่แข่งอื่นใน ASEAN ติดตามในรายงานวันนี้

 

 


Electronic Sector
ถูกกดดันต่อ
สัปดาห์ที่แล้วหุ้นในกลุ่มฟื้นตัวขึ้นมาค่อนข้างดี จากทั้งประเด็นความคาดหวังด้านภาษีที่ระดับต่ำกว่าเวียดนาม และการปลดล๊อคยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกซอฟต์แวร์ออกแบบชิปไปยังประเทศจีนของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามคาดประเด็นดังกล่าวจะกลับมากดดันอีกครั้งจากทั้งการเจรจาภาษีของไทยที่ยังไม่คืบหน้า และแผนการจำกัดการส่งออกชิป AI ไปมาเลเซียและไทย

ในด้านของกลุ่มสินค้าปลายทางบางส่วนเห็นทิศทางการสั่งซื้อที่ดีในช่วง 1Q25-มิ.ย. ทั้งยอดขายยานยนต์ในยุโรป และ US รวมถึง PC อย่างไรก็ตาม คาดเป็นอานิสงส์ของการซื้อก่อนเนื่องจากกลัวราคาจะมีการปรับขึ้นจากผลของภาษี

ฝั่งของยอดขาย Semiconductor เดือน เม.ย. เติบโตดีเช่นกันซึ่งบางส่วนน่าจะมาจากการสั่งซื้อล่วงหน้า เราประเมินหลายๆบริษัทจะเห็นการฟื้นตัวของกำไรได้ใน 2Q25 และอาจจะมีอานิสงส์บางส่วนเข้าไปใน 3Q25 อย่างไรก็ตามคาดจะเห็นการอ่อนตัวของคำสั่งซื้อลง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าปลายทางที่ไม่ได้แข็งแรง
Fundamental View: เราประเมินหุ้นในกลุ่มจะกลับมาถูกกดดันระยะสั้น แต่จะเห็นการรีบาวด์ได้เป็นรอบๆ ตามความคืบหน้าของมาตรการภาษี และจะมีแรงเก็งกำไรธีมฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดเข้ามาเป็นรอบๆ แต่การฟื้นตัวของอุปสงค์ที่แท้จริงคาดจะเห็นในช่วงกลางปีหน้า

Technology Sector
ผลกระทบ 5 กลุ่มหลัก หากทรัมป์จำกัดการส่งออกชิป AI
1) กลุ่มนำเข้า GPU และบริการเกี่ยวเนื่อง: คาดกระทบตรงอย่าง Siam AI ซึ่งเป็น NVIDIA Cloud Partner (NPC) ประเทศไทย
2) กลุ่ม Data center และโรงไฟฟ้า: อาจจะกระทบแผนการลงทุน และแผนการเช่า Co-location แต่ในประเทศไทยคาด Data center ส่วนใหญ่ยังเป็น CPU ไม่ใช่ GPU สำหรับ AI อาจจะกระทบจำกัด อีกทั้ง US อาจจะมีข้อยกเว้นบางอย่างให้กับบริษัทที่มี HQ อยู่ใน US และ Friendly nations ได้ชั่วคราว อาจจะไม่กระทบกับแผนของ Hyperscalers อย่างไรก็ตาม แผนระยะยาวอาจจะกระทบการพัฒนา AI Cluster ในประเทศไทยและเสียโอกาสเม็ดเงินการลงทุนด้านนี้ และส่งผลถึงอุปสงค์ของโรงไฟฟ้าบางส่วนในระยะยาว
3) กลุ่ม Electronics: คาดกระทบจำกัดโดย HANA, CCET, KCE ไม่ได้มีสินค้าเกี่ยวเนื่องกับ AI อยู่แล้ว ในด้านของ DELTA ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการขายสินค้ากลุ่ม Power management ในภูมิภาคอยู่แล้ว แต่ขายใน Global scale การจำกัดในภูมิภาคจึงคาดไม่กระทบ แต่อาจจะกระทบทางอ้อมในด้านของ Supply chain เนื่องจากมาเซียเป็นฐานสำคัญในการทำ Packaging/Testing อย่างไรก็ตามจากที่กล่าวก่อนหน้า US อาจมีข้อยกเว้น เพื่อลดผลกระทบความเสี่ยงด้าน Supply chain shock
4) กลุ่มที่พัฒนา AI ของตัวเองในประเทศ: อาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องใช้ช่องทางอ้อม หรือย้ายไปใช้บริการที่อื่น
5) กลุ่ม Bitcoin mining และขายสินค้าไอที: คาดได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากไม่ได้ใช้ AI-specific GPU โดยตรง แต่หากมาตรการขยายความครอบคลุมไปถึง GPU ประสิทธิภาพสูงทั่วไป อาจทำให้ต้นทุนและความยากในการจัดหา hardware เพิ่มขึ้น

 


PTTEP
ปตท.สำรวจและ ผลิตปิโตรเลียม

หุ้นปลอดภัยจากประเด็นภาษีสหรัฐ
เราคาดกำไรหลัก 2Q25 อยู่ที่ 13,488 ล้านบาท (-45% YoY, -19% QoQ) จากราคาขายเฉลี่ย (ASP) ลดลงเหลือ 43.5$/boe (-7% YoY, -5% QoQ) และต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มเป็น 30.5$/boe (+YoY) แม้ปริมาณขายเพิ่มเล็กน้อย QoQ เป็น 503k boe/d ส่วนกำไรสุทธิคาดอยู่ที่ 12,457 ล้านบาท (-48% YoY, -25% QoQ) จากผลขาดทุนทางบัญชีอื่นๆ


แนวโน้ม 3Q25 กำไรฟื้น QoQ ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น คาดปริมาณขายเพิ่มเป็น 516k boe/d (+9% YoY, +3% QoQ) และต้นทุนลดลงเป็น 30.0$/boe (ลดทั้ง YoY และ QoQ) ชดเชย ASP อาจลดลง YoY
เราปรับเพิ่มกำไรปี 2025 ขึ้น 7% เป็น 63,315 ล้านบาท โดยปรับเพิ่มราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยขึ้น 5% เป็น 69$/bbl และก็ได้ปรับต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยขึ้น 3% ด้วย เป็น 30$/boe

Fundamental view: คงคำแนะนำ “ถือ” และปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 118 บาท (จากเดิม 109 บาท) มอง PTTEP ยังเป็นหุ้นหลบภัยที่ดีในช่วงความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

 


วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้